- บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม จำเป็นต้องได้วัคซีนเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์ ซึ่งมีสองทางเลือกคือ mRNA และ Viral vector
- อ้างอิงจากงานวิจัย ผู้ได้รับแอสตราเซเนกา 2 โดส หรือไฟเซอร์ 2 โดส เพียงพอสำหรับการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา
- เมื่อมีวัคซีน 2 แพลตฟอร์ม คือ mRNA และ viral vector ก็ไม่จำเป็นจำเป็นต้องสั่งซื้อซิโนแวคเข้ามาเพิ่ม
จากหลายประเด็นร้อนเรื่องวัคซีนโควิด-19 ทั้งสูตรผสม การจัดสรรวัคซีน การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นบูสเตอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ประสิทธิภาพของวัคซีนที่มี และข้อสงสัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้มีการเปิดห้อง Clubhouse เมื่อคืนวันที่ 16 กรกฎาคม โดยเชิญ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาเป็นผู้ร่วมตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมฟังใน Clubhouse หลักหมื่นคนในหลายหัวข้อ
วัคซีนเข็มที่ 3 บูสเตอร์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ไฟเซอร์ หรือแอสตราเซเนกา
จากสถานการณ์ของการระบาดในวันนี้ สายพันธุ์เดลตาอยู่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของของประเทศ ข้อสรุปอย่างคร่าวๆ ตามคำอธิบายของ ศ.นพ.ประสิทธิ์ คือ ผู้ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม น่าจะไม่เพียงพอต่อการป้องกัน จึงจำเป็นต้องได้วัคซีนโดสที่ 3 หรือบูสเตอร์ (booster) ซึ่งมีสองทางเลือกคือ mRNA และ viral vector
ความเป็นไปได้หนึ่งคือ mRNA ไฟเซอร์ ซึ่งได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ 1.5 ล้านโดส จากเดิมที่วางแผนไว้สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคกลุ่มเสี่ยง จากนั้นจึงมีข้อเสนอแบ่งวัคซีนส่วนหนึ่งมาให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขประเทศ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น
กระแสที่เกิดขึ้นคือ การให้บุคลากรทางการแพทย์เลือกรับโดสที่ 3 ว่าจะรับ mRNA หรือ Viral vector หรือให้เลือกระหว่างไฟเซอร์หรือแอสตราเซเนกา
“ผมย้ำนะ เปิดให้เลือก ไม่ได้บังคับนะ เปิดให้เลือก ก็มีบางคนไม่อยากได้ mRNA อยากได้ Viral vector ซึ่งตอนนี้มันคือแอสตราเซเนกา บางคนอยากได้ mRNA ซึ่งตอนนี้มันคือ Pfizer เมื่อตกลงกันแบบนั้น เราก็บอกโอเค งั้นเรื่องนี้เราก็ขอ เอาเข้าที่ประชุม EOC (Emergency Operations Center หรือ ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข) ขออนุมัติในหลักการเพราะว่าให้เปิดให้มีการเลือก”
แต่เนื่องจากไฟเซอร์ยังมาไม่ถึง จึงมีการนับจำนวนในเบื้องต้นว่าสำหรับเข็มที่ 3 นั้น ต้องการไฟเซอร์เท่าไหร่ และแอสตราเซเนกาเท่าไร ยังไม่ต้องเลือกในขั้นตอนนั้น แต่มีกระแสว่าเป็นการบังคับเลือก ซึ่ง ศ.นพ.ประสิทธิ์ ชี้แจงว่าเป็นการสื่อความที่ผิด
“ผมไม่เข้าใจเหมือนกันถูกส่งไปเป็นว่า คณบดีบอกไม่ให้เลือก หนักเข้าไปอีก ผมบอกว่า เอานะ ถ้าใครได้เลือกแอสตราเซเนกา ถ้าเรามีอยู่ก็ฉีดเลย แต่ถ้าใครเลือกไฟเซอร์ก็จะรอว่ามาเมื่อไหร่ แต่ผมจะพยายามไปเร่งให้ อยู่ๆ มันก็กลายเป็นไปเป็นคำพูดว่าถ้าใครไม่เลือกแอสตราเซเนกาให้เททิ้ง ผมก็ไม่เข้าใจสื่อความหมายยังไง
“ผมขออนุญาตให้ดูตัวเลขตรงนี้ ยอดทั้งหมดที่เราขอไปทั้งหมดคือ 22,731 มีแพทย์ทั้งหมด 2,445 มีพยาบาล 6,611 มีทันตแพทย์ 41 มีเภสัชกร 249 มีนักวิทยาศาสตร์ก็คือพวกทำแล็บทั้งหลาย 256 มีนักรังสี 162 มีวิสัญญีแพทย์อีก 195 มีพนักงานช่วยพวกสาธารณสุขทั้งหลาย 1,311 พนักงานขับรถ และมีนักศึกษา
“เรารวมนักศึกษาเข้าไป แต่เราจะอธิบายตรงนั้นลงไป สำหรับ extern ยังไงก็ได้แน่นอน เพราะ extern ถือเป็นบุคลากรด้านสุขภาพแล้ว ร่วมมือแต่ว่าเราขอรวมเข้าไปด้วย เพราะนักศึกษาที่ขึ้นคลินิกทั้งหมดยังไงก็ควรจะต้องได้”
นอกจากนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังเปิดเผยว่า มีการใช้งบของศิริราชมูลนิธิ 26 ล้านบาท เพื่อสั่งโมเดอร์นาผ่านสภากาชาดอีก 20,000 โดส
...
หากได้รับแอสตราเซเนกาแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 3 เป็นบูสเตอร์
คำถามเรื่องวัคซีนอีกประการหนึ่งคือ ในเมื่อวัคซีนที่ถูกจัดมาเพื่อเป็นบูสเตอร์มีจำกัด การจัดสรรใช้ในเบื้องต้นเพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลตา จะต้องฉีดให้กับผู้ได้รับซิโนแวค 2 เข็มก่อน ขณะที่ผู้ที่ฉีดแอสตราเซเนกาไปแล้วจะไม่ได้รับบูสเตอร์ ใช่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า
“แอสตราเซเนกา 2 โดส หรือไฟเซอร์ 2 โดส ผมอ่านงานวิจัยอยู่ด้วยเหมือนกัน ว่าตรงนี้เพียงพอสำหรับสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้องกันความรุนแรง ว่า 2 แพลตฟอร์ม (วัคซีน 2 ประเภท) มันกระตุ้น CMI (cell-mediated immunity - ภูมิคุ้มกันด้านเซลล์) ได้ดี เขาว่ามันเพียงพอแล้ว ผมเองผมก็ฉีด 2 โดส ก็ไม่ต้องการโดสที่ 3 ผมก็ต้องเชื่อในวิชาการที่ผมอ่าน ถูกไหม”
ส่วนการจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากวัคซีนที่เข้ามามีไม่มาก กลุ่มแรกที่ต้องรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคกลุ่มเสี่ยง แต่ปัจจุบันประชาชนกลุ่มดังกล่าวยังได้รับวัคซีนไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
“คนกลุ่มเหล่านี้ ถ้าเราฉีดน้อย อัตราการตายจะยิ่งเพิ่มขึ้น ความเห็นผม กลุ่มเหล่านี้เรารีบให้เขา ในเมื่อมีหลักฐานอยู่แล้วว่าแอสตราเซเนกา 2 โดสยังโอเคอยู่ แต่แน่นอน เมื่อติดตามไปถึงระยะหนึ่งแล้วเกิดมีการเปลี่ยนแปลงอะไร เราค่อยมาคุยกันเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง”
เราไม่ควรสั่งซิโนแวคอีกแล้ว
มีคำถามถึงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคซึ่งต่ำเมื่อเทียบกับไฟเซอร์ แต่ประเทศไทยก็ยังสั่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ศ.นพ.ประสิทธิ์ ไม่ได้คัดค้านหรือเห็นแย้ง และยืนยันว่าประสิทธิภาพของไฟเซอร์ดีกว่าจริง แต่ในขั้นตอนการสั่งวัคซีนนั้น ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วม
“ลองไปดูข้อมูลย้อนหลังจะรู้ว่า ช่วงที่มีการสั่งวัคซีนตอนนั้น ไม่ได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามา นี่พูดกันจริงๆ แล้วเมื่อเริ่มมีสังเกตว่ามีอะไร ก็เลยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยกันให้ข้อคิดเห็น
“การสั่งวัคซีนมันเป็นการสั่งล่วงหน้า การสั่งวัคซีนไม่ใช่ว่าสั่งวันนี้แล้วเดือนหน้ามา ถ้าจะถามผม วิเคราะห์ย้อนหลัง จุดที่ควรจะสั่งวัคซีนมันควรเกิดตั้งแต่ตอนเฟส 3 ของปีที่แล้ว เพราะตอนนั้นอเมริกาสั่งเป็น 3 เท่า แคนาดาก็สั่งเป็น 3 เท่าของประชากร”
อาจเป็นเพราะตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขณะนั้นมีน้อย หลายฝ่ายจึงนิ่งนอนใจ ผลคือไม่มีการติดต่อหาวัคซีนล่วงหน้า
“พวกที่สั่งไว้ตั้งแต่ตอนเฟส 3 ตอนปลาย วัคซีนผลิตใหม่ก็จะถูกส่งไป ประเทศต่างๆ เหล่านั้น เราก็ไม่ได้เข้ามา ผมเดาว่าตอนนั้นมีการเอาซิโนแวคเข้ามา แต่ขณะเดียวกัน หลังจากนั้นแอสตราเซเนกา ซึ่งเข้ามาในช่วงต้นก็ยังไม่สามารถผลิตได้” ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์
อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยืนยันว่า เมื่อมีวัคซีน 2 แพลตฟอร์ม คือ mRNA และ viral vector ก็ไม่จำเป็นต้องสั่งวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีกแล้ว
“ผมเห็นด้วยว่า ต่อไปซิโนแวคเราไม่ควรจะต้องสั่งอีกแล้ว เพราะยังไงก็แล้วแต่ ต่อไปในอนาคตมีแพลตฟอร์ม 2 อันนี้ แล้วจริงๆ แล้วแพลตฟอร์ม viral vector เราก็ไม่ได้สั่งแค่นี้ เราสั่งจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ก่อนหน้าเราติดต่อสปุตนิก วี ไว้ด้วย ตอนนี้สปุตนิก วี ระหว่างติดต่อเกิดเหตุ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 เอกสารที่ส่งมาเป็นภาษารัสเซีย ก็ต้องแก้ อันที่ 2 เกิดเหตุที่บราซิล ที่เกิดเคสว่าวัคซีนที่เข้าไปนั้น ปรากฏว่าไวรัสมันยัง replicate (เพิ่มจำนวน) ได้”
เมื่อมีคำตอบชัดว่าไม่ควรสั่งซิโนแวคเพิ่ม จึงมีคำถามถัดมาว่า ทางศิริราชพยาบาลยืนยันหรือไม่ที่จะแสดงจุดยืนการนำเข้าวัคซีน mRNA มาเป็นวัคซีนหลักของประเทศ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงทางเลือกอื่นๆ ว่า
“ทำไมไม่มอง protein-based vaccine ที่น่าสนใจกว่าด้วยซ้ำ ปลอดภัยกว่าตั้งเยอะ เพียงแต่ตอนนี้โนวาแวกซ์ (Novavax) ยังไม่ผ่าน FDA คืออย่าเพิ่งไปผูกมัด แต่ผมเห็นด้วยว่าต้องเอาวัคซีนคุณภาพสูง ผมว่าใช้คำอย่างนี้ดีกว่า”
อนาคตของการสั่งวัคซีนคือต้องทำให้เร็ว
การติดต่อวัคซีนล่าช้าคือบทเรียนสำคัญ และหากมีวัคซีนรุ่นถัดไป ประเทศไทยควรรีบติต่อล่วงหน้า ศ.นพ.ประสิทธิ์ ให้ข้อมูลว่า
“ตอนนี้มีหลายบริษัท ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา แล้วก็แอสตราเซเนกา ซึ่งตอนเนี่ยเขากำลังทำเจเนอเรชั่นที่ 2 เราควรจะติดต่อเลยดีกว่าไหม ซึ่งก็มีการคุยกันแล้วด้วยซ้ำ”
จำนวนคาดการณ์ของ ศ.นพ.ประสิทธิ์ อาจถึง 120 ล้านโดส เป็นจำนวนเผื่อไว้ เพราะในอนาคตฉีดเข็มเดียวอาจไม่เพียงพอ
“ผมยอมรับว่า ที่ผ่านมา ให้ผมพูด ผมก็พูดตรงๆ ว่าผมไม่ได้ อิงข้างใดข้างหนึ่ง ผมยืนยันนะ ผมอิงความถูกต้อง อิงวิชาการ ถ้าเราพูดขึ้นมาว่าเราสั่งวัคซีนช้า ที่ผ่านมาเราสั่งวัคซีนช้า ที่มันช้าเพราะตอนนั้นเราคิดว่าประเทศไทยดีมาก เราก็เลยมองข้ามการที่จะรีบ”
การคาดการณ์ในขณะนั้นคือ ถึงช่วงปลายปีจะมีเหลือให้สั่งซื้อ และผู้ซื้อจะซื้อตัวไหนก็ได้ เมื่อตลาดเป็นของผู้ซื้อ ราคาก็จะลดลง แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นดังนั้น กลายเป็นว่าหาวัคซีนไม่ได้มากตามที่คาดไว้
