ในช่วงระยะหลังๆ ที่ผ่านมา ได้ปรากฏข่าว "อุกกาบาตจากนอกโลกมีโอกาสเสี่ยงที่จะพุ่งเข้าชนดาวเคราะห์สีน้ำเงินของเรา" หลายต่อหลายข่าว ซึ่งในแต่ละข่าวที่ปรากฏก็มักจะสร้างกระแสความเสียวสันหลังให้กับชาวโลกทุกครั้งไป
แบบไหนจึงเรียกว่า "เฉียดใกล้" แบบไหนจึงเรียกว่า "อันตราย" และทั้งหมดที่ว่ามานี้ ปีๆ หนึ่งมนุษย์โลกพบเห็นมันมากน้อยเพียงใด?
ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงลองไปค้นหาข้อมูลจาก NEO Earth Close Approaches ซึ่งรายงานผลการตรวจจับอุกกาบาตที่มีวิถีโคจรเฉียดเข้าใกล้โลกดูในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา จึงพบว่า
...
- 2018 UA : ขนาดประมาณ 3.9 เมตร เข้าใกล้โลกในระยะ 13,673 กม. เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 61
- 2019 AS5 : ขนาดประมาณ 1.51 เมตร เข้าใกล้โลกในระยะ 14,960 กม. เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 62
- 2019 EH1 : ขนาดประมาณ 4.1 เมตร เข้าใกล้โลกในระยะ 23,936 กม. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 62
- 2018 WG : ขนาดประมาณ 5.95 เมตร เข้าใกล้โลกในระยะ 31,416 กม. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 61
- 2018 WV1 : ขนาดประมาณ 3.9 เมตร เข้าใกล้โลกในระยะ 32,912 กม. เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.61
ทั้งหมดนี้ คือ อุกกาบาตที่เฉียดเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 2 ปี โดยเจ้า 2018 UA คือ อุกกาบาตที่เฉียดที่สุด ด้วยระยะห่างเพียง 13,673 กม. ซึ่งใกล้กว่าระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปนิวยอร์ก ที่มีระยะทาง 13,923 กม. เสียอีก!
ส่วนคำถามต่อมา คือ แบบไหนจึงจะเรียกได้ว่าอันตราย?
คำถามนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ขาประจำของเรา คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล เป็นผู้เฉลยคำตอบดีกว่า!
————
"อุกกาบาต คือ วัตถุจากอวกาศที่ตกลงสู่ชั้นบรรยากาศของโลก แล้วเผาไหม้ในบรรยากาศไม่หมด มีส่วนหนึ่งที่ตกลงมาสู่พื้นโลก ซึ่งส่วนที่ตกลงมาสู่พื้นโลกนี้ เราเรียกมันว่า อุกกาบาต แต่หากเป็นวัตถุในอวกาศที่มีขนาดค่อนใหญ่ขึ้นมาหน่อย เรามักจะเรียกว่าเป็น ดาวเคราะห์น้อย"
กูรูวิทยาศาสตร์เมืองไทย ให้คำอธิบายเมื่อถูกเอ่ยถาม
————
ระยะทางผ่านโลก ใกล้ หรือ ไกล แบบไหนถึงอันตราย หรือไม่อันตราย?
หากมันไม่ได้พุ่งเข้าชนโลกแบบประสานงา มันก็จะไม่มีอันตรายเลย เว้นเสียแต่ว่า มันเกิดเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน ซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ทั้งจากการถูกวัตถุในอวกาศอื่นชน หรือเกิดจากแรงดึงดูดโน้มถ่วงในระบบสุริยะของเรา นั่นเป็นเพราะดาวแต่ละดวงนั้นมันไม่ได้อยู่กับที่ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลที่อาจจะทำให้อุกกาบาตเปลี่ยนทิศทางได้ทั้งสิ้น อาจารย์ชัยวัฒน์ อธิบายด้วยน้ำเสียงผ่อนคลาย
...
อุกกาบาต ดาวเคราะห์น้อย และถิ่นที่อยู่
โดยทั่วไป "อุกกาบาต" หรือ "ดาวเคราะห์น้อย" มีอยู่ทั่วไปในระบบสุริยะของเรา แต่ส่วนใหญ่มันจะจับกลุ่มกันเป็นวงแหวน อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี แต่เมื่อมันเกิด "แตกแถว" แล้วโคจรเข้ามายังโลก พวกนี้ก็จะกลายเป็น "อุกกาบาต" หรือ "ดาวเคราะห์น้อย" ที่คุกคามโลกได้
...
ขนาดนั้นสำคัญไฉน BIG SIZE แค่ไหน ถึงทำลายโลกได้?
จริงๆ แล้วจะว่าไป อุกกาบาตทุกขนาดก็ล้วนแต่อาจจะทำอันตรายให้กับโลกได้ทั้งหมดนั่นแหละ แต่นั่นต้องเป็นกรณีที่มันสามารถตกลงมาถึงพื้นโลก คือ พุ่งเข้าชนแบบประสานงา หรือในลักษณะทำมุม 45 องศา กับเส้นทางโคจรของโลก ซึ่งหากเป็นกรณีแบบนี้ มนุษย์โลกได้รับผลกระทบแน่นอน
ขณะที่ ขนาดของอุกกาบาตเท่าไรจึงจะอันตราย จริงๆ หากพูดในเชิงของระดับความร้ายแรงนั้น โดยส่วนใหญ่นักวิทยาศาสตร์จะจับจ้องไปที่ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดตั้งแต่ 1 กิโลเมตรขึ้นไป นั่นเป็นเพราะหากมันเกิดชนโลกแบบตรงๆ ดังที่ว่า อนุภาพการทำลายล้างจะเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมามากกว่า 1 ล้านลูก!
...
หากใครจินตนาการภาพความเสียหายจากอนุภาพความรุนแรงของมันไม่ออก ผมจะเล่าให้ฟังแบบนี้แล้วกัน ถอยหลังไปเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ประมาณ 10 กิโลเมตร ได้พุ่งเข้าชนโลก จนทำให้ไดโนเสาร์ที่เคยครองพื้นพิภพก่อนมนุษยชาติต้องสูญสิ้นเผ่าพันธ์ุมาแล้ว ซึ่งหลักฐานถึงการมาของมหันตภัยร้ายจากนอกโลกยังมีปรากฏร่องรอยให้เห็นอย่างเด่นชัด เป็นหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์อยู่ใต้เมืองชิคซูลับ (Chicxulub) ประเทศเม็กซิโกส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ใต้อ่าวเม็กซิโก โดยมีปากหลุมกว้างอย่างน่าตกตะลึงถึง 200 กิโลเมตร ปากหลุมอยู่ใต้ดินลึก 20 กิโลเมตร!
นี่คือสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ และทำให้มนุษย์ครองพิภพนี้สืบมา
จำไว้ให้มั่น 1 กิโลเมตรขึ้นไป นี่แหละอันตรายของจริง
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มที่คอยเฝ้าจับตามหันตภัยจากนอกโลกจึงเล็งเป้าหมายไปที่กลุ่มที่มีขนาดตั้งแต่ 1 กิโลเมตรขึ้นไปเป็นหลัก เพราะพวกมันเหล่านั้นอาจทำให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นมาได้อีก!
