ผ่านมาแล้วกว่า 2 ปีนับตั้งแต่ OpenAI เปิดตัว ChatGPT แชทบอต GenAI ที่ได้กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก จนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตสำหรับใครหลายคนไปแล้ว ทั้งใช้ในการทำงาน ค้นหาข้อมูล แนะนำแหล่งท่องเที่ยว ไปจนถึงคุยเป็นเพื่อนคลายเหงา จนปัจจุบัน ChatGPT มีผู้เข้าใช้งานสูงกว่า 400 ล้านคนต่อสัปดาห์
ตามรายงานของ Business Insider ชี้ว่า การใช้งานเครื่องมือ AI อย่างเช่น ChatGPT สามารถช่วยให้กระบวนการทำงานนั้นมีประสิทธิภาพ ช่วยลดเวลาการทำงานลงได้ และทำให้ผู้ใช้มีความสุขมากขึ้น แต่ล่าสุดมีงานวิจัยออกมาว่า การใช้ ChatGPT บ่อยเกินไปก็อาจทำให้ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น
นักวิจัยของ OpenAI ร่วมกับ MIT Media Lab ได้นำเสนองานวิจัยที่ได้จากการวิเคราะห์บทสนทนาของผู้ใช้กับ ChatGPT กว่าหลายล้านบทสนทนา ตลอดจนแชทเสียงที่โต้ตอบกับ ChatGPT อีกหลายพันแชท อีกทั้งยังได้สำรวจผู้ใช้งานอีกกว่า 4,000 คน เพื่อศึกษาเรื่องพฤติกรรมในการใช้งานแชทบอต
นอกจากนี้ ทาง MIT Media Lab ยังได้ทำการวิจัยเพิ่มเติม ผ่านการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อีกรวม 1,000 คนที่ใช้งานและมีปฏิสัมพันธ์กับ ChatGPT ในระยะเวลาตลอด 4 สัปดาห์ โดยเก็บข้อมูลทั้งจากข้อความและเสียง ในการสนทนาแบบส่วนตัว แบบทั่วไป และแบบปลายเปิด
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มามีความซับซ้อน เนื่องจากความรู้สึกโดดเดี่ยวและการแยกตัวทางสังคม (Social Isolation) เป็นสิ่งที่ผันผวนและได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่า กลุ่ม Power Users หรือผู้ใช้ระดับสูง มีแนวโน้มที่จะรู้สึกเหงามากขึ้นเมื่อใช้ ChatGPT
โดยทีมวิจัยได้วิเคราะห์บทสนทนาเพื่อมองหาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ความเหงา ความเปราะบาง การใช้งานที่อาจเป็นปัญหา ความมั่นใจในตัวเอง และการพึ่งพา AI พบว่า “มีผู้ใช้เพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีการใช้ภาษาที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก (Affective Cues) มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่มันมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการใช้งานเครื่องมือ AI แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่สมส่วนก็ตาม”
สำหรับคำว่า “Affective Cues” หรือ สัญญะทางภาษาที่สื่อได้ทั้งทางวัจนภาษา (Verbal) และอวัจนภาษา (Nonverbal) ที่บ่งบอกถึงสภาวะทางอารมณ์ของบุคคล
ซึ่งงานวิจัยยังพบอีกว่า “ในขณะที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ใช้เวลาน้อยมากไปกับการสนทนากับแชทบอต AI แต่ก็มีผู้ใช้งานส่วนหนึ่ง (ที่แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ) หรือกลุ่ม Power Users ที่ใช้เวลานานมากผิดปกติ” โดยทีมวิจัยยังได้วัดทั้ง “ระดับความเหงาในเชิงความรู้สึก” และ “ระดับการเข้าสังคมที่แท้จริง” เพื่อแยกแยะว่าผู้ใช้รู้สึกโดดเดี่ยวจริง ๆ หรือเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเท่านั้น
“ผู้ใช้งาน ChatGPT ยิ่งใช้ในระยะเวลานานเท่าไหร่ (ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาในรูปแบบใดก็ตาม) มีแนวโน้มที่จะรู้สึกเหงามากขึ้น พึ่งพา AI มากขึ้น และมีพฤติกรรมการใช้งานที่อาจเป็นปัญหา จนอาจจะถึงขั้นมีระดับการเข้าสังคมที่ลดลง หรือแยกตัวออกจากสังคมนั่นเอง”
นอกจากนี้ ในงานวิจัยยังได้มีการติดตามการใช้งานโหมดแชทด้วยเสียงของ ChatGPT และพบประเด็นที่น่าสนใจว่า โหมดแชทด้วยเสียงของ ChatGPT สามารถช่วยลดความรู้สึกเหงาได้ แต่กลุ่มที่รู้สึกเหงามากอยู่แล้วมีแนวโน้มที่จะใช้ AI มากเกินไป จนทำให้สถานการณ์แย่ลงในระยะยาว
ในทั้งสองงานวิจัยยังได้ทดลองให้ ChatGPT ใช้ Advanced Voice Mode ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เสียงในการโต้ตอบ โดยทดสอบ 2 รูปแบบคือ
ซึ่งผลวิจัยพบว่า Power Users รู้สึกเหงามากขึ้นเมื่อใช้ “โหมดเป็นกลาง” มากกว่า “โหมดมีส่วนร่วม”
ทั้งนี้ การศึกษาทั้งหมดได้ใช้งาน ChatGPT โมเดล GPT-4o ซึ่งเป็นโมเดลที่ OpenAI เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2024 ขณะที่ GPT-4.5 ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนที่แล้ว ถูกระบุว่ามีความสามารถในการเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกมากขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าทีมวิจัยจะศึกษาเพิ่มเติมกับ GPT-4.5 หรือไม่
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความท้าทายของการศึกษาเทคโนโลยี AI คือการวัดผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้ใช้ เพราะในหลายกรณี แม้แต่ตัวผู้ใช้เองก็อาจไม่สามารถอธิบายความรู้สึกที่มีต่อ AI ได้อย่างชัดเจน
“ผู้ใช้บางคนอาจไม่ได้ตั้งใจใช้ ChatGPT เพื่อวัตถุประสงค์ทางอารมณ์ แต่การเป็นมนุษย์นั้นแยกออกจากปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีไม่ได้” Kate Devlin ศาสตราจารย์ด้าน AI และสังคมศาสตร์แห่ง King’s College London กล่าว แม้เธอจะไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยก็ตาม
ท้ายที่สุดแล้ว งานวิจัยนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจ ว่าการมี AI ที่เข้าใจความรู้สึกมากขึ้นนั้น จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อมนุษย์กันแน่?
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney