รู้จัก "Silicon Valley" ทำไมเป็นต้นแบบศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ใครก็ใฝ่ฝัน

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รู้จัก "Silicon Valley" ทำไมเป็นต้นแบบศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ใครก็ใฝ่ฝัน

Date Time: 9 ก.พ. 2568 10:05 น.

Video

“SOURI” อาณาจักรขนม วิน-เมธวิน | Brand Story Exclusive EP.6

Summary

  • Silicon Valley บ้านเกิดบิ๊กเทคผู้กำหนดเทรนด์ระดับโลก ศูนย์กลางเทคโนโลยีและการเริ่มต้นธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่นที่สุดในโลกมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ทำไมพื้นที่แห่งนี้ถูกเรียกว่าเป็นเครื่องยนต์ของผู้ประกอบการที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดให้กับสหรัฐอเมริกา

Latest


Thairath Money ครั้งนี้พาย้อนกลับไปที่ประวัติศาสตร์ของ Silicon Valley วิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจได้ดีว่าทำไมรัฐบาลหลายประเทศมีเป้าหมายสร้าง Silicon Valley ของตนเอง อะไรทำให้ Silicon Valley กลายเป็นฮับของสายเทค

หุบเขาแห่งเทคโนโลยี

“Silicon Valley” ตั้งอยู่ในภูมิภาคอ่าวซานฟรานซิสโกตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,790 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ตะวันตกของเมืองอลาเมดา ซานโฮเซ เรดวูดซิตี้ เมาน์เทนวิว พาโลอัลโต ไล่เรียงลงมาถึงหุบเขาซานตาคลารา ซานตาครูซ ซานมาเตโอ

หุบเขาแห่งนี้เป็นที่รู้จักในฐานะ “ศูนย์กลางของบริษัทเทคโนโลยี” ที่ขับเคลื่อนความเป็นไปของนวัตกรรมมายุคต่อยุค บริษัทซอฟต์แวร์ไอทีน้อยใหญ่จำนวนมากก่อตั้งและยังคงมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นี่ อาทิ Apple, Meta, Google, Microsoft, eBay, X (Twitter), IBM และ Intel นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่ง ทั้งสแตนฟอร์ดและแคลิฟอร์เนียที่เปรียบเหมือนเชื้อเพลิงสำคัญที่จุดประกายไฟให้กับนักพัฒนา ผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ได้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ในช่วงเริ่มต้น

อยู่ดี ๆ หุบเขาเขียวขจีที่เต็มไปด้วยผลไม้ดอกไม้นานาพรรณจนได้ชื่อว่า “The Valley of Heart’s Delight” กลายเป็นพื้นที่แห่งการบุกเบิกเทคโนโลยีสำคัญ ๆ ที่พวกเราพึ่งพากันอยู่ทุกวันนี้ได้

The Center of Silicon Valley 

จุดเริ่มต้นของ Silicon Valley ถูกนับอย่างเป็นทางการราว ๆ ปี 1940 หลังจากวิลเลียม ฮิวเล็ท (William Hewlett) และเดวิด แพ็คการ์ด (David Packard) ผู้ก่อตั้ง Hewlett-Packard Co. หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ HP เริ่มก่อตั้งบริษัทของตนในโรงรถเล็กๆ ตามคำแนะนำของ ดร.เฟรเดอริก เทอร์แมน (Frederick Terman) คณบดีระดับตำนานของโรงเรียนวิศวกรรมศาสตร์สแตนฟอร์ด ผู้กรุยทางให้ผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงจำนวนมากในปัจจุบัน เหตุการณ์นี้มักได้รับการยกย่องว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้

ดร.เทอร์แมน มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานให้ Silicon Valley กลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลกในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง (1940-1960) ตั้งแต่การชักชวนนักวิจัยชั้นนำที่เคยร่วมงานกันในช่วงสงครามโลกให้มาร่วมงานที่สแตนฟอร์ด สร้างธรรมเนียมเฉพาะของคณะในการสนับสนุนให้นักศึกษาก่อตั้งธุรกิจของตนเอง เปิดพื้นที่ในมหาวิทยาลัยบางส่วนให้บริษัทเทคโนโลยีเช่านำไปสู่การก่อตั้ง Stanford Industrial Park และ Stanford Research Park ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและเมืองพาโลอัลโต โดยเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีทั้งทางการทหารและเชิงพาณิชย์สำหรับบริษัทต่างๆ เช่น Hewlett-Packard, Lockheed และ Xerox

