จีนจัดแข่งวิ่งมาราธอนระหว่างคนกับหุ่นยนต์ โดยมีหุ่นยนต์ 21 ตัวเข้าร่วมในการแข่งครั้งนี้ด้วย และมีเพียงแค่ 4 ตัวเท่านั้นที่สามารถเข้าเส้นชัยภายในเวลาที่กำหนดไว้ โดยมี “Tiangong Ultra” หุ่นยนต์สูง 5 ฟุต 10 นิ้ว ที่สามารถเข้าสู่เส้นชัยได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง 40 นาที สะท้อนให้เห็นความพัฒนาของเทคโนโลยีจีนที่ก้าวกระโดด
ในวันเสาร์ที่ผ่านมานั้น ประเทศจีนได้จัดการแข่งขันที่เรียกว่า "ฮาล์ฟมาราธอน" (Half Marathon) สำหรับหุ่นยนต์” ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการจัดแข่งวิ่งมาราธอนที่นักกีฬาไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่ยังมีหุ่นยนต์ 21 ตัวเข้าร่วมในการแข่งครั้งนี้ด้วย และมีเพียงแค่ 4 ตัวเท่านั้นที่สามารถเข้าเส้นชัยภายในเวลาที่กำหนดไว้ 4 ชั่วโมง
งานนี้เป็นที่สนใจของหลาย ๆ คนเพราะมีหุ่นยนต์ Humanoid (ฮิวแมนนอยด์) ที่อ้างว่าเป็นรุ่นที่ดีที่สุดของจีนบางตัวเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนร่วมกับนักวิ่งมนุษย์ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่และน่าจับตาดูว่าเทคโนโลยีของประเทศจีนนั้นจะล้ำสมัยแค่ไหน
โดยมี "Tiangong Ultra" หุ่นยนต์สูง 5 ฟุต 10 นิ้ว สามารถเข้าสู่เส้นชัยได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง 40 นาที แต่ก็ยังนับว่าช้ากว่านักวิ่งมนุษย์ที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการคว้าเหรียญทอง ส่วนหุ่นยนต์อีก 3 ตัวที่เหลือใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมงในการวิ่งจบระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร
การแข่งขันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของจีนในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ AI, หุ่นยนต์ ไปจนถึง Semiconductor ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่รัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงให้ความสำคัญเพื่อเพิ่มความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ผลการแข่งขันที่ควรจะน่าประทับใจนั้นกลับเต็มไปด้วยความขบขันเมื่อหุ่นยนต์หลายตัวล้มระหว่างทางและจำเป็นต้องถอนตัวกลางคันเนื่องจากไปต่อไม่ไหว หนึ่งในนั้นกลับพังตั้งแต่เพิ่งเริ่มสตาร์ท ขณะที่อีกตัวศีรษะหลุดกลิ้งไปกับพื้น และอีกตัวที่ล้มชิ้นส่วนกระจาย
แม้ว่าหุ่นยนต์หลายตัวจะไม่สามารถวิ่งเร็วพอที่จะเข้าเส้นชัยได้ทันเวลา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีหุ่นยนต์ "Tiangong Ultra" ที่เป็นความหวังเพราะสามารถวิ่งเข้าสู่เส้นชัยได้ด้วยความเร็วเฉลี่ยราว 5 ไมล์ต่อชั่วโมงและดูเหมือนนักกีฬาที่เป็นมนุษย์จริง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของจีนที่เติบโตมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
Tiangong Ultra ถูกพัฒนาโดยสถาบันวิจัย X-Humanoid ในปักกิ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน รวมถึงได้ทุนจากบริษัท Xiaomi และ UBTech Robotics
"ผมไม่อยากคุยโม้ แต่ผมคิดว่าไม่มีบริษัทหุ่นยนต์ไหนในตะวันตกที่จะประสบความสำเร็จด้านกีฬาเหมือน Tiangong ได้" Tang Jian ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์กล่าวกับรอยเตอร์
เช่นเดียวกับที่นักวิ่งมนุษย์จำเป็นต้องน้ำดื่มเพื่อเติมพลังในการวิ่ง ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นหุ่นยนต์เองก็ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ในระหว่างการแข่งขัน เช่น Tiangong ที่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ถึงสามก้อน
และบริษัทต่าง ๆ ที่พัฒนาหุ่นยนต์ได้รับอนุญาตให้สลับเปลี่ยนตัวหุ่นยนต์กับหุ่นสำรองได้ในกรณีที่ไม่สามารถแข่งขันต่อได้ เช่น ระบบมีปัญหา แต่การเปลี่ยนตัวจะมาพร้อมกับบทลงโทษ
กฎเกณฑ์ของการแข่งคือหุ่นยนต์ที่เข้าร่วมจะต้องมีลักษณะคล้ายมนุษย์และวิ่งด้วยขาสองข้าง และหุ่นยนต์แต่ละตัวมีลักษณะรูปร่าง ขนาด และน้ำหนักต่างกันไป
หนึ่งในนั้นมีหุ่นยนต์ตัวใหญ่ที่รูปร่างคล้าย Gundam จากอนิเมะญี่ปุ่น ติดพัดลมไว้ที่แขน แต่กลับควบคุมไม่ได้จนทำให้พุ่งชนแผงกั้นระหว่างนักวิ่งมนุษย์และหุ่นยนต์
และหุ่นยนต์หญิงเพียงหนึ่งเดียวในชื่อ "Huan Huan" ที่มีหัวเหมือนหุ่นโชว์และเกราะแบบ Storm Trooper ล้มตั้งแต่เริ่มวิ่ง ชิ้นส่วนกระจายเต็มสนาม และไม่สามารถวิ่งต่อได้
รวมถึงหุ่นยนต์ตัวเล็กที่สุดชื่อ "Little Giant" ซึ่งพัฒนาโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยท้องถิ่น สูงเพียง 75 เซนติเมตร วิ่งด้วยความเร็วแค่ 1.4 ไมล์ต่อชั่วโมง และรองรับคำสั่งเสียง แต่ในการแข่งขันจู่ ๆ มันก็หยุดกะทันหันเพราะควันพุ่งออกจากหัว
ในขณะที่ Jiang Zheyuan ผู้ก่อตั้ง Noetix Robotics ถึงกับยืนบนเก้าอี้เพื่อส่งเสียงเชียร์หุ่นยนต์ N2 ของเขาที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับสอง และกล่าวว่าการแข่งขันนี้ช่วยให้ลูกค้ารู้จักบริษัทของเขามากขึ้น และบริษัทเตรียมส่งมอบหุ่นยนต์ 700 ตัวในเดือนหน้าในราคาตัวละ 6,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป
สะท้อนให้เห็นว่าการแข่งขันนี้ไม่เพียงแต่อวดเทคโนโลยีจีนที่พัฒนามากขึ้นเท่านั้น ยังเป็นโอกาสที่จะให้บริษัทเทคฯ ได้โปรโมทและขยายธุรกิจหุ่นยนต์ของจีนอีกด้วย
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney