หนี้ครัวเรือนสูง-หันมาเช่าแทนซื้อ พ่นพิษ ยอด “รถยนต์ใหม่” ป้ายแดง ทั่วประเทศ หดตัวเกือบ 24%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หนี้ครัวเรือนสูง-หันมาเช่าแทนซื้อ พ่นพิษ ยอด “รถยนต์ใหม่” ป้ายแดง ทั่วประเทศ หดตัวเกือบ 24%

Date Time: 22 ต.ค. 2567 15:11 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • หนี้ครัวเรือนสูง กู้สินเชื่อไม่ผ่าน และ คนไทยหันมา"เช่า" แทนซื้อ พ่นพิษ ยอด “รถยนต์ใหม่” ป้ายแดงทั่วประเทศ 8 เดือนแรกปี 2567 หดตัวเกือบ 24% ขณะค่ายจีน BYD หนึ่งเดียวใน 15 แบรนด์หลัก ที่โตสวนตลาด ที่ 41%

วิจัยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ออกรายงานฉบับล่าสุด ระบุว่าปี 2567 เป็นอีกปีที่ธุรกิจจำหน่าย “รถยนต์” ในประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ จากการที่เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง และการเปลี่ยนไปของจำนวนประชากร

การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมา “เช่ารถ” แทนการซื้อ ประกอบกับ “หนี้ครัวเรือน” ที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ยังเป็นอุปสรรคของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งในปีนี้และในระยะต่อไป

สะท้อนจากยอดขาย “รถยนต์” ใหม่ป้ายแดงรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 ที่หดตัว 23.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ ได้แก่

  • ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน
  • ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
  • ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
  • กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง

โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่หดตัวสูงถึง 31.5% ส่วนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหดตัว 21.1%

สำหรับค่ายรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุด ยังคงเป็น Toyota รองลงมาเป็น Isuzu, Honda, BYD และ Mitsubishi ตามลำดับ โดยค่ายรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายรวมทุกประเภท เติบโตสูงสุด 15 อันดับแรก พบว่ามีเพียง BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเท่านั้น ที่ยอดขายยังขยายตัวดีสวนทางกับค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ที่มียอดจำหน่ายหดตัวจากปีก่อนหน้า

อันดับ 1 : Toyota 151,172 คัน ลดลง -14.9%
อันดับ 2 : Isuzu 59,189 คัน ลดลง -45.9%
อันดับ 3 : Honda 53,946 คัน ลดลง -11.2%
อันดับ 4 : BYD 20,878 คัน เพิ่มขึ้น +41.1%
อันดับ 5 : Mitsubishi 18,263 คัน ลดลง -25.3%
อันดับ 6 : Ford 14,757 คัน ลดลง -42.9%
อันดับ 7 : MG 11,671 คัน ลดลง -32%
อันดับ 8 : Nissan 6,768 คัน ลดลง -42%
อันดับ 9 : Mazda 6,545 คัน ลดลง -47.6%
อันดับ 10 : GWM 4,799 คัน ลดลง -40.5%
อันดับ 11 : Suzuki 4,505 คัน ลดลง -49.4%
อันดับ 12 : NETA 4,362 คัน ลดลง -49%
อันดับ 13 : Hino 3,013 คัน ลดลง -57.4%
อันดับ 14 : Hyundai 2,941 คัน ลดลง -17.5%
อันดับ 15 : Changan 2,692 คัน n/a

สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มียอดจดทะเบียนรวมอยู่ที่ 53,167 คัน ซึ่งขยายตัวที่ 6.1% แต่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเติบโตถึง 689.9% ในปี 2566

ซึ่งหากพิจารณาค่ายรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 7 อันดับแรกพบว่า เริ่มมียอดจำหน่ายชะลอลงจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะหลังจากสิ้นสุดมาตรการ EV 3.0 ในเดือนมกราคม ซึ่งให้เงินอุดหนุนมากกว่ามาตรการ EV 3.5 ที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กำลังซื้อของประชาชนลดลง ค่าครองชีพสูงขึ้น สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงมีการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดเพิ่มขึ้นจนทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าลดลงอย่างรวดเร็วและส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป

โดยค่าย BYD ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 41.8% ด้วยยอดจำหน่าย 22,218 คัน ขยายตัว 22.8% ตามมาด้วย MG, NETA, DEEPAL และ Tesla

ทั้งนี้ วิจัยแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ สรุปว่า แม้ว่าตลาดรถยนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 จะชะลอตัว แต่คาดการณ์ว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปี 2568-2569

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