ณ จนถึงปัจจุบัน หน่วยงานราชการไทย ที่ดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นจากเกม มีทั้งสิ้น 1. กสทช. 2. กระทรวงวัฒนธรรม 3. ตำรวจ และกระทรวงมหาดไทย 4. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี

แต่ทั้ง 4 หน่วยงาน ไม่มีหน่วยงานใดเลย ที่จะมีอำนาจเข้าไปดูแลปัญหาเรื่องนี้ได้โดยตรงแบบเบ็ดเสร็จ หรือสามารถชี้ขาดได้ว่า ระบบ Loot Boxes เข้าข่ายการพนัน หรือไม่!

ประเทศเรา ยังคงใช้ พ.ร.บ.การพนัน ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2478 หรือ เกือบ 82 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่มีเนื้อหาส่วนใด ที่จะครอบคลุม หรือสามารถชี้ขาดลงไปชัดเจนได้ว่า ระบบ Loot Boxes เข้าข่ายการพนัน หรือไม่!

นักวิชาการ และนักกฎหมาย ที่คลุกคลีอยู่กับวงการเกมไทยมายาวนาน ให้ความเห็นกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ หลังจากเราเชื้อเชิญทั้งสองท่าน ให้มาพูดคุยในประเด็นร้อนของวงการเกม ณ เวลานี้ ว่า ระบบ Loot Boxes ที่บรรดาบริษัทเกมยักษ์ใหญ่ ต่างแห่กันยัดเยียดลงไปในเกม เพื่อสูบเงินจากกระเป๋าเหล่าเกมเมอร์นั้น เข้าข่ายการพนัน หรือไม่ และในยุค Thailand 4.0 เราพอจะมีหน่วยงานใด เข้ามาชี้ขาดเรื่องนี้ หรือมีกฎหมายที่จะเข้าไปดูแลในเรื่องนี้ได้หรือไม่

คำตอบชัดๆ คือ ยังไม่มีเลย!

ฉะนั้น ใน ซีรีส์สกู๊ปข่าว เติมเงิน=พนัน EP.2 นี้ เราจะค่อยๆ ไล่เรียงประเด็นที่ตั้งเอาไว้นั้น ในแบบทีละประเด็นแบบลงลึก จาก คุณพงศ์ธร จันทรัศมี ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะการลดปัญหาจากการพนัน และ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์

...

และ รศ.คณาธิป ทองระวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป

ระบบ Loot Boxes VS กฎหมายไทย

จนถึง ณ วินาที หากยึดตามกฎหมายที่มีบังคับใช้ในบ้านเรา คงไม่มีกฎหมายฉบับใด ที่สามารถฟันธงได้ว่า ระบบเติมเงินแบบสุ่มซื้อไอเท็ม หรือ Loot Boxes นั้น เข้าข่ายการพนัน หรือไม่?

อ.คณาธิป เริ่มต้นการสนทนากับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

ส่วนที่พอจะสามารถ นำไปเทียบเคียง หรือดูแลปัญหาที่เกิดจากระบบ Loot Boxes ได้นั้น น่าจะมีอยู่ 2 ฉบับ คือ 1. พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 และ 2. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

ขณะที่ คุณพงศ์ธร ให้ความเห็นในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบัน เรามี 4 องค์กรภาครัฐ ที่ดูแลเกี่ยวกับธุรกิจเกมในประเทศไทย เพียงแต่ทั้ง 4 องค์กร ต่างแบ่งแยกไปดูแลคนละส่วน คือ...

1. กสทช.จะดูแลเฉพาะในส่วน กรณีที่มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการแพงกว่าปกติ จากการเล่นเกม
2. กระทรวงวัฒนธรรม รับหน้าที่ดูแลในส่วนของ เกมแผ่นทั้งหลาย ทั้ง วีซีดี ดีวีดี บลูเรย์ และร้านเกม
3. ตำรวจและกระทรวงมหาดไทย จะดูแล กรณีเกมมีเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายไทย หรือมีการละเมิดลิขสิทธิ์
4. กระทรวงดีอี จะเน้นหนักไปที่ การผลิตและพัฒนาเกมออกมาในเชิงสร้างสรรค์

แต่ที่น่าสนใจคือ หากเป็นกรณี เกมออนไลน์ จะไม่มีหน่วยงานของรัฐ องค์กรใดเลย ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดูแล ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก เนื่องจากปัจจุบัน เด็กไทยเล่นเกมออนไลน์ กันอย่างล้นหลาม!

