Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

ไทยต้องเดินเกมให้ถูก นักวิชาการชี้ โตได้ไม่ต้องใช้งบเยอะ ดึงจุดแข็ง Open-Source ทำ AI เฉพาะทาง

Date Time: 25 มี.ค. 2568 15:46 น.

Summary

นักวิชาการ TDRI เผยความเห็น อุตสาหกรรม AI กำลังมีการแข่งขันอย่างดุเดือด ประเทศไทยที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณและขาดบุคลากรเฉพาะทางต้องไปในทิศทางไหนเพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์และสร้างความได้เปรียบให้กับประเทศ

ชัดเจนแล้วว่า “อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์” (AI) กำลังกลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่ร้อนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เราเห็นแล้วว่าไม่ใช่แค่บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง OpenAI, Microsoft, Google และ Meta ต่างทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี แต่เรายังได้เห็นความเคลื่อนไหวของยักษ์ใหญ่จากแดนมังกรเช่นเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สหรัฐฯ ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อพัฒนา AI ที่เก่งเทียบเท่าหรืออาจมากกว่ามนุษย์ แต่ขั้วตรงข้ามอย่างจีนใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างออกไปโดยเน้นการลดต้นทุนและใช้โมเดล AI แบบเปิด (Open Source) เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน จากความสำเร็จของ DeepSeek เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่า แม้จีนจะเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีชิปจากสหรัฐฯ แต่สามารถพัฒนาโมเดลที่มีประสิทธิภาพเทียบเคียง OpenAI ได้ในราคาต่ำกว่าถึง 95% พิสูจน์ให้เห็นว่า AI ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะหรือเทคโนโลยีระดับสูงก็สามารถสร้าง AI ได้เช่นกัน 

เมื่องบประมาณและบุคลากรมีอย่างจำกัด ไทยควรเดินเกมยังไงในยุคที่ AI เฟื่องฟู

นอกจากนี้หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป กำลังผลักดันแนวคิด Sovereign AI หรือการมีอธิปไตยทาง AI เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากเหล่าบิ๊กเทคในสหรัฐฯ จนเกิดคำถามว่า ประเทศไทยมีแนวทางอย่างไร?

ดร.สลิลธร ทองมีนสุข และ นภสินธุ์ คามะปะโส นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นว่า เรื่องนี้ประเทศไทยอาจเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากรที่ต้องมีความเชี่ยวชาญสูง การแข่งขันกับมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีโดยตรงในแง่ของเงินทุนและขนาดของโครงสร้างพื้นฐาน AI อาจไม่ได้คุ้มเสีย อย่างไรก็ตามนักวิจัยทั้งสองท่านแสดงความเห็นว่า ไทยสามารถสร้างความได้เปรียบด้วย 3 แนวทางหลัก ๆ ประกอบด้วย

  1. พัฒนา Task-Specific AI – มุ่งเน้น AI เฉพาะทาง นักวิชาการแนะว่าแทนที่จะทุ่มเททรัพยากรไปกับการสร้าง General AI ขนาดใหญ่ ไทยสามารถเลือกพัฒนา AI สำหรับงานเฉพาะด้านเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในระดับท้องถิ่นและธุรกิจภายในประเทศ เช่น ภาคเกษตร ท่องเที่ยว หรือการผลิต โดยข้อดีของการมี AI เฉพาะทาง คือ ต้นทุนน้อยกว่าและเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างตรงจุดมากกว่า เพราะมีการออกแบบให้ตรงกับความต้องการโดยเฉพาะและไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพราะ AI สามารถทำงานบนระบบประมวลผลที่เล็กได้
  2. สนับสนุน Edge Data Center ภายในประเทศ ผลักดันการจัดตั้ง Edge Data Center หรือศูนย์ข้อมูลขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในประเทศ ช่วยลดการพึ่งพาศูนย์ข้อมูลต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องการประมวลผลแบบเรียลไทม์ เช่น IoT, รถยนต์อัตโนมัติ รวมถึงบริการสตรีมมิ่ง ซึ่งศูนย์ข้อมูลขนาดเล็กนี้จะช่วยให้ลดเวลาแฝงในการประมวลผล ทำให้ AI ทำงานเร็วขึ้น และยังลดต้นทุนให้กับธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถลงทุนในศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ได้
  3. ใช้ Open-Source AI เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ แนวทางการพัฒนาโมเดลโดยใช้พื้นฐานของ Open-Source AI เช่น LLaMA, Falcon หรือ Stable Diffusion ที่ถูกใช้กันอย่างกว้างขวางนั้นจะส่งผลให้ไทยสามารถลดต้นทุนในการพัฒนา AI และปรับแต่งโมเดลให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของประเทศ เช่น ภาษาไทย ทั้งยังเพิ่มความโปร่งใสเพราะมีความปลอดภัยและสามารถตรวจสอบโค้ดได้

เดินเกมให้ถูก สร้างระบบนิเวศ AI ที่สมดุล

ในขณะที่สหรัฐฯ เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้วยงบมหาศาล และจีนเลือกใช้แนวทางต้นทุนต่ำด้วย Open-Source AI นั้น นักวิชาการชี้ว่าไทยควรเลือกแนวทางที่เหมาะกับบริบทของตนเอง โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา AI เฉพาะทาง, สนับสนุน Edge Data Center ภายในประเทศ รวมถึงปรับแต่ง Open-Source AI ให้เหมาะสมกับการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ AI ในไทยต้องมาพร้อมระบบนิเวศที่สมดุล ทั้งการพัฒนาทักษะแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และนโยบายรัฐที่เท่าทันโลก ซึ่งการสร้างระบบนิเวศ AI ที่สมดุล ระหว่างภาคเอกชนและการสนับสนุนจากภาครัฐ การพัฒนาทักษะบุคลากรอย่างต่อเนื่อง นั้นจะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันไทยให้สามารถใช้ AI เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างความสามารถในการแข่งขันในยุคดิจิทัลได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบมหาศาล

หากไทยเดินเกมถูก การพัฒนาและใช้เทคโนโลยี AI ได้จริงจะสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในภาคเกษตร การท่องเที่ยว การผลิต และบริการภาครัฐ ตลอดจนผลตอบแทนต่อ GDP ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแข่งขันกับตลาดโลก

อ่านเพิ่มเติม

อ้างอิงข้อมูลจาก TDRI 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)