Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

Foodpanda ในไทย เปิดมา 12 ปี ไม่เคยมีกำไร ปัญหาสะสมที่ทำให้ปิดตัว บทเรียนธุรกิจมากกว่าเรื่องเงิน

Date Time: 23 เม.ย. 2568 16:50 น.

Summary

พฤติกรรมของผู้บริโภคแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย แต่เป็นทั่วโลกที่มีผู้เล่นมากมายที่พร้อมเข้ามาแข่งขัน โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด นำมาสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนไปอย่างถาวร แต่เบื้องหลังการเติบโตนั้น เมื่อเปิดดูงบการเงิน กลับพบผลการขาดทุนมหาศาลของหลาย ๆ แพลตฟอร์ม ก็ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า เป็นไปได้แค่ไหนที่ธุรกิจนี้จะทำกำไรได้ หรือจะต้องทำไปถึงจุดไหนถึงจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ?ล่าสุด Foodpanda เป็นอีกรายที่ต้องโบกมือลาวงการนี้ไป โดยเพิ่งประกาศปิดกิจการในไทย หลังเปิดให้บริการมานานกว่า 12 ปี เกิดอะไรขึ้นกับ Foodpanda ในไทยกันแน่?

“ฟู้ดเดลิเวอรี่” ธุรกิจที่ครั้งหนึ่งเคยถูกยกให้เป็น "คำตอบ" ของไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ เพื่อแก้เพนพอยต์ของชีวิตในเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ไม่มีเวลา หรือแม้กระทั่งว่า “ขี้เกียจ” ออกไปหาของอร่อยนอกบ้าน

พฤติกรรมของผู้บริโภคแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย แต่เป็นทั่วโลกที่มีผู้เล่นมากมายที่พร้อมเข้ามาแข่งขัน โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด นำมาสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนไปอย่างถาวร แต่เบื้องหลังการเติบโตนั้น เมื่อเปิดดูงบการเงิน กลับพบผลการขาดทุนมหาศาลของหลาย ๆ แพลตฟอร์ม ก็ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า เป็นไปได้แค่ไหนที่ธุรกิจนี้จะทำกำไรได้ หรือจะต้องทำไปถึงจุดไหนถึงจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ?

ล่าสุด Foodpanda เป็นอีกรายที่ต้องโบกมือลาวงการนี้ไป โดยเพิ่งประกาศปิดกิจการในไทย หลังเปิดให้บริการมานานกว่า 12 ปี เกิดอะไรขึ้นกับ Foodpanda ในไทยกันแน่?

ย้อนตำนาน Foodpanda ฟู้ดเดลิเวอรี่ผู้มาก่อนกาล ตีตลาดในไทย

Foodpanda ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งหลายราย เกิดขึ้นแนวคิดพื้นฐานที่ว่า ตลาดเอเชียกำลังมีการเติบโตของชนชั้นกลางและการใช้สมาร์ทโฟน แต่ยังขาดแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้กลุ่มผู้ก่อตั้งมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ศักยภาพสูง

บริษัทได้ระดมทุนอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยกลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการในหลายประเทศ ใช้ชื่อแบรนด์ Foodpanda ในเอเชียและยุโรปตะวันออก และใช้ชื่อ HelloFood ในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ก่อนที่ในปี 2016 จะถูกซื้อกิจการโดย Delivery Hero SE บริษัทฟู้ดเดลิเวอรี่ข้ามชาติสัญชาติเยอรมันเช่นกัน ทำให้ Foodpanda กลายเป็นบริษัทลูกของ Delivery Hero

ต่อมาในปี 2012 Foodpanda เริ่มบุกตลาดไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเจ้าแรก ๆ ของตลาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บริษัทเข้ามาเปิดให้บริการ ในช่วงเริ่มต้น Foodpanda มุ่งเน้นการให้บริการในกรุงเทพมหานคร ด้วยกลยุทธ์ที่เรียกว่า "Hyperlocalization" เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคและร้านค้าพันธมิตรในแต่ละพื้นที่