บทบาทกับ ศบค. สยามไบโอไซเอนซ์ และปมการสั่งซื้อซิโนแวค
อีกคำถามสำคัญคือเรื่องบทบาทของ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ที่เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ แต่มีการพูดถึงเรื่องการเป็นกรรมการ ศบค. และอยู่ในบอร์ดบริหารของ สยามไบโอไซเอนซ์ อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่ง ศ.นพ.ประสิทธิ์ชี้แจงว่า
“ผมไม่ได้เป็นกรรมการ ศบค. อะไรเลยนะ ไม่ได้เป็น ผมเข้าไปในกรณีที่เขาขอความเห็น เข้าไปเป็นผู้ร่วมประชุมให้ความคิดเห็น และก็เดินออก ยกเว้นวันนี้ ต้องการจะไปเพราะมันเป็นหัวข้อที่เราดันขึ้นมา เรื่องวัคซีนนี่แหละ นะครับ คำตอบคือ ไม่ใช่
“อันที่ 2 ผมขออนุญาตเคลียร์ตรงนี้เลยนะ มีคนถามผม เพราะเข้าใจว่าผมเป็นหุ้นส่วนสยามไบโอไซเอนซ์ คนละอย่างกัน ผมเป็นบอร์ดสยามไบโอไซเอนซ์ ไม่มีหุ้น ตรวจสอบง่ายมาก สามารถเข้าไปในกระทรวงพาณิชย์ แล้วไปเช็กดูก็จะรู้ว่าใครเป็นบอร์ด เรื่องเป็นบอร์ด ผมเปิดเผยเลย ไม่มีความลับ และเรื่องไม่มีเงินเดือนก็เช็กได้ด้วย”
จากคำอธิบายของ ศ.นพ.ประสิทธิ์ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐบาลไทยไม่ได้จ่ายเงินค่าวัคซีนให้สยามไบโอไซเอนซ์ แต่จ่ายให้แอสตราเซเนกา ผู้รับเงินจึงเป็นแอสตราเซเนกาที่มาจากสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตอีกทีหนึ่ง
“เรายอมผลิตเพราะว่าเราอยากได้ Know how เพราะต่อไปในอนาคต เราจะได้สามารถผลิตวัคซีนของเราเองได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นบอร์ดของสยามไบโอไซเอนซ์แล้วได้เงินจากรัฐบาลไทย พูดง่ายๆ ยิ่งซื้อเยอะได้เงินเยอะ อย่างนี้เรียกผลประโยชน์ทับซ้อน”
การทำงานร่วมกับ ศบค. นั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยืนยันว่าเข้าไปเพราะต้องการทำงานผลักดันประเด็นวัคซีนและเรื่องการเตรียมการล็อกดาวน์ แต่ไม่มีอิทธิพลใน ศบค. เพราะต้องการทำงานด้านวิชาการมากกว่า
มีคำถามเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพที่ต่ำของซิโนแวค ว่ารัฐบาลไม่ควรสั่งมาเพิ่มอีก ศ.นพ.ประสิทธิ์ สามารถส่งความคิดเห็นเหล่านี้ไปถึงผู้กำหนดนโยบายได้หรือไม่
“ผมไม่อยากเรียกมันว่า Vaccine low quality (วัคซีนคุณภาพต่ำ) มันอาจจะมีคุณภาพดีตอนยังไม่มีสายพันธุ์เดลตา แต่พอมันมีสายพันธุ์อย่างนี้ ผมคิดว่ามันไม่เพียงพอ
“และจริง ๆ ก่อนหน้านี้ใครคงเคยได้ยินตัวเลข 40 ล้าน ซึ่งเราเบรกไปแล้ว เราเบรกไปว่ามันไม่สมควร ส่วนจะไปยังไงต่ออยู่ที่ข้างบน และผมก็ยังยืนยันนะ ถ้าตราบใดวัคซีนที่ไม่เหมาะสมที่ใช้ในประเทศ ไม่เกิดประโยคผมก็เบรกแน่นอน ถ้าตราบใดยังอยากให้ผมเป็นที่ปรึกษา โอเคนะ ผมคิดว่าพวกเราที่เป็นที่ปรึกษา เราก็ทำหน้าที่นี้ ไม่ใช่เฉพาะผมคนเดียว”
...