ในขณะที่ในต่างประเทศ จะมีผู้ที่เข้าไปดูแลโดยตรง เช่น คณะกรรมการควบคุมการพนัน หรือคณะกรรมการควบคุมเกม โดยหากตรวจพบว่า มีลักษณะที่เข้าข่ายว่า เป็นการพนัน จะถูกปรับ และต้องให้ไปขอใบอนุญาตทันที!

กฎหมาย 82 ปี ที่แล้ว VS Loot Boxes 

กฎหมายการพนัน ในประเทศเรา ค่อนข้างยังมีปัญหา เนื่องจากเรายังคงใช้ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ซึ่งทั้งเก่าแก่ และยังไม่ได้มีการแก้ไขมาเป็นเวลานานแล้วอีกด้วย ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักใจ

...

และมันยิ่งเกิดปัญหามากขึ้น เมื่อหากจะนำไปใช้กับอะไรก็ตามที่อยู่ในโลกออนไลน์!

นั่นเป็นเพราะ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 1. ให้นิยามการพนันเอาไว้ไม่ชัดเจน 2. ขณะที่ประเภทของการพนันที่ระบุเอาไว้ บางชนิดมันก็เก่าแก่ ชนิดที่เรียกว่า ในปัจจุบันไม่มีการเล่นกันอีกแล้ว ไม่เชื่อลองไปดู กลุ่มบัญชี ก. และ บัญชี ข. ดูแล้วกัน!

แล้วแบบนี้ จะไปเท่าทันกระบวนการเล่นการพนันผ่านระบบออนไลน์สารพัดชนิดที่มีดาษดื่นในปัจจุบัน ได้อย่างไร? เพราะมันแทบจะไม่มีลักษณะทางกายภาพให้จับกุมได้อีกแล้ว

เอาง่ายๆ แค่ การพนันฟุตบอลออนไลน์นี้ มันก็ไม่ได้อยู่ในทั้ง 2 บัญชีแล้ว!

อย่างไรก็ดี จากการที่ ศาลได้วางหลักแนวทางสำหรับการพิจารณา ซึ่งคล้ายๆ กับให้คำนิยามเรื่องการพนัน เอาไว้ในเบื้องต้นไว้ว่า 1. ต้องมีลักษณะเสี่ยงโชคกับความไม่แน่นอน 2. มีการได้รับซึ่งทรัพย์สิน

ซึ่งหากนำแนวทางนี้ มาเปรียบเทียบกับ กรณี ระบบ Loot Boxes ส่วนตัวมองว่า มันเข้าองค์ประกอบ เพราะ

...

1. มีลักษณะเสี่ยงโชคและไม่แน่นอน เพราะบางคนอาจจะได้ และบางคนไม่ได้ และที่สำคัญคือ ไม่รู้ว่าในกล่องสมมติที่ว่านี้มีอะไรอยู่ภายในบ้าง

2. นำไปสู่การได้เงิน เพราะสิ่งเหล่านี้ มันส่งผลกระทบต่อการได้เงินของคน

เมื่อมันเข้าข่าย การพิจารณาลำดับต่อไป คือ มันเข้า บัญชี ก. หรือ ข. หรือไม่? ซึ่งจุดนี้แหละที่น่าจะมีปัญหา!