โดยเครือข่ายที่เฝ้าระวังนี้ ถูกเรียกว่า โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลก (Near earth object program) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายทางดาราศาสตร์หลายแห่งทั่วโลก โดยมีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา (NASA) เป็นหัวเรือใหญ่ คอยรายงานสรุปถึงดาวเคราะห์น้อย หรืออุกกาบาตต่างๆ ทั้งที่พุ่งเข้าใกล้ เฉียด หรือพุ่งชนโลก ซึ่งเครือข่ายทั่วโลกสามารถตรวจจับได้ รายงานขึ้นบนเว็บไซต์ CNGOS | Centre for Near Earth Object Studies อยู่โดยตลอดนั่นเอง
แต่แน่นอน แม้นว่ามนุษย์จะมีเครือข่ายเฝ้าระวังอันตรายจากนอกโลกแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันก็มีส่วนหนึ่งที่หลงหูหลงตาเล็ดลอดการตรวจจับ ชนิดที่เรียกว่า "กว่าจะรู้ตัวมันก็มาถึงโลกแล้ว" หรือผ่านโลกของเราไปแล้วเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเช่นกัน
ซึ่งเหตุการณ์ที่ว่า สดๆ ร้อนๆ เลย มันเคยเกิดขึ้นที่ เมืองเชเลียบินสค์ (Chelyabinsk) ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2013 ซึ่งครั้งนั้นมนุษย์เรามองไม่เห็นมัน ก่อนที่มันจะพุ่งเข้ามาชนเราเสียด้วย!
โดยในครั้งนั้น อุกกาบาตมีขนาดใหญ่ประมาณ 18 เมตร ซึ่งผลจากการที่มันระเบิดในอากาศ ทำให้สิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายกว่า 3,000 แห่ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 1,500 คน ซึ่งนับว่ายังเป็นโชคดีที่มันระเบิดกลางอากาศ เพราะหากมันตกลงสู่พื้นโลกจะเกิดความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะหากมันโหม่งพื้นโลกได้ จะมีระดับความรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ที่ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมา 30 ลูก!
2002 NT7 ชื่อนี้ชาวโลกต้องจำ อีก 80 ปี จะหลับตาฝันถึงชื่อเธอ
หากถามว่า มีครั้งใดที่ชาวโลกปริวิตกกับภัยจากนอกโลกมากที่สุดนั้น หากถามผมนะ หากใครยังจำได้เมื่อปี 2002 มีการตรวจพบดาวเคราะห์น้อย ชื่อ "2002 NT7" ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึงประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งในตอนนั้นมีการคาดการณ์ว่า เจ้า "2002 NT7" อาจมีวงโคจรที่อาจพุ่งเข้าชนโลกได้ในวันที่ 1 ก.พ. ปี 2019 ซึ่งหากมันพุ่งเข้าชนโลกขึ้นมาจริงๆ จะมีความรุนแรงเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาถึงประมาณ 100 ล้านลูก!
พูดง่ายๆ ว่า ความรุนแรงของการเข้าชนมีมากพอที่จะทำให้ทวีปทั้งทวีปหายไปจากแผนที่โลกได้เลย!
แต่ยังนับว่าเป็นโชคดีของมนุษย์โลกของเรา เพราะต่อมาและจนกระทั่งถึงวันที่ 13 ม.ค. 2019 เจ้า "2002 NT7" ได้ผ่านโลกไปแล้ว แถมมันยังมีเส้นทางโคจรที่อยู่ห่างจากโลกในระยะทางถึง 61 ล้านกิโลเมตร เรียกว่าไกลจากที่คาดคำนวณไว้ตอนแรกมาก
แต่อย่างไรก็ดี การที่ดาวเคราะห์น้อยพวกนี้มักจะมีวิถีโคจรปิด คือ เฉียดโลกไปแล้ว ถอยห่างออกไป จากนั้นมันจะเวียนกลับเข้ามาอีก ลักษณะเป็นวงรี ด้วยเหตุนี้ เจ้า "2002 NT7" จะวนกลับมาใกล้โลกอีกครั้งในวันที่ 15 ม.ค. 2099 ในระยะห่างจากโลก 55 ล้านกิโลเมตร ซึ่งถึงตอนนั้นลูกหลานเหลนโหลนของเราก็ไปลุ้นกันเอาเองว่า มันจะผ่านไปดีๆ ห่างๆ แบบเดิม หรือเฉียดเข้ามาใกล้โลกสีน้ำเงินมากกว่าเดิม สิ้นสุดการเลคเชอร์วิชาดาราศาสตร์ ในบทเรียน อุกกาบาต กับ โลก จบลง อาจารย์ชัยวัฒน์ ก็ค่อยๆ คลายมุมยิ้มกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ อย่างอารมณ์ดี.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ :