โรคเอดส์, เริม, หนองใน, ซิฟิลิส เป็น "โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" ที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่คนไม่ค่อยรู้จัก และติดต่อได้ง่าย กว่าจะเกิดอาการนานเป็นปี และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้บ่อย ร้อยละ 30-70 หลังจากหยุดการรักษาไป 6 เดือน นั่นคือ “หูดหงอนไก่”
: สาเหตุเกิดโรคหูดหงอนไก่ :
หูดหงอนไก่ (Genital warts, Condyloma acuminata) อาจเรียกในชื่ออื่นอีกว่า หงอนไก่, หูดอวัยวะเพศ หรือหูดกามโรค เป็นหูดที่พบขึ้นบ่อยๆ บริเวณอวัยวะเพศทั้งหญิงและชายในช่วงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 16-25 ปี แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่า สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแปบปิโลมาไวรัส (Human papilloma virus) หรือเชื้อ HPV ชนิดความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ เชื้อ HPV ชนิด 6, 11 ซึ่งไม่ทำให้เกิดมะเร็ง โรคนี้ยังเกิดได้ในเด็ก โดยมักมีอาการที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า
...
: 2 ช่องทางการติดต่อ โรคหูดหงอนไก่ :
ส่วนใหญ่โรคหูดหงอนไก่มักติดต่อได้ 2 ช่องทางดัง คือ ทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งพบได้มากถึง 50-70% ในกลุ่มวัยรุ่น และ การติดต่อจากแม่สู่ลูกระหว่างการคลอด ซึ่งพบได้จำนวนน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ ได้แก่
1. มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
2. มีคู่นอนหลายคน
3. มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
4. มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ โดยเฉพาะชายรักชาย
5. คู่นอนติดเชื้อหูดหงอนไก่
6. ถูกข่มขืนกระทำชำเรา
7. เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ผู้ชายที่ไม่ได้ขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
: อาการหูดหงอนไก่ ฟักตัวนานเป็นปี :
ผู้ที่สัมผัสเชื้อ HPV ไม่ได้ติดโรคทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะภูมิคุ้มกันและจำนวนเชื้อที่ได้รับ หากมีภูมิคุ้มกันดี หลังรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายมักไม่มีอาการใดๆ และภายใน 2 ปี เชื้อจะถูกกำจัดไปได้เองประมาณ 80-90% ส่วนผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังรับเชื้อเข้าไปแล้ว 1 เดือน-2 ปี หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 เดือน
โรคหูดหงอนไก่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ไปจนถึงเริ่มจากรอยโรคเล็กๆ แล้วขยายตัวใหญ่ขึ้น เป็นติ่งเนื้องอกอ่อนๆ สีชมพูหรือสีเนื้อ ผิวขรุขระเป็นก้อนนูน หรือกลุ่มตุ่มขนาด 3-4 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลแดง ม่วง หรือดำ ผิวเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย บริเวณอวัยวะเพศเป็นหลัก แล้วขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีลักษณะคล้ายหงอนไก่ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะเชื้อชนิดนี้ชอบอยู่บริเวณซอก หลืบ อับชื้น และหูดหงอนไก่ยังเกิดได้ในบริเวณปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ท่อปัสสาวะ หรือรอบทวารหนัก
ผู้เป็นโรคนี้หากเนื้อหูดใหญ่ขึ้นและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจะทำให้ผู้ชายปัสสาวะไม่ออก ผู้หญิงมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะแสบ มีตกขาว คัน หรือมีแผลที่อวัยวะเพศ และมีโอกาสติดเชื้อกามโรคอื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน พยาธิในช่องคลอด
: 3 วิธีการวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่ :
เนื่องจากไวรัสเอชพีวีไม่ทำให้เซลล์ตายหรือสลายไป การติดเชื้อถูกจำกัดอยู่เฉพาะในชั้นเยื่อบุ ไม่เข้าสู่กระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลือง ร่างกายไม่เกิดภูมิต้านทานเหมือนโรคอื่น ทำให้เกิดซ้ำได้บ่อยๆ ร้อยละ 30-70 หลังจากหยุดการรักษาไป 6 เดือน ในทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่ได้ 3 วิธี ได้แก่
...
1. ดูลักษณะของรอยโรคที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
2. ตรวจทางพยาธิวิทยาจากชิ้นเนื้อตรงรอยโรค
3. ใช้กล้องส่องตรวจดูช่องคอหรือที่ทวารหนัก
: 4 วิธีรักษาหูดหงอนไก่ :
หาก “หูดหงอนไก่” มีขนาดเล็กกว่า 1 ตารางเซนติเมตร สามารถรักษาสำเร็จได้ง่ายด้วยยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) ชนิด 25% , ทาด้วยกรดไตรคลอโรอะซิติก หรือ ทีซีเอ (Trichloroacetic Acid – TCA) ชนิด 50-70%, ทาด้วยครีมอิมิควิโมด (Imiquimod cream) ชนิด 5% เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กำจัดเชื้อเอชพีวี (HPV) หรือ ทาด้วยยาโพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ชนิด 0.5% แต่หากเป็น “หูด” ขนาดใหญ่กว่านั้น ต้องเลือกใช้วิธีอื่นในการรักษา ดังนี้
1. จี้ไฟฟ้า (Electrocauterization) หรือจี้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Laser ablation) เพื่อตัดรอยโรคออก
2. จี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นการใช้ไม้พันสำลีชุบด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) แล้วนำมาป้ายหรือพ่นเป็นสเปรย์ลงที่รอยโรค
3. ผ่าตัดด้วยมีดผ่าตัด (Surgical excision) โดยจะอาศัยการฉีดยาชาเฉพาะที่ วิธีการรักษานี้เป็นวิธีที่ช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของหูดหงอนไก่ได้มากที่สุด
...
: 10 หลักวิธีการดูแลตนเอง ระหว่างรักษาหูดหงอนไก่ :
1. พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ
2. หมั่นตรวจอวัยวะเพศตัวเองเพื่อหารอยโรค
3. งดมีเพศสัมพันธ์ หากจำเป็นควรใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
4. ล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำหลังสัมผัสรอยโรค
5. รับประทานอาหารสุกสะอาด
6. งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา สารเสพติด
7. งดสำส่อนทางเพศ
8. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
9. ผู้หญิงที่เป็นหูดหงอนไก่บริเวณปากมดลูก อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง
10. ระหว่างรักษาหูดหงอนไก่ หากมีอาการผิดปกติ หรือกังวลใจในอาการที่เป็นอยู่ ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัด
...
: 5 วิธีป้องกันหูดหงอนไก่ :
การป้องกันการติดโรคหงอนไก่ ปัจจุบันไม่มีวิธีรักษาหูดหงอนไก่ได้ 100% แต่เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวี ควรปฏิบัติด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
1. มีเพศสัมพันธ์เฉพาะคู่นอนของตน
2. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ยิ่งมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มขึ้น
3. หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
4. เมื่อพบรอยโรคต้องสงสัยหรือความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นหูดหงอนไก่ ควรรีบพบแพทย์
5. ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถลดความเสี่ยงในการรับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ และลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกด้วย
(ขอบคุณข้อมูล : คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข , มูลนิธิเอ็มพลัส)
: ข่าวน่าสนใจ :