เพราะหากใช้วิธีการนำไปเทียบเคียง ให้ใกล้เคียงกับ บัญชี ก. หรือ บัญชี ข. เช่น กรณี บิลเลียด กับสนุกเกอร์ มันก็พอจะมีความใกล้เคียงกัน แต่กรณีเกมออนไลน์ มันไปไกลกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง เพราะมันไม่เชิงทายผลด้วยซ้ำ แต่มันเหมือนลักษณะการเสี่ยงโชคเพียวๆ สำหรับการที่จะใช้เงินไปซื้อไอเท็มต่างๆ ในเกม มันจึงเทียบกันไม่ได้ และไม่สามารถเรียกได้ว่า เป็นการพนันออนไลน์

ฉะนั้น เมื่อ เข้าบัญชี ก. หรือ บัญชี ข. ไม่ได้ ก็ลงโทษไม่ได้ จุดนี้ จึงน่าจะเป็นช่องว่างของกฎหมายไทยในเวลานี้อยู่

เอาละ...กฎหมายไทยฉบับต่อไป ที่น่าจะพอนำมาใช้ กับระบบ Loot Boxes ได้ก็คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมาย ที่ทั้งมีโทษสูง และแทบจะออกมาครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในระบบออนไลน์เอาไว้แล้วนั้น ก็ยังมีช่องโหว่สำหรับเรื่องนี้อยู่ดี เพราะ...มันไม่มีการระบุที่ชัดเจนถึง การพนันออนไลน์ เอาไว้!

แต่อย่างไรก็ดี ตามมาตรา 14 เรื่องการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือ บิดเบือน เข้าสู่ระบบ โดยมีเจตนาเพื่อหลอกลวงผู้อื่น ก็อาจจะพอปรับมาใช้กับกรณีนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น

1. หากมีการโฆษณาว่า โหลดเล่นฟรีไม่เสียเงิน แต่หากเข้าไปแล้ว มีการเสียเงิน แบบนี้ ผิดแน่นอน

...

2. โฆษณาว่า โหลดเล่นฟรี แต่เมื่อเข้าไปเล่นแล้ว ต้องซื้อ ไอเท็ม จาก ระบบ Loot box แบบนี้ ก็ถือว่า เข้าข่ายเช่นกัน เพราะเท่ากับเป็นการไม่บอกเงื่อนไขในเกมทั้งหมด

3. ไม่ได้บอกข้อมูลหมดว่า ระบบ Loot boxes คืออะไร แล้วพอถึงเวลา ผู้เล่นต้องไปพบในเกม แบบนี้ก็ถือว่าจะเข้าข่าย

แต่เท่าที่มีข้อมูล ยังไม่เคยพบว่า มีการฟ้องร้องในกรณีแบบนี้กันมาก่อนในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี หากเกมมีคำอธิบายเรื่องเงื่อนไขทั้งหมดเอาไว้ในเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีปุ่ม Accept เอาไว้ให้ผู้เล่นกดยอมรับเงื่อนไขไว้ ก็เท่ากับประเด็นที่จะเอาผิด ว่า เข้าข่าย บิดเบือน หรือหลอกลวง ให้เกิดความเข้าใจผิด ไร้ความหมายไปในทันที

เพราะฉะนั้น หากใครที่คิดจะกดปุ่ม Accept ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แท็บแล็ต หรือคอมพิวเตอร์ โดยไม่อ่านเงื่อนไขต่างๆ ก่อน ต้องคิดให้จงหนัก!

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งมีการปรับปรุงคือ ควรจะมีการเขียนนิยามกลาง ตามที่ศาลได้เคยวางแนวทางเอาไว้ คือ การอาศัยความเสี่ยงโชคไม่แน่นอน เพื่อมุ่งประโยชน์ทางการเงิน มีเจตนาหลอกลวงผู้บริโภค หรือการปิดบังข้อเท็จจริง จะต้องถือว่า เข้าข่ายลักษณะการพนัน

เพราะนิยามลักษณะนี้ จะครอบคลุม สิ่งที่จะเป็นการพนันได้ทั้งหมด แถมยังสามารถนำไปปรับใช้กับสิ่งอื่นๆ ที่จะมาในโลกออนไลน์ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย เพราะหากยังคงคลุมเครือ และทำให้มีปัญหาเช่นในปัจจุบัน มันก็ไม่มีไปเลยก็ได้ เหมือนกัน ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ให้ข้อคิดแก่แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์

ดูแลปัญหาการพนันในเกม ไม่ควรใช้ยาแรง ยิ่งห้ามยิ่งยุ ยิ่งต่อต้าน

ด้าน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์ ให้มุมมองที่น่าสนใจเพิ่มอีกว่า ณ ขณะนี้ หากประเทศเราคิดจะออกกฎหมายขึ้นมาควบคุม ส่วนตัวมองว่า “สายเกินไปแล้ว” เพราะเรื่องนี้มันเข้ามาในประเทศเรา จนสามารถเรียกได้ว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา ฉะนั้น หากมีการออกกฎหมายออกมาควบคุม เชื่อว่าจะถูกต่อต้านอย่างหนักแน่นอน

ฉะนั้น สำหรับปัญหาเรื่องนี้ สิ่งแรกที่ควรทำเลยคือ ประเทศไทย ควรต้องมี การตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลเรื่องเกมโดยตรง และการจัดเรตติ้งเนื้อหาเกม

โดยเฉพาะการจัดเรตติ้งเนื้อหาเกมนั้น ถือเป็นทางออกที่ประนีประนอม กับ ทั้งเหล่าเกมเมอร์ และบริษัทเกมมากที่สุด เพราะมันไม่ได้เป็นการใช้ยาแรงเข้าไปแก้ไขปัญหาในฉับพลันเหมือนในอดีตที่เคยทำๆ กันมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ บรรดาเกมเมอร์ ไม่ชอบและจะเกิดการต่อต้านในวงกว้างอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน มันยังเป็นผลดีในแง่ที่ว่า บริษัทเกม จะได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับหนึ่ง และสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของตัวเองได้ด้วยว่า จะอยู่ที่ช่วงอายุประมาณเท่าไร ขณะที่ หน่วยงานรัฐเอง ก็ยังสามารถควบคุมผู้ประกอบการได้ตามประเภทของเกมอีกด้วย

แต่สิ่งที่รัฐจะต้องคิดในลำดับต่อมาหากมีการจัดระบบเรตติ้งก็คือ ต้องมีระบบที่คัดกรองเรื่องอายุ ในการเข้าถึงคอนเทนต์อย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพราะหากควบคุมไม่ได้ ระบบนี้ก็จะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

หรือพูดง่ายๆ คือ จัดเรตติ้งไป มันก็ไร้ความหมาย!

ในต่างประเทศ จะมีการควบคุมดูแลเยาวชน เรื่องการเล่นเกมเอาไว้อย่างน่าสนใจมาก คือ มีทั้งการแบ่งเรตเกม เนื้อหา ที่ไม่ต่างจากการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ แถมยังมีกำกับการใช้จ่ายเงินภายในเกม โดยเฉพาะเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 13 ปี นั้น จะห้ามเข้าถึงบริการในลักษณะนี้อย่างเด็ดขาด

ในขณะที่ บ้านเรา ไม่มีอะไรสักอย่าง

“ที่ผ่านมา รัฐบาลไทย มักจะปล่อยให้เกิดปัญหาก่อน แล้วจึงค่อยตามแก้ และมักจะแก้ปัญหาในลักษณะ การใช้ยาแรง เช่น บล็อก หรือกีดกันไม่ให้นำเข้ามาในประเทศเลย แต่มักไม่ค่อยเรียนรู้วิธีการอื่นๆ ในการดูแล เพื่อที่จะอยู่กับมัน หรือหารูปแบบวิธีการที่จะเข้าไปดูแลมันอย่างเหมาะสม

เราควรจะให้เด็กอยู่กับมัน และคิดได้เองว่าจะอยู่กับมันอย่างไร เพราะยังไงๆ เราก็หนีมันไปไม่พ้น และแถมหากยิ่งไปใช้ยาแรง ก็จะยิ่งถูกเด็กต่อต้าน

