สุดยอดเยาวชนไทยวัย 20 "เรียน" ควบคู่ "ทำงาน" เลิกขอเงินแม่ หาเงินใช้เองตั้งแต่อายุ 14 ปี สร้างฐานะจากเงินทุนแม่ 1 พัน เปิดร้านมาม่าต้มยำหม้อไฟ ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำอาหารมาก่อน รายได้ครึ่งแสนต่อเดือน ในวัยแค่ 18 ปี เผยเทคนิคความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามล้วนๆ
“การประสบความสำเร็จในชีวิต” เรื่องใดก็ตาม หากใจมุ่งมั่นจริงก็คว้าความสำเร็จได้ไม่ยาก วันนี้ทีมข่าวฯ มีเรื่องราวน่าชื่นชมให้ผู้อ่านได้แนวคิด หรือแรงบันดาลใจ จาก น.ส.ปวริศรา เชิงรู้ หรือ มิ้งค์ สาววัยรุ่น อายุเพียงแค่ 20 แต่เธอสามารถพาตัวเองประสบความสำเร็จเรื่อง "การเรียน" ควบคู่ "การงาน" เลิกขอเงินแม่และหาเงินใช้เองมาตั้งแต่อายุ 14 ปี จนมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ได้เป็นเจ้าของร้านมาม่าต้มยำหม้อไฟติด Top 5 ของตลาดในวัยแค่ 18 ปี
นอกจากนี้เธอยังเป็นนิยามของคำว่า “ประสบความสำเร็จในชีวิต” ที่ไม่ได้หมายถึงความสำเร็จเฉพาะหน้าที่การงานเท่านั้น แต่เธอเป็นแบบอย่างของบุคคลที่มีหลักคิด มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต ดูแลตนเองและครอบครัวให้มีความสุขอีกด้วย
...
จากทุนแม่ 1 พันบาท กลายเป็น 5 พัน เงินเก็บก้อนแรกในชีวิต
“มิ้งค์เริ่มขายของออนไลน์ผ่านอินสตาแกรม ตั้งแต่เรียนอยู่ ม. 2 พอเรียน ม. 3 ก็นำเข้าเสื้อผ้าจากจีนมาขาย ทำเอง เรียนรู้เองทุกอย่าง เพราะไม่อยากขอเงินแม่ ตอนนั้นแม่ให้เงินลงทุนมา 1 พันบาท มิ้งค์ต่อยอด หามาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ มีเงินเก็บ ดูแลตัวเองได้ดีในส่วนของตัวเอง อยากได้อะไรก็ซื้อด้วยเงินที่หามาเอง ทั้งโน้ตบุ๊ก โทรศัพท์ กระเป๋า ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างๆ มิงค์ไม่เคยขอเงินแม่ใช้มา 7-8 ปี ตั้งแต่อายุ 14 แล้ว”
นั่นคือจุดเริ่มต้นของ น.ส.ปวริศรา ลูกสุดท้องที่เกิดในครอบครัวฐานะปานกลาง ไม่มีใครเก่งค้าขาย ไม่มีใครเก่งเรื่องธุรกิจ พ่อและแม่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ที่เริ่มสร้างด้วยตัวเอง แบ่งเบาภาระพ่อแม่ ด้วยเงินทุนแม่ 1 พันบาท ในเวลาเพียง 2-3 อาทิตย์ต่อมา ทำให้เธอมีเงินเก็บก้อนแรกในชีวิต 5 พันบาท
ไม่มีความรู้ ไม่เก่งการขาย ใช้ใจล้วนๆ อายุ 14 แบกของหนักสิบๆ โล
กว่าจะเริ่มก้าวสู่ความสำเร็จนี้ เธอย้อนเล่ากับทีมข่าวฯ ว่าต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างหนัก เพราะไม่ได้มีความรู้หรือเก่งในเรื่องการขาย ทุกอย่างเริ่มเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเอง ใช้ความพยายามอย่างเดียวเพื่อขายของให้ได้เงิน เพราะตอนนั้นเป็นยุคแรกๆ ที่อินสตาแกรมเพิ่งมีการขายของ ยังไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจในการโอนเงินออนไลน์ และการส่งของที่ยังไม่บูมเหมือนปัจจุบัน จึงถือเป็นเรื่องยาก
เธอพยายามหาสินค้าใหม่ๆ ทุกๆ วันเสาร์ไปหาซื้อของที่สำเพ็งมาขาย แบกของหนัก 10ๆ โล มาบ้าน และนั่งแพ็กของดึกดื่นทุกวัน เพราะอยากให้ลูกค้าได้ของเร็ว โดยพัฒนาและบริหาร จากแนวคิด "เอาใจลูกค้ามาใส่ใจตัวเอง" อาทิ ถ้าอยากให้ลูกค้าซื้ออีก ต้องคุยด้วยอย่างไรให้รู้สึกอุ่นใจ และไม่ลังเลที่จะซื้อ ทำให้มีลูกค้าเหนียวแน่น
“มิ้งค์เป็นคนมีความพยายาม และตั้งใจมาก เลยทำให้มีเงินก้อนแรกในชีวิตมากขนาดนั้น มันค่อนข้างยากและต้องตั้งใจจริงๆ แล้วมิ้งค์ก็พยายามทำทุกอยางด้วยตัวเอง ลงรูปเอง คิดเองว่าทำอย่างไรให้เกิดความน่าเชื่อถือ ให้มีเงินมากขึ้น ทุกวันหลังเลิกเรียน มิ้งค์จะรีบทำการบ้านให้เสร็จที่โรงเรียน หรือให้เสร็จภายในสองทุ่ม ก่อนแม่มารับที่บ้านน้า พอมาถึงบ้าน 2 ทุ่ม ก็จะนั่งร้อยกำไลแพ็กของส่งลูกค้า นอนเที่ยงคืน เช้าพ่อไปส่งไปรษณีย์ให้ ”
เงิน 1 พันของแม่ ต่อยอดเปิดร้าน รายได้ครึ่งแสนต่อเดือน
5 ปี ต่อมา เดือน มี.ค. 60 จากเงิน 1 พันบาทของแม่ เธอต่อยอดจนได้เปิดร้านอาหาร “มาม่าต้มยำหม้อไฟ” ของตัวเอง ด้วยเงินลงทุน 6 หลักต้นๆ ที่ตลาดเลี่ยงเมือง จ.นนทบุรี ในวัยแค่ 19 ปี เปิดขาย 17.30-23:30 น. เฉพาะ วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สร้างรายได้ 5-6 หมื่นต่อเดือนที่ต้องแลกมาด้วยความเหนื่อย เพราะเธอไม่เคยทำอาหารเลย แต่ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองว่า ทำได้และอยากทำ
...
ทุกอย่างจึงเริ่มจากศูนย์ แต่ด้วยฝีมือของเธอ บวกกับความพยายามเป็นแรงผลักดัน เธอลงมือสร้างด้วยตัวเองทุกอย่าง เพื่อลดต้นทุน อาทิ ทำครัว ล้างจาน เก็บจาน เสิร์ฟ ทำความสะอาด รับออเดอร์ คิดเงิน เก็บเงิน กระทั่งร้านได้รับความนิยมมากขึ้น จึงจ้างพนักงาน 3 คน คือ แม่ครัว พนักงานล้างจาน และเสิร์ฟ ทุกวันพฤหัสฯ หลังเลิกเรียนต้องไปซื้อของเองที่ตลาด ห้าง วันศุกร์เอาของมาลงไว้ที่ร้าน เลิกเรียน 3-4 โมง ก็มาเปิดร้าน และอยู่จนร้านปิด กว่าจะกลับถึงบ้านก็เป็นเวลาตีหนึ่ง หลังปิดร้านคืนวันอาทิตย์กลับบ้านพักผ่อน เช้าวันจันทร์ก็ไปเรียน
“มิ้งค์เป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว บอกแม่อยากทำอาหาร ไม่เกิน 1 เดือนก็เปิดร้านเลย วันแรกที่เปิดร้าน ไม่ได้จ้างพนักงาน แม่กับน้องสาวแม่มาช่วย น้องสาวแม่ช่วยทำอาหาร และสอนวิธีทำให้ พออีกวันมิ้งค์ทำครัวเอง ลุยเอง ก็ค่อนข้างหนัก เหนื่อย แต่มันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ มิงค์สร้างมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้ ให้ตัวเอง ทำให้มิ้งค์มีกินมีอยู่ได้ทุกวันนี้”
...
จัด จด สู่เจ้าของธุรกิจ เป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่ถึง 20
แม้ต้องเรียนควบคู่หารายได้เสริม ที่เริ่มจากขายของออนไลน์ กระทั่งมาเปิดร้านอาหาร มิ้งค์บริหารตัวเองได้เป็นอย่างดี ไม่ทำให้เสียการเรียนแต่อย่างใด เธอจบชั้นประถมศึกษามาด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00, มัธยมปลายด้วยเกรดเฉลี่ย 3.45 ได้รับรางวัลนักเรียนเรียนดีเด่น และได้รับทุนโครงการสร้างผู้ประกอบการวัยรุ่น เรียนฟรีในระดับปริญญาตรีตลอดหลักสูตร 4 ปี จาก ม.กรุงเทพ โดยเทอมล่าสุดได้ 4.0 คะแนนรวมอยู่ที่ 3.9
หลักการครองตน และบริหาร 2 บทบาท ทั้งนักเรียนและนักธุรกิจ เทคนิคของมิงค์ คือ “การจัดสรรเวลา” โดยทุกวัน หลังตื่น จะจดลิสต์ว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำมาตั้งแต่เรียนประถมศึกษา จากการที่เป็นคนชอบทำกิจกรรมตั้งแต่เด็ก เริ่มเดินสายประกวดจากการผลักดัน ส่งเสริมของแม่ ตั้งแต่ 3 ขวบ ไม่ว่าจะเป็นนางนพมาศ ร้องเพลง เต้น เล่นกีตาร์ วาดภาพ รวมไปถึงการเป็นพิธีกร และกิจกรรมด้านจิตอาสาและบำเพ็ญประโยชน์ ทำให้ได้รับโอกาสและกว่า 10 รางวัล จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ
รางวัลพระราชทานเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ปี 2560, รางวัลเยาวชนดีเด่นกรุงเทพมหานคร (เยาวชนดีเด่นประกายเพชร) ปี 2560, รางวัลเด็กดีเด่นสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ปี 2562, เยาวชนดีเด่นสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ ปี 2549, รางวัลเยาวชนดีเด่นเข้าเยี่ยมคารวะฯ พณฯท่านนายกรัฐมนตรี ปี 2557 ปี 2559 จากกระทรวงศึกษาธิการ, รางวัลนานาชาติตาราอวอร์ด ปี 2557 จากสถานธรรมเสถียร, รางวัลผู้มีความประพฤติดี ปี 2557 จากพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย, รางวัลชนะเลิศการร้องเพลงและด้านวิชาการอีกมากมาย ล่าสุดได้รับรางวัล ลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่ ในโอกาสวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2562 สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ
...
“มิ้งค์แบ่งสรรเวลาตามลำดับและสัดส่วนความสำคัญมาตั้งแต่เด็ก ถ้าเรียนดี กิจกรรมดีคนถึงจะยอมรับ ถ้ากิจกรรมดี เรียนไม่ดี เราจะเอาอะไรไปบอกคนอื่นว่าต้องทำยังไง เราจะเอาอะไรดีๆ ไปแบ่งปันคนอื่นได้ งานกลุ่ม การบ้าน มิ้งค์ทำให้เสร็จในช่วงเรียน แล้วจึงให้เวลากับร้าน เราต้องแบ่งเวลาให้ได้ ทำให้ดีทั้งสองอย่าง พอแบ่งเวลาให้กับ 2 สิ่งนี้ ได้ ก็จะทำให้มีเวลาเหลือไปทำกิจกรรมอื่นๆ มิ้งค์ลิสต์ทั้งในวันปัจจุบัน และในอนาคตด้วยว่าต้องทำอะไรบ้าง ”
2 หลักคิด สู่เจ้าของธุรกิจ เป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่ถึง 20
จากการเป็นนักเรียนทุน ม.กรุงเทพ คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ และแรงซัพพอร์ตจากอาจารย์ที่เป็นนักธุรกิจในสาขาต่างๆ ให้คำปรึกษาทุกทาง ทั้งแนะนำคอนเนกชั่น ซัพพลายเออร์ และส่งเสริมวิธีให้คนเชื่อมั่น ทำให้ร้านเป็นที่รู้จัก ธุรกิจได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จนร้านเป็น Top 5 ของตลาด แต่เปิดร้านขายได้เกือบ 2 ปี ในเดือน ต.ค. ปี 61 ก็ได้ปิดกิจการที่ตลาดเลี่ยงเมือง ด้วยเหตุผลเพื่อสร้าง “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ธุรกิจใหม่ที่กำลังทำอยู่ควบคู่กับการขายของออนไลน์เช่นเดิม และล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. 62 เธอเปิดร้าน "มิ้งค์หม้อไฟ" อีกครั้งที่ ตลาดอินดี้กัลปพฤกษ เพื่อส่งมอบความสุขผ่านรสชาติอาหารให้กับแฟนคลับร้านที่เรียกร้องให้กลับมาเปิดร้าน
“จริงๆ มิ้งค์ติดวิศวะ โลจิสติกส์ของศิลปากร ติดเศรษฐศาสตร์ของ มศว แต่เลือกคณะนี้ซึ่งเป็นเอกชน เพราะได้ทุน สองมิ้งค์ชอบขายของ มิ้งค์ไม่รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จ แต่รู้สึกว่าอายุแค่ 20 ได้รับประสบการณ์มากมายขนาดนี้ โอเคแล้ว รายได้จากการขายของออนไลน์ เพียงพอต่อการใช้ชีวิต แบ่งปันพ่อแม่ แค่นี้เพียงพอแล้ว
มิ้งค์เป็นเด็กธรรมดาๆ เหมือนทุกคน ทุกอย่างมันสำเร็จได้จากความพยายาม พยายามไปเถอะ ความพยายามไม่เคยทรยศใคร แต่ขึ้นอยู่กับว่าพยายามพอหรือยัง วันเปิดร้านอาหาร มิ้งค์ยังมาติดป้ายชื่อร้านเอง อีกอย่าง คือการมีระเบียบวินัย
ใครที่มีความฝัน หรืออยู่วัยเดียวกับมิ้งค์ ให้โฟกัสสิ่งที่อยากทำและจัดลำดับความสำคัญให้ดี รักตัวเองให้มากๆ พยายามทำในสิ่งที่คิดว่าดีและอยากจะทำ พอรักตัวเอง สิ่งดีๆ ก็เข้ามาในชีวิต” มิ้งค์ เด็กไทยที่ฝ่าฟันและพาตัวเองมาประสบความสำเร็จในชีวิต อดีตเจ้าของร้านอาหารในวัยแค่ 20 ทิ้งท้าย
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