Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

ทำไมไม่ควรใช้ AI ตรวจรอยร้าวผนังบ้าน-คอนโด จากเหตุแผ่นดินไหว ? และควรให้เป็นหน้าที่ของวิศวกร

Date Time: 1 เม.ย. 2568 15:16 น.

Summary

  • ว่าด้วยเรื่อง AI ตรวจรอยแตกร้าวผนังบ้าน-คอนโด จากเหตุแผ่นดินไหว แม่นยำจริงไหม เชื่อถือได้จริงหรือ ? ข้อจำกัดที่ไม่สามารถทดแทนวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือนผลกระทบและข้อจำกัดการเลือกใช้ AI เพื่อตรวจสอบรอยร้าวของอาคารและโครงสร้างต่าง ๆ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม

"รอยร้าวแบบนี้มันยังไงกันนะ ปลอดภัยไหม”

“จะรู้ได้ยังไงว่าไม่มีรอยร้าวซ่อนอยู่”

“AI ช่วยได้จริงหรือ ทำให้คนกลัวน้อยลงมั้ย”

สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIET) เตือนประชาชนเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในการใช้ Generative AI ช่วยตรวจสอบรอยร้าวและโครงสร้างอาคาร จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา หลังโลกออนไลน์แห่ใช้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่มีระบบ AI ประเมินผลรอยร้าวอย่างรวดเร็วจากการอัปโหลดรูปร่องรอยความเสียหายเข้าไปจนถึงการนำรูปไปถามใน ChatGPT

อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบัน AI มีบทบาทที่จะช่วยงานในหลายด้าน รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในอาคาร แต่การพึ่งพา AI โดยที่ไม่มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบโดยวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ AI Assistance ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อวิเคราะห์รอยร้าวโดยตรง อาจนำไปสู่ความเสี่ยงร้ายแรง ตั้งแต่ข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์ไปจนถึงการตัดสินใจผิดพลาดที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของพวกเราทุกคน

AI ตรวจสอบรอยร้าวได้อย่างแม่นยำจริงไหม?

ดร.ชาญวิทย์ บุญช่วย นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ให้ความเห็นว่า “โมเดล AI ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเฉพาะทางเพื่องานด้านวิศวกรรมโยธา แค่ให้ AI ดูภาพอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ AI ตัดสินใจได้ ถ่ายรูปให้ ChatGPT วิเคราะห์ ต่อให้จะใช้เวอร์ชันที่ฟรีหรือแบบเสียเงินหรือค่ายไหนก็ตาม การให้คำตอบอาจไม่ถูกต้อง”

มติชน มณีกาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง FLOAT16.CLOUD ระบุว่า ข้อกังวลของเรื่องนี้มีอยู่ 3 ประเด็น กล่าวคือ โมเดล AI หลายตัวที่เปิดให้ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีตัวเลือกใช้งานทั้งฟรีและเสียเงิน ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการประมวลและสร้างผลลัพธ์ของคำตอบที่แตกต่างกัน

สองคือการประมวลผลจากประวัติการใช้งานและข้อมูลที่เคยได้รับ แชตบอตในปัจจุบันส่วนใหญ่จะค่อนข้าง Personalize โดยการอ่านประวัติของเราด้วย ว่าเราชื่ออะไร หากประวัติการค้นหาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรอยร้าวหรือแผ่นดินไหวก่อนหน้านี้ AI อาจจะเอาประวัติที่เคยตอบไว้มาวิเคราะห์ใหม่แล้วได้คำตอบออกมาที่เกินความเป็นจริงไปจากรูป และสามคือ ChatGPT หรือ Gemini AI ทั่วไปยังขาด Context

“AI ทั่วไปไม่ได้ถูกเทรนข้อมูลเฉพาะทางเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหวและความเสียหายของตัวอาคาร ทำให้ขาดบริบทของข้อมูลและไม่สามารถแยกรอยร้าวที่เกิดขึ้นได้ว่าเป็นรอยร้าวที่เกิดจาก รอยร้าวจากงานสถาปัตฯ หรือ รอยร้าวจากโครงสร้าง”

ด้าน สถาพน พัฒนะคุหา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง GUARDIAN AI LAB กล่าวเสริมว่า แม้จะมี AI ที่เก่งเฉพาะด้านที่เข้าใจว่าร้าวไปถึงเหล็กแล้ว เนื้อปูน หรือเข้าใจในระดับโครงสร้าง แต่ว่าการที่จะเข้าใจไปถึงผลกระทบอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีข้อมูลโครงสร้างอาคารนั้น ๆ ด้วย เช่น ข้อมูลภาพ Floor Plan ของตึก ข้อมูลผังโครงสร้างทั้งหมด “เพราะ รูปจากผู้ใช้อย่างเดียวไม่สามารถบอกได้ถึงผลกระทบและข้อควรปฏิบัติต่อต่อไปที่ถูกต้องให้กับผู้คน”

“รอยแตกร้าวที่เราเห็น อาจเกิดจากสาเหตุได้หลายแบบ เช่น มีแรงมากระทำ แผ่นดินไหว แรงลม รถมากระแทก หรือยืดหดตัว จึงเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก ๆ และการจะบอกว่าเกิดจากสาเหตุใดต้องการข้อมูลสภาพแวดล้อมเชิงลึก” ชูเลิศ จิตเจือจุน อุปนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างอาคารสูง เสริมในมุมวิศวกรโยธาฯ

เบื้องต้นการทำงานวิศวกรจะต้องเข้าไปดูที่หน้างานเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลรอยร้าวได้อย่าง 360 องศา รวมถึงการเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมตั้งแต่ด้านนอกจนถึงด้านใน รอยร้าวปกติเราจะเห็นในลักษณะของ Zoom in แต่ในความเป็นจริงจะต้องรู้ในลักษณะทั้ง Zoom out และ Zoom in ครอบทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้น มันต้องเก็บข้อมูลเยอะมาก ไม่สามารถที่จะมองแค่รูปถ่ายแล้วสรุปออกมาได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้การประเมินจากวิศวกรยังแตกต่างตามกันความสามารถและความเชี่ยวชาญ บางเคสวิศวกรมีประสบการณ์หรือหากมีความรู้ความเข้าใจน้อย พอไปเห็นรอยแตกร้าวก็อาจนำไปสู่การประเมินความเสียหายที่เกิดขอบเขตความเป็นจริง หรือบางครั้งอาคารบิดเบี้ยวเสียหายเยอะ แต่กลับบอกว่า “ยังปลอดภัยดี” ก็จะมีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหาคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริง ๆ ชูเลิศ กล่าว 

หากใช้ตรงจุด AI จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้มหาศาล

สถาพน กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องเข้าใจว่า AI Assistance ในปัจจุบันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนงานประเภทนี้โดยเฉพาะ ทั้งในแง่ข้อมูลที่ใช้เทรนแง่ความถูกต้องและในแง่ความถูกต้องน่าเชื่อถือ ดังที่กล่าวไปข้างต้น

หากเราต้องนำ AI เข้ามาช่วยจริง ๆ ต้องดูรูปแบบและวัตถุประสงค์ของ AI นั้น ๆ ยกตัวอย่าง การพัฒนาแชตบอตลดภาระของเจ้าหน้าที่เพื่อสร้าง Center of communication สำหรับตอบคำถามประชาชนในสถานการณ์วิกฤตไปจนถึงการแจ้งเตือนประชาชน หรือการลดความเสี่ยงที่มนุษย์ต้องเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่อันตราย เช่น ตึกสูงหรือสะพานที่มีโอกาสพังทลาย

การเอา AI มาใช้ในเรื่องนี้ในต่างประเทศมักจะใช้โดรนบินวนรอบตึกแล้วใช้ระบบวิเคราะห์หาพวกจุดที่ต้องเข้าควบคุมหรือจุดที่ต้องซ่อม หรือว่าทีมไทยที่เข้าไปช่วยคนจากเหตุการณ์ตึกถล่มในไซต์ โดยการยิงคลื่นออกไปเพื่อระบุจุดที่มีคนอยู่แล้วใช้ AI ในการวิเคราะห์คลื่นที่ได้มา หรือในแง่ของการทำ Crisis Management เรื่องการสื่อสาร หรือเรื่อง Post - Crisis ยังมีมุมที่ AI ช่วยประโยชน์ได้อีกเยอะ

สรุปว่าแม้ AI จะมีศักยภาพในการช่วยประเมินโครงสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ใช้ฝึก AI ขอบเขตความสามารถของอัลกอริทึม และการขาดปัจจัยทางวิศวกรรมที่ AI อาจมองข้าม

การใช้ AI โดยปราศจากการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญอาจทำให้เกิดการประเมินผิดพลาด ซึ่งนำไปสู่การละเลยรอยร้าวที่เป็นอันตรายหรือในทางกลับกัน อาจทำให้เกิดการตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น ดังนั้น แทนที่จะใช้ AI เป็นเครื่องมือเดียวในการตัดสินใจ ควรใช้งานร่วมกับการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญและมาตรฐานทางวิศวกรรมที่เข้มงวด เพราะปลายทางยังไงก็ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการประเมินความเสียหายหลังแผ่นดินไหวมีความแม่นยำและปลอดภัยที่สุด

ทั้งนี้เราสามารถตรวจสอบและประเมินด้วยตัวเองเบื้องต้นง่าย ๆ ยกตัวอย่าง ข้อมูล Guideline จาก กทม. ที่ได้แบ่งรอยร้าวเป็น 2 ประเภทที่สามารถตรวจสอบด้วยตนเอง ได้แก่ “รอยร้าวที่ไม่อันตราย” (รอตรวจภายหลังได้) เช่น ผนังร้าวแต่ยังมั่นคง ผลักแล้วไม่โยก กระเบื้องพื้นร่อน สีหลุด คานร้าวขนานใต้คาน เสาร้าวเล็ก ๆ แต่ไม่โก่ง ฝ้าเพดานหลุดหรือเสียหาย และ “รอยร้าวที่ควรแจ้งทันที” (เสี่ยงอันตราย) เช่น กำแพงเอน มีแนวโน้มพังล้ม พื้นแอ่น เห็นเหล็กเสริม คานร้าวเฉียงหรือปริจนเห็นเหล็ก รวมถึงเสาโก่ง หรือคอนกรีตระเบิดจนเห็นเหล็ก รอยร้าวประเภทนี้ ถ้าพบควรรีบแจ้งทีมสำรวจเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในพื้นที่

อ่านเพิ่มเติม 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)