ส่วนตัวทำงานในเรื่องนี้กับเด็กมาพอสมควร ต้องยอมรับว่า สังคมเกมในบ้านเรา เป็นชุมชนขนาดใหญ่มาก และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือ ทัศนคติของเด็กกลุ่มนี้ที่มองผู้ใหญ่ เป็นพวกไดโนเสาร์ ไม่เข้าใจเด็ก และพยายามจะเข้าไปขัดความสุขของพวกเขา เพราะฉะนั้น การใช้ยาแรง มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา เพราะถึงอย่างไร พวกเขาก็จะไปหาวิธีที่จะเข้าไปเล่นได้อยู่ดี”

ระบบ Loot Boxes หนทางสู่การพาเยาวชน ติดการพนัน

สำหรับผม ระบบ loot boxes เข้าข่ายเป็นการพนัน เพราะมันเป็นการนำทรัพย์สินมีค่าไปทำนายผล เสี่ยงดวง กับโอกาสที่ไม่แน่นอน โดยมีของรางวัลเป็นการตอบแทน หรืออาจจะไม่ได้อะไรเลย

แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้น และเป็นภัยแฝงที่มากับเรื่องนี้ คือ เด็กและเยาวชน ที่เล่นอยู่กับระบบนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะติดการพนัน เพราะมันเป็นเหมือนการส่งเสริมพฤติกรรมเสี่ยงโชค และที่สำคัญ เกมยังถูกออกแบบมา เหมือนดั่งว่า เด็ก ไม่ได้เล่นการพนัน เสียด้วย

หากเราปล่อยให้ เด็ก อยู่ในวัฒนธรรมแบบนี้ไปเรื่อยๆ คิดดูแล้วกันว่า มันจะเกิดอะไรขึ้น

“มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า เด็กที่มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับการเล่นการพนัน ตั้งแต่ก่อนอายุ 20 ปี มีโอกาสสูงมากที่จะติดการพนัน ยาเสพติด สุรา และเป็นโรคซึมเศร้า มากกว่าคนที่มีพฤติกรรมแบบเดียวกัน เมื่ออายุ 20 ปี ขึ้นไปแล้ว”

แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือ มุมในแง่ของผลกระทบ ของการเล่นเกมมากเกินไป

รู้กันหรือไม่ว่า การบำบัดเด็กติดเกม ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลาในการรักษาพอสมควร และบางครั้งค่ารักษาถึงหลักแสนบาท และในรายที่มีพฤติกรรมเสพติดเกมรุนแรง จิตแพทย์ถึงขั้นต้องใช้ยาในการบำบัด เพื่อทดแทนสารที่หลั่งออกมาในเวลาที่เล่นเกมเป็นเวลานานๆ

และที่สำคัญ คนที่จะเข้าไปบำบัดจุดนั้น มีไม่มากเลย เนื่องจากตัวเองก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ตัวเองมีพฤติกรรมเสพติดเกมเข้าไปแล้ว

เพราะต้องไม่ลืมว่า ถูกต้องที่ใช่ว่า ใครเล่นเกมแล้วต้องออกไปก่ออาชญากรรมทุกคน แต่...ก็ไม่ใช่ทุกคนเหมือนกัน ที่จะมีสภาพจิตใจปกติแล้วเล่นเกม คิดบ้างไหมว่า หากคนที่มีสภาพจิตไม่ปกติ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง แล้วไปถูกกระตุ้นจากเกมที่เล่น ซึ่งมีเนื้อหารุนแรงล่ะ

ในทางการแพทย์ เขาจึงพยายามบอกว่า สำหรับเกมบางเกมที่มีเนื้อหารุนแรง ควรจะต้องมีการจัดเรตติ้ง เพื่อให้เข้าถึงเยาวชนได้อย่างเหมาะสม

เพราะ...เราไม่มีทางรู้เลยว่า ใครจะเข้ามาเล่นเกมในลักษณะแบบนี้บ้าง คุณพงศ์ธร กล่าวทิ้งท้าย ให้สังคมได้ตรึกตรอง

น่าสนใจในประเด็นที่ทิ้งท้ายกันไว้ไหม...แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์

เด็กติดเกม มีวิธีการบำบัดอย่างไร จริงหรือ ที่เด็กติดเกม จะก้าวร้าว ทั้งหมดนี้ ติดตามได้ในสกู๊ปตอนต่อไป พรุ่งนี้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์