• ช่วงปลายปี 2563 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งซื้อวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค
  • หลังประเทศไทยเผชิญการระบาดหลายระลอก ส่งผลให้รัฐบาลไทยตัดสินใจเจรจากับบริษัทเวชภัณฑ์หลายแห่ง เพื่อให้วัคซีนเพียงพอต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ หนึ่งในนั้นคือวัคซีนจากไฟเซอร์ที่เคยปฏิเสธไปก่อนหน้านี้
  • อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD ว่าจะเจรจากับบริษัทไฟเซอร์อีกครั้งหนึ่ง โดยระบุว่า "จะให้กราบเขาเพื่อให้ส่งได้เร็วที่สุดก็จะทำ"

ไทยไม่ซื้อ ‘ไฟเซอร์’ เพราะราคาสูงเกินไป

ย้อนกลับไปยังช่วงปลายปีที่แล้ว รัฐบาลไทยเริ่มเจรจาขอซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัทเวชภัณฑ์หลายราย กระทั่งวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า รัฐบาลกำลังมีข้อตกลงกับบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNtech) แต่ยังไม่ได้ลงลึกถึงจำนวนวัคซีนที่ต้องการซื้อ

นายแพทย์นครระบุว่า “เราจะคุยกับไฟเซอร์ต่อเมื่อได้รับข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น นอกเหนือจากที่บริษัทประกาศตามสื่อ ตอนนี้ยังไม่ได้คุยเรื่องจำนวนสั่งซื้อ ไม่มีข้อตกลงแน่นอน เมื่อได้รับข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น เราจึงจะตัดสินใจเรื่องข้อตกลงกับไฟเซอร์” ก่อนทิ้งท้ายว่า มีความหวังที่จะได้วัคซีนในระยะเวลาอันใกล้

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 มีรายงานความเคลื่อนไหวการเจรจาซื้อวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์ของรัฐบาลไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องที่ตัวแทนบริษัทไฟเซอร์จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ว่า “เวลานี้ เรามีข้อตกลงในการลงทุนร่วมกับบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สิ่งที่เราได้จากการร่วมทุนคือราคาที่อยู่บนหลักการ ‘ไม่กำไร ไม่ขาดทุน’ (no profit no loss principle) เนื่องจากบริษัทจะขายให้ในราคาต่ำเฉลี่ยโดสละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 151 บาท) หากเทียบกับวัคซีนบริษัทอื่นอย่างไฟเซอร์ หรือซิโนแวค (Sinovac) แล้วราคายังสูงอยู่ เพราะเราไม่ได้ไปร่วมทุนกับเขา”

...


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลว่าไม่ซื้อเพราะยังไม่มั่นใจประสิทธิภาพของวัคซีนตามที่โซเชียลมีเดียกังวลแต่อย่างใด

ไม่นานหลังจากการให้สัมภาษณ์ของอนุทิน รัฐบาลไทยกลับสั่งซื้อวัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ ‘ซิโนแวค’ จากบริษัท ซิโนแวค ไบออนเทค จำนวน 2 ล้านโดส โดยบริษัทวัคซีนดังกล่าวถูกบริษัท ซิโน ฟาร์มาซูติคอลลิมิเตด ของ บริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ทุ่มเงิน 515 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.54 หมื่นล้านบาท) เข้าซื้อหุ้น 15 เปอร์เซ็นต์

หลายประเทศเริ่มใช้วัคซีนไฟเซอร์ ขณะที่ไทยยังคงปฏิเสธ

วัคซีนไฟเซอร์มีกระบวนการผลิตที่คิดค้นผ่านเทคโนโลยี RNA ใช้ชิ้นส่วนพันธุกรรมของเชื้อไวรัสรหัสพันธุกรรม mRNA สร้างโปรตีนส่วนที่เป็นหนามของไวรัสโควิด-19 เมื่อไรที่ mRNA ถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ เซลล์จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นหนามไวรัส ซึ่งหนามเหล่านี้จะอยู่ในกระแสเลือด ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 และบริษัทระบุข้อกำหนดการใช้ว่าจะต้องฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดส ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน

ไม่นานหลังรัฐบาลไทยยืนยันว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องตกลงซื้อวัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนยี่ห้อนี้กลายเป็นวัคซีนชนิดแรกของโลกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยบริษัทเผยประสิทธิภาพวัคซีนระยะที่ 3 ว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 90 เปอร์เซ็นต์ แม้การทดสอบวัคซีนจะยังไม่เสร็จสิ้น

ก้าวแรกแห่งความสำเร็จนี้ ส่งผลให้สหราชอาณาจักรอนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นชาติแรก โดยเริ่มสั่งซื้อและนำวัคซีนฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง ก่อนที่แคนาดาจะเป็นชาติที่ 2 ส่วนประเทศแรกในเอเชียที่เริ่มใช้ไฟเซอร์คือสิงคโปร์

