Arm บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลมาเลเซีย จับมือให้สิทธิมาเลเซียในการออกแบบชิปและเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมาเลเซียจะเดินหน้าสร้าง 10 บริษัทชิปเป็นของตัวเองจากองค์ความรู้ที่ได้จาก Arm หวังผลักดันประเทศจากฐานการประกอบชิปไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้น
Arm Holdings Plc. ยักษ์ใหญ่ด้านออกแบบชิปจากอังกฤษ หนึ่งในบริษัทลูกของ SoftBank บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลมาเลเซีย จับมือให้สิทธิมาเลเซียในการออกแบบชิปและเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์เป็นระยะเวลา 10 ปี หวังผลักดันประเทศจากฐานการประกอบชิปไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้น
มาเลเซียซึ่งเป็นฐานการประกอบชิปกว่า 10% ของโลก ลงนามข้อตกลงมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 9,100 ล้านบาท) กับ Arm โดยรัฐบาลจะนำองค์ความรู้นี้มาใช้สนับสนุนบริษัทท้องถิ่นให้สามารถออกแบบชิปของตัวเอง พร้อมตั้งเป้าส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ให้แตะ 1.2 ล้านล้านริงกิต หรือประมาณ 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2030
ราฟิซี รามลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของมาเลเซีย กล่าวให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า “มาเลเซียต้องการก้าวจากการเป็นแค่ฐานทดสอบและประกอบชิป สู่การเป็นผู้ออกแบบและผลิตเอง” พร้อมย้ำว่ารัฐบาลเลือกที่จะพลิกเกม โดยจะร่วมมือกับ Arm เพื่อปั้นอีโคซิสเต็มเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศให้สมบูรณ์ขึ้น
ด้วยดีลนี้ มาเลเซียจะเดินหน้าสร้าง 10 บริษัทชิปเป็นของตัวเอง พร้อมตั้งเป้าสร้างรายได้รวมต่อปีสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่า ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นี้จะช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศได้ 1%
ปัจจุบัน มาเลเซียเป็นศูนย์กลางของโรงงานทดสอบและบรรจุชิป (Chip Packaging & Testing) ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตที่มีมูลค่าน้อยกว่า ยังไม่มีบทบาทสำคัญในเวทีออกแบบชิป แต่ประเทศนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานประกอบของบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง Intel, GlobalFoundries และ Infineon Technologies AG รวมถึงมีผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปในประเทศที่เริ่มขึ้นแท่นเป็นซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก จนดึงดูดให้ Applied Materials ย้ายฐานมาลงทุนที่นี่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลมาเลเซียเคยตั้งเป้าหมายให้มีการผลิตชิปของตัวเองภายใน 5-10 ปี แต่ล่าสุด ราฟิซี รามลี ได้ประกาศปรับเป้าหมายให้เร็วขึ้นเป็นภายใน 5-7 ปี โดยให้เหตุผลว่า ดีลกับ Arm จะช่วยย่นระยะเวลาพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้เร็วขึ้น เพราะหากต้องเริ่มจากศูนย์อาจใช้เวลานานเกินไป
การสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเอง ไม่เพียงช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของมาเลเซีย แต่ยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้ประเทศท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนโลก ซึ่งมีความเสี่ยงจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในช่วงที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ทวีความรุนแรง อีกทั้งมาเลเซียยังพึ่งพาการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้ามากถึง 40% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ทำให้การสร้างฐานการผลิตชิปในประเทศเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ
อย่างไรก็ตาม แม้มาเลเซียจะเริ่มปีนี้ด้วยมุมมองเชิงบวก โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอาจกลับมาเติบโตเกิน 5% จากแรงหนุนของการใช้จ่ายและการลงทุน แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่รัฐบาลจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะแผนภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่อาจกระทบเศรษฐกิจของประเทศ
ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุว่า อาจตั้งกำแพงภาษี 25% กับสินค้านำเข้ากลุ่มยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และเภสัชภัณฑ์ โดยคาดว่าจะมีประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งถือเป็นแรงกดดันสำคัญ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 3 ของมาเลเซีย
นอกจากนี้ มาเลเซียยังเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาไต้หวัน ซึ่งเป็นฐานผลิตชิปที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และปัญหาขาดแคลนชิปช่วงโควิด-19 ก็กระตุ้นให้หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และจีน เริ่มลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น
เรเน ฮาส ซีอีโอของ Arm ระบุว่า “การตัดสินใจของรัฐบาลมาเลเซียครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างระบบนิเวศด้านเซมิคอนดักเตอร์ให้เกิดขึ้นจริง”
และท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลมาเลเซียก็เตรียมรับมืออย่างรอบคอบ โดยกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม มีคาดการณ์ว่า การลงทุนที่ได้รับการอนุมัติในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 5% อีกด้วย
ที่มา: Bloomberg
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney