ถูกโจมตีในแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์มาจนสะบักสะบอม แต่ด้วยวัยวุฒิ กับคุณวุฒิที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลากฤดูกาล เรื่องถูกโจมตีจึงกลายเป็นเรื่องจิ๊บๆ ย่ิงถ้าเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องถูกต้องล่ะก็...เท่าไหร่เท่ากัน!
สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ุ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาผู้มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่า ความถูกต้อง ยังไงก็ต้องอยู่เหนือความถูกใจ
แต่เหตุที่ต้องเลื่อนการเสนอชื่อผู้มีความเหมาะสม หนึ่งในสามแคนดิเดต ขึ้นเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มาเป็นวันนี้(11พ.ย.) แทน ก็เพราะอยากจะลดความร้อนรุ่มในใจคนลง...ทำให้ใจร่มๆ สักนิด เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงว่า
1. ประธานบอร์ด ไม่สามารถกำหนดนโยบาย หรือแทรกแซงกลไกลการทำงานของแบงก์ชาติ หรือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เพื่อกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ย หรือ ปรับเปลี่ยนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ(Inflation targeting)ได้
2. ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่มีอำนาจในการปลด หรือ แต่งตั้งใครมาทำหน้าที่แทนผู้ว่าฯแบงก์ชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ปัจจุบันได้
3. การจะปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้ ต้องมีเหตุผล และคนมีอำนาจที่แท้จริง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา “ทั้งหมดที่โจมตีกันมาเนี่ย ล้วนแต่เป็นเรื่องที่มโนกันไปเอง ไม่มีเหตุผลใดๆ รองรับ”
และการจะเสนอปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้ รมว.คลังต้องมีเหตุผลที่ดีพอมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า 1. ผู้ว่าฯแบงก์ชาติมีความบกพร่องในหน้าที่ ตามมาตรา 7 แห่งพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และหรือ 2. ทุจริตประพฤติมิชอบ
“เรื่องที่มีคนแบงก์ชาติ กับนักวิชาการลงชื่อกันคัดค้านบุคคลที่รัฐบาลเสนอเข้าไปเป็นแคนดิเดตประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ด้วยเหตุผลที่ล้วนแล้วแต่มโนกันไปเอง จึงมีอันตกไปนะ”...คุณสถิตย์ ย้ำ
...
ว่ากันตามจริง รัฐบาลชุดก่อนของอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน กับชุดของนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรถึงขั้นจะปลด ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ออกจากตำแหน่ง เพราะทุกคนต่างก็รู้กันดีว่า ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้
ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ว่า ต้องขอความร่วมมือช่วยกันในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ขอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นไป 4 ปีแล้วลงเสียหน่อย ขอให้ลดแรงขึงจนตึงของเงินเฟ้อที่แม้ราคาสินค้าไม่เพิ่มขึ้น แต่ผู้คนก็ยังไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย
หรือขอให้ช่วยผู้คนที่อยู่ในสภาพชักหน้าไม่ถึงหลังรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว...มีโอกาสยิ้มได้บ้าง ก็คงไม่มีใครไปกล้าไปตอแยด้วย
แม้ว่าล่าสุดแบงก์ชาติ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% และยอมรับว่า จะเข้ามาช่วยรัฐบาลดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศให้จริงจังกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมกับยอมรับว่า จะหาวิธีขยับกรอบเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ไม่ขึงตึงจนผู้คนส่วนใหญ่ได้รับความลำบากยากเข็ญ บ้าน และรถยนต์ ถูกแบงก์ และไฟแนนซ์ยึดมากมาย
แต่ก็ดูจะยังไม่เพียงพอที่การทำงานร่วมกันอย่างผิวเผินจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศที่มีอยู่มากมายหลายเรื่องให้หมดไปได้
กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง แคนดิเคตคนสำคัญในการชิงเก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ยืนยันว่าเขาตั้งใจจะเข้าไปสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง รัฐบาลกับแบงก์ชาติ ไม่ใช่เข้าไปสร้างปัญหา
“เรื่องที่ผู้ว่าฯแบงก์ชาติพูดถึงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพเติบโตได้ เป็นสิ่งที่ผมอยากช่วยผลักดัน โดยเฉพาะเรื่องของภาคเกษตรกรรม นั่นแปลว่า รัฐบาลต้องร่วมมือด้วย เอาจริงๆ รัฐบาลก็มีเรื่องที่ต้องแก้ไขหลายด้านเหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม แม้ กิตติรัตน์ ดูจะมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด และมีแต้มต่อที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายมากกว่า 15,000 คนที่เข้ามาร่วมกันลงชื่อให้การสนับสนุน เพื่อต้านกลุ่มคนจำพวกที่ถูกเรียกว่า “คลั่งชาติ” หรือ เกลียดอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ในแบบไม่ลืมหูลืมตา และไม่สนใจว่า ประเทศไทย ยังมีปัญหาใหญ่ๆ อีกหลายเรื่องมากมายที่รอการแก้ไขอยู่ กลุ่มคนเหล่านี้ พยายามออกมาขวางไม่ให้กิตติรัตน์ เข้าไปนั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติให้จงได้
แต่คำตัดสินชี้ขาดว่า กิตติรัตน์ จะเข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ กรรมการบอร์ดแบงก์ชาติ 7 คน ว่า เขาจะลงคะแนนให้ใคร?!