สหรัฐอเมริกาที่เผชิญกับปัญหาผู้ติดเชื้อมากกว่าวันละพันราย ก็ตัดสินใจใช้วัคซีนไฟเซอร์เช่นกัน ในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (Food and Drug Administration: FDA) อนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์แก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน แม้ผู้ทดสอบบางรายจะได้รับผลข้างเคียง แต่ก็เป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมาก

รัฐไทยไม่ซื้อไฟเซอร์ และไม่ร่วมโครงการ COVAX

ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX (COVID-19 Vaccine Global Access Facility) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ร่วมมือกับองค์กรวัคซีนกาวี (Gavi) กลุ่มพันธมิตรผู้รับมือกับโรคระบาด CEPI (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) เพื่อร่วมคิดค้นและตรวจสอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้ประชาคมโลกให้ความไว้วางใจวัคซีนที่ COVAX ให้การรับรอง โดยโครงการจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแจกจ่ายวัคซีนที่ผ่านเกณฑ์ไปทั่วโลก

24 มกราคม 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงเหตุผลที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ว่า เดิมทีไทยมีความสนใจเข้าร่วม แต่โครงการนี้จะจัดหาวัคซีนแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายให้กับประเทศยากจน ซึ่ง COVAX จัดประเทศไทยไว้ในหมวดประเทศรายได้ปานกลาง ทำให้ไทยไม่ได้สิทธิรับวัคซีนฟรี

นอกจากไม่ได้รับวัคซีนฟรี ประเทศที่ไม่ถูกจัดว่ามีรายได้น้อยจะต้องร่วมลงทุนในการจัดหาวัคซีน เป็นเรื่องยากที่จะนำเงินไปลงทุน เมื่อทางโครงการยังไม่ระบุความคืบหน้าของวัคซีนเท่าที่ควร

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เคยตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ล่าช้าและเล่นแบบแทงม้าตัวเดียว และกล่าวถึง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ก่อนถูกหมายเรียกจาก สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

รัฐบาลเริ่มกลับมาสนใจไฟเซอร์อีกครั้ง

แม้ช่วงแรกไทยจะควบคุมการระบาดได้ดีเท่าที่ควร แต่การระบาดระลอกใหม่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น

วันที่ 9 เมษายน นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อจัดหาวัคซีนแยกจากกระทรวงสาธารณสุข โดยมี ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะทำงาน เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอตามเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะต้องฉีดวัคซีน 80 ล้านโดส ให้คนไทย 40 ล้านคน

แต่หากคำนวณจำนวนวัคซีนให้เพียงพอต่อประชากร 68 ล้านคน ตอนนี้ไทยยังขาดวัคซีนกว่า 73 ล้านโดส

วันที่ 14 เมษายน 2564 อนุทินกล่าวถึงเหตุผลที่ไม่สั่งซื้อวัคซีนมาสำรองไว้ว่า วัคซีนมีอายุการใช้งาน 6 เดือน หากไม่ใช้ในระยะเวลาที่กำหนดอาจต้องทิ้ง ถือเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ กรณีมีผู้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ก็จำเป็นจะต้องใช้วัคซีนตัวใหม่ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การฉีดวัคซีนให้ประชาชนไม่ทันในระยะเวลา 6 เดือน ไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอสำหรับการตัดสินใจไม่สำรองวัคซีน

รวมถึงเกิดการตั้งคำถามในสังคมว่า ทำไมรัฐบาลไทยถึงต้องใช้วัคซีนเพียงแค่ 2 ยี่ห้อเท่านั้น

หลายวันต่อมา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดประเด็นการก้าวผ่านวิกฤติโควิด-19 ผ่านทางคลับเฮาส์ โดยใช้ชื่อว่า โทนี วูดซัม (Club house: Tony Woodsome)

ทักษิณกล่าวถึงประเทศดูไบว่ามีวัคซีนหลายยี่ห้อ แต่ทำไมไทยถึงยึดติดกับวัคซีนแค่ 2 เจ้า โดยเฉพาะแอสตราเซเนกาที่มีปัญหาตามมามากกว่าวัคซีนยี่ห้ออื่น ซึ่งวัคซีนที่มีปัญหาน้อยที่สุดตอนนี้คือไฟเซอร์ รองลงมาคือโมเดอร์นา (Moderna) ส่วนวัคซีนจีนที่ใช้แพร่หลายมากสุดคือซิโนฟาร์ม (Sinopharm) แต่ไทยกลับใช้วัคซีนเอกชนซิโนแวค

นอกจากนี้ ทักษิณยังแนะนำว่ารัฐบาลควรเปิดเสรีวัคซีน ทำให้แพร่หลายเหมือนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นำเข้าวัคซีนที่ได้มาตรฐานในปริมาณมาก ให้ประชาชนเลือกฉีดได้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนกับวัคซีน ไม่เช่นนั้นจะต้องกู้เงินมาแจกประชาชนแบบไม่จบไม่สิ้น และมองว่าควรให้เอกชนช่วยเจรจากับบริษัทวัคซีน ก่อนทิ้งท้ายว่า ตนอาสาเป็นผู้ไปเจรจากับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimirovich Putin) เพื่อขอซื้อวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) ให้

ข้อเสนอแนะของทักษิณเป็นไปในทางเดียวกับนักธุรกิจไทยจำนวนมาก เมื่อผู้บริหารบริษัทชั้นนำในไทยกว่า 40 แห่ง จัดประชุมออนไลน์ร่วมกับหอการค้าไทย แสดงความกังวลต่อการดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ดำเนินไปอย่าล่าช้าของรัฐบาลไทย ประเมินว่าต้องมีแผนจัดหาวัคซีนทางเลือก แบ่งทีมทำงาน พร้อมเสนอตัวเป็นคนกลางประสานการจัดหาและสนับสนุนการฉีดวัคซีนของภาครัฐ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวกลับมาเร็วที่สุด

วันที่ 20 เมษายน 2564 อนุทินกล่าวถึงการจัดการวัคซีนว่า ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือกับตัวแทนจากบริษัทเวชภัณฑ์ไฟเซอร์แล้ว ตอนนี้ยังติดปัญหาเรื่องการจัดส่งที่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาแน่ชัด

ด้านนายกรัฐมนตรียืนยันว่า การจัดหาวัคซีนไม่ได้ล่าช้าหรือสั่งมาน้อยเกินไป ทุกอย่างเป็นไปตามแผนบริหารจัดการภายใต้การจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ และสถาบันวัคซีนกำลังเจรจากับบริษัทไฟเซอร์ โดยมีความเป็นไปได้ว่าบริษัทจะส่งมอบวัคซีนจำนวน 5-10 ล้านโดสให้ไทยในช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงสิ้นปี แต่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงรอดูเงื่อนไขและใบเสนอราคาของบริษัท ขณะเดียวกันก็ต้องประสานงานกับบริษัทเวชภัณฑ์อื่นด้วย อาทิ การหารือกับรัสเซีย เพื่อเจรจาจัดหาวัคซีนสปุตนิก วี

...

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขประกาศ “ให้กราบก็ยอม”

วันที่ 21 เมษายน 2564 อนุทินกล่าวถึงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า กำลังเจรจากับตัวแทนผู้ผลิต 2-3 ราย สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือช่วงเวลาจัดส่งที่จะต้องไม่ช้าเกินไป

“ถ้าเขาส่งใบเสนอราคาและส่งให้ได้ 10 ล้านโดสภายในเดือนมิถุนายนหรือช่วงเดือนกรกฎาคม รับรองว่าคว้าหมับ เราไม่ต้องการขี่ม้าตัวเดียว เราต้องมีทางเลือก แต่เราต้องมีม้าหลักก่อน” อนุทินระบุ

ในวันเดียวกัน อนุทินให้สัมภาษณ์กับรายการเจาะลึกทั่วไทย ของสถานีโทรทัศน์ MCOT HD ช่อง 30 ว่า เตรียมพบกับตัวแทนบริษัทไฟเซอร์ “จะให้กราบเขาเพื่อให้ส่งวัคซีนเร็วที่สุดก็จะทำ”

ต่อมาในช่วงเย็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโพสต์เฟซบุ๊กรายงานความคืบหน้าว่าบริษัทพร้อมส่งมอบวัคซีนให้กับไทยจำนวน 10 ล้านโดส แต่ยังไม่สามารถกำหนดเวลาแน่ชัด และยืนยันว่าจะปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ ให้จัดซื้อได้เร็วขึ้นแม้วัคซีนจะยังไม่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยใช้กฎหมายพิเศษจัดซื้อวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน

คงต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิด ว่าการกำหนดราคาที่รัฐบาลไทยจะซื้อวัคซีนไฟเซอร์เป็นอย่างไร จำนวนมากขนาดไหน และต้องจ่ายเงินมากขึ้นจากเดิมที่ไฟเซอร์เคยเสนอราคาต่อรัฐบาลหรือไม่ ท่ามกลางกระแสสังคมที่ตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่กันที่คนไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนที่ได้มาตรฐาน เมื่อไหร่กันที่คนไทยจะมีสิทธิเลือกฉีดวัคซีนตามความเหมาะสมของร่างกายและช่วงวัย หรืออิสระการเลือกฉีดวัคซีนจะไม่เกิดขึ้นในประเทศนี้กันแน่

อ้างอิง:

...