จุดเด่นในยุคแรกของ Foodpanda คือการมีแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย มีร้านอาหารให้เลือกหลากหลาย และการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อลูกค้า ร้านอาหาร และไรเดอร์อย่างมีประสิทธิภาพ การตอบรับจากตลาดในช่วงแรกถือว่าดี Foodpanda สามารถขยายเครือข่ายร้านอาหารพันธมิตรเป็นกว่า 1,600 ร้าน และขยายพื้นที่ให้บริการไปยังเมืองใหญ่อื่น ๆ เช่น เชียงใหม่ และพัทยา ภายในเวลาไม่กี่ปี

ต่อมาตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ก็มาพร้อมการแข่งขันที่ดุเดือดเช่นกัน โดยข้อมูลจาก Redseer Strategy Consultant มีการคาดการณ์มูลค่าตลาดรวม (GMV) ของฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาทในปี 2023 เป็น 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2.4 แสนล้านบาทในปี 2028 การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การขยายตัวของเมือง วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ความต้องการความสะดวกสบาย และความหลากหลายของอาหาร

เกิดอะไรขึ้นกับ Foodpanda? ปัจจัยที่นำไปสู่การปิดตัวมากกว่าแค่เรื่องเงิน

1. ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง

Delivery Hero ซึ่งเป็นบริษัทแม่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ Foodpanda ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิต่อเนื่องเป็นเวลานาน จากการตรวจสอบงบการเงินเบื้องต้นพบว่า แม้จะเปิดให้บริการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2555 แต่บริษัทไม่เคยประกาศตัวเลข “กำไรสุทธิ” ได้เลยแม้แต่ปีเดียว

ปี 2555 รายได้ 1,158,239.99 บาท ขาดทุน 13,811,872.90 บาท

ปี 2556 รายได้ 3,985,308.04 บาท ขาดทุน 22,268,660.73 บาท

ปี 2557 รายได้ 13,278,094.54 บาท ขาดทุน 45,692,769.30 บาท

ปี 2558 รายได้ 121,453,406.77 บาท ขาดทุน 98,672,494.69 บาท

ปี 2559 รายได้ 135,083,182.8 บาท ขาดทุน 93,255,166.65 บาท

ปี 2560 รายได้ 210,210,534.21 บาท ขาดทุน 39,567,154.80 บาท

ปี 2561 รายได้ 240,724,644.64 บาท ขาดทุน 138,795,390.50 บาท

ปี 2562 รายได้ 16,897,647.22 บาท ขาดทุน 1,264,503,583.82 บาท

ปี 2563 รายได้ 4,243,384,415.00 บาท ขาดทุน 3,595,901,657.00 บาท

ปี 2564 รายได้ 6,708,845,873.00 บาท ขาดทุน 4,721,599,978.00 บาท

ปี 2565 รายได้ 3,246,460,655.00 บาท ขาดทุน 3,255,107,979.00 บาท

ปี 2566 รายได้ 2,398,533,706.00 บาท ขาดทุน 522,486,848.00 บาท

2. ฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทย ตลาดแบบ Duopoly

สำหรับผู้เล่นหลักในประเทศไทย ได้แก่

  • GrabFood: พัฒนามาจากบริการเรียกรถ มีเครือข่ายไรเดอร์ขนาดใหญ่และแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยม
  • LINE MAN Wongnai (LMWN): เกิดจากการควบรวมระหว่าง LINE MAN และ Wongnai แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหาร ใช้ประโยชน์จากฐานผู้ใช้แอปพลิเคชัน LINE ที่มีอยู่เดิม และมีเครือข่ายร้านอาหารขนาดใหญ่จาก Wongnai
  • ShopeeFood: ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee และฐานลูกค้าเดิม
  • Robinhood: เปิดตัวโดยกลุ่ม SCBX โดยมีจุดเด่นคือโมเดลไม่เก็บค่าคอมมิชชัน (GP) จากร้านอาหารในช่วงแรก และประกาศปิดตัวเมื่อ 31 กรกฎาคม 2567 แต่ต่อมามีการประกาศเข้าซื้อกิจการโดยกลุ่มผู้ลงทุนนำโดย กลุ่มยิบอินซอย
  • Foodpanda แม้จะเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก แต่ส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง

จากที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมดนั้น กลับมีผู้เล่นแค่สองราย คือ GrabFood และ LINE MAN Wongnai ที่ครองตลาด โดยมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันสูงกว่า 80% ทำให้ผู้ท้าชิงอันดับสาม สี่ มีส่วนแบ่งที่ห่างไกลออกไปพอสมควร แทบจะมีพื้นที่ว่างน้อยมากในการตีตื้นขึ้นมา ทำให้ตลาดนี้กลายเป็นลักษณะกึ่งผูกขาดโดยผู้เล่นรายใหญ่แค่สองราย (Duopoly)

ดังนั้น Foodpanda ตกอยู่ในสถานะผู้เล่นอันดับท้ายที่ตามอยู่ห่าง ๆ แม้ว่าจะพยายามแข่งขันด้านราคา โปรโมชั่น ค่าจัดส่ง หรือโมเดลธุรกิจที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ก็ตาม แต่ทั้งหมดส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น พร้อมกับอัตราในการทำกำไรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

3. วิกฤติแบรนด์ปี 2021 บั่นทอน Network Effect

หากใครยังจำกันได้ ย้อนกลับไปในปี 2021 ที่ Foodpanda เจอวิกฤติความเชื่อมั่น ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับแบรนด์ Foodpanda จนเกิดกระแส #BanFoodpanda ในโลกออนไลน์ ทำให้ Foodpanda สูญเสียผู้ใช้ในระยะเวลาอันสั้น เมื่อผู้ใช้เริ่มหายไปในเวลาไม่นาน สิ่งที่ตามมาคือการกระทบต่อเครือข่ายของแพลตฟอร์ม (Network Effect) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจแบบนี้ เพราะยิ่งมีคนใช้มาก ก็ยิ่งดึงดูดร้านอาหารและไรเดอร์ได้มาก แต่เมื่อคนเริ่มถอนตัว วงจรนี้ก็เริ่มสะดุดทันที

4. เจรจาขายกิจการล้มเหลว

ในช่วงปลายปี 2023 ถึงต้นปี 2024 มีรายงานว่า Delivery Hero กำลังเจรจาเพื่อขายธุรกิจ Foodpanda ในหลายประเทศแถบอาเซียน รวมถึงประเทศไทย โดยมี Grab เป็นผู้ซื้อที่มีศักยภาพมากที่สุด และมีข่าวเชื่อมโยง LMWN กับการซื้อกิจการเฉพาะในส่วนของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การเจรจาดังกล่าวได้สิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 โดยไม่มีการบรรลุข้อตกลง เนื่องจากไม่สามารถตกลงในเงื่อนไขพื้นฐานกับผู้ซื้อได้ เมื่อไม่สามารถขายกิจการ การปิดกิจการจึงกลายเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

(อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :

ในที่สุด เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 Delivery Hero ก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะยุติการให้บริการแพลตฟอร์ม Foodpanda โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป เหตุผลอย่างเป็นทางการที่ระบุคือ การปรับกลยุทธ์ทางภูมิศาสตร์ให้เหมาะสม โดยจะมุ่งเน้นทรัพยากรไปยังตลาดในเอเชียแปซิฟิกที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งสอดคล้องกับการถอนตัวออกจากตลาดอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ เช่น เดนมาร์ก กานา สโลวาเกีย และสโลวีเนีย และระบุว่าสภาพแวดล้อมทางการตลาดในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์การพัฒนาระยะยาวอีกต่อไป

จากการถอนตัวของ Foodpanda จากตลาดในประเทศไทยครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญว่า การเข้าตลาดก่อน ไม่ได้แปลว่าจะอยู่รอดในระยะยาว ธุรกิจเดลิเวอรี่จำเป็นต้องมี ขนาดที่ใหญ่พอ (Scale) บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ (Operational Efficiency) และเข้าใจผู้บริโภคท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง (Localization) นอกจากนี้ยังมีอีกความท้าทายสำคัญ คือ ปัญหาการทำกำไรเป็นจุดอ่อนร่วมของอุตสาหกรรมนี้ ที่ต้องบอกว่า แม้แต่ผู้เล่นระดับโลกก็ยังต้องควบรวมกิจการ หรือถอนตัวจากบางประเทศ เพื่ออยู่รอด หรือแม้แต่กับผู้เล่นรายใหญ่บางราย ก็ต้องปรับโมเดลธุรกิจไปสู่บริหารที่ทำกำไรได้สูงกว่า อย่างการทำเป็น Super App อย่างที่เราคุ้นเคยกัน

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)