ดร.เทอร์แมน ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่ง Silicon Valley" วิสัยทัศน์และการดำเนินการของ ดร.เทอร์แมน ได้วางรากฐานระบบนิเวศทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่เป็นต้นแบบของพื้นที่นวัตกรรมในปัจจุบัน

พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นแหล่งรวมนักพัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำที่ค่อย ๆ ดึงดูดนักวิชาการ นักวิจัย บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนักลงทุนที่มองหาความเสี่ยงที่คุ้มค่า ทำให้การกล่าวถึง Silicon Valley หลายคนนึกถึงจะถึงต้นกำเนิดงานวิจัยและนวัตกรรม จิตวิญญาณความเป็นสตาร์ทอัพ ที่มาของไลฟ์สไตล์สายเทค ตลอดจนวัฒนธรรมการทำงานสมัยใหม่ที่หลายคนถวิลหา

ทั้งนี้ คำว่า “Silicon Valley” ปรากฏครั้งแรกปี 1971 ในคอลัมน์ "Silicon Valley USA" ที่เขียนโดย ดอน โฮเฟลอร์ (Don Hoefler) นักข่าวสายสังคมและเทคโนโลยีของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Electronic News บรรยายถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังรุ่งเรืองในพื้นที่หุบเขาแห่งนี้

เขาหยิบยืมคำนี้มาจากบทสนทนาบนโต๊ะอาหารที่มีผู้ประกอบการคนหนึ่งเรียกแทนกลุ่มผู้พัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่นั้นที่ใช้ซิลิคอนจำนวนมากในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ โดยคำว่า “Silicon” หรือ ซิลิคอน คือ สารกึ่งตัวนำ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญสำหรับการผลิตชิปประมวลผล ทั้งการ์ดจอและไมโครโปรเซสเซอร์สมัยใหม่ที่ถูกนำมาใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิดบนโลก

"ยุคตื่นทอง สู่ ยุคตื่นนวัตกรรม"

Silicon Valley ถูกยกให้เป็นแหล่งกำเนิดของนวัตกรรมล้ำสมัยมากมายที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการกำหนดรูปลักษณ์ของโลกสมัยใหม่ ช่วงเวลาระหว่างปี 1968 ถึงต้นปี 2000 เป็นช่วงเวลาที่บริษัทต่างๆ ก่อตั้งขึ้นมากมาย เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ดึงดูดเงินหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้

ช่วงปี 1950 ถือกำเนิดของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดย วิลเลียม ช็อคเลย์ หนึ่งในผู้ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนในขณะนั้น ก่อตั้งห้องปฏิบัติการ Shockley Semiconductor บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจำนวนมากมายรับหน้าที่ผลิตทรานซิสเตอร์เพื่อใช้ในการทหาร ไม่นานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ก็ค่อยเติบโตอย่างต่อเนื่อง จุดประกายให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายที่ส่งเสริมให้เทคโนโลยีในภูมิภาคนี้เฟื่องฟู โดยที่โดดเด่นที่สุดในขณะนั้น คือ อุตสาหกรรมวิทยุโทรเลข การออกอากาศวิทยุเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ ครั้งแรกเกิดขึ้นที่นี่

ในปี 1968 กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) และโรเบิร์ต นอยซ์ (Robert Noyce) เดินทางมาที่ Silicon Valley เพื่อก่อตั้ง Intel ในเวลานั้น พวกเขาค้นพบการผลิตทรานซิสเตอร์ที่สามารถสร้างได้โดยใช้ซิลิคอน การค้นพบของพวกเขาทำให้เกิด Integrated circuit ที่สร้างจากซิลิคอนซึ่งใช้ในไมโครโปรเซสเซอร์ทั้งหมดในปัจจุบัน พวกเขาเป็นที่รู้จักจากการผลิตคอมพิวเตอร์ให้มีขนาดเล็กลง เร็วขึ้น และราคาถูกลง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมายที่ตามมา

ในช่วงทศวรรษปี 1970 และ 1980 คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น บริษัทซอฟต์แวร์เจ๋ง ๆ เริ่มเกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น Apple มีบทบาทสำคัญในการทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer) เข้าถึงได้สำหรับคนทั่วไป ต่อด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ iPhone ของ Apple ได้ผสมผสานโทรศัพท์เข้ากับความสามารถในการประมวลผลขั้นสูงที่เปลี่ยนอุตสาหกรรมมือถือและพฤติกรรมของผู้ใช้

ต่อมาในช่วงทศวรรษปี 1990 และต้นทศวรรษปี 2000 ยุคที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู ทำให้บริษัทต่างๆ เช่น Google, Yahoo และ eBay มีชื่อเสียงโด่งดัง Google ได้พัฒนาอัลกอริทึมการค้นหาอันทรงพลังซึ่งกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการนำทางข้อมูลจำนวนมากที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ต ตลอดจนโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Twitter ที่ได้เปลี่ยนแปลงการสื่อสารและการโต้ตอบทางสังคมทั่วโลก ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ชื่อเสียงของ Silicon Valley เป็นแหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีล้ำสมัย เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ มากมาย

Global Role Model ระบบนิเวศที่ไม่เหมือนใคร

ความสำเร็จของ Silicon Valley ขับเคลื่อนโดยระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับช่วงเริ่มต้น จากการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยระดับโลก การรวมตัวของบุคลากรด้านเทคโนโลยี และแนวคิดของผู้ประกอบการมาบรรจบกัน ทาเลนต์สั่งสมทักษะผู้ประกอบการตั้งแต่เริ่มต้นในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้การสร้างเครือข่ายและการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้นำในอุตสาหกรรมสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนนักพัฒนาและคนทั่วไปให้เข้ามาเรียนรู้ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์

ไม่เพียงแต่ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Silicon Valley ได้ประกอบสร้างระบบนิเวศเพื่อการระดมทุนที่มั่นคง ซึ่งผลักดันให้สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการกล้าคิดกล้าทำ โดยอุตสาหกรรม Venture Capital และ Silicon Valley มีความเชื่อมโยงและพึ่งพากันอย่างใกล้ชิด การมีอยู่ของบริษัท Venture Capital และเครือข่ายของผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นตัวเร่งสำคัญในการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่แห่งนี้

จิตวิญญาณสตาร์ทอัพ 

จะเห็นว่าตั้งแต่ยุคของชิปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ Silicon Valley ได้สร้างสรรค์ตัวเองขึ้นมาใหม่เสมอ การสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นจุดเด่นของแนวคิดใน Silicon Valley ทำให้วัฒนธรรมแห่งการเสี่ยง (Culture of Risk-Taking) และการเรียนรู้จากความล้มเหลว (Resilience) สร้างการเปลี่ยนใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา วัฒนธรรมนี้ทำให้เกิดการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่และการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติในเรื่องเทคโนโลยี

การสนับสนุนจากรัฐบาล

การเติบโตของ Silicon Valley มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและระบบนิเวศทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งยังสร้างงานที่มีรายได้สูง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนของรัฐบาลที่ออกนโยบายที่สร้างสภาพแวดล้อมที่นวัตกรรมเติบโต ตั้งแต่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายที่เอื้อต่อการย้ายถิ่นฐานและดึงดูดทาเลนต์จากทั่วโลก

เรียกได้ว่า Silicon Valley ยังเป็นพื้นที่ผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนโลกมายุคต่อยุค AI-Cloud Computing โดยมีบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทที่ก่อตั้งมานานจำนวนมากที่ขยายขอบเขตของการเรียนรู้ของเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ ผลผลิตนวัตกรรมที่เกิดขึ้นที่นี่ยังมีอีกมากมาย เช่น เทคโนโลยีอวกาศ กล้องจุลทรรศน์เอกซ์เรย์ เลเซอร์ วิดีโอเทป ฮาร์ดดิสก์ วิดีโอเกม เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท การดัดแปลงพันธุกรรม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมายที่เรามองข้ามไปในปัจจุบัน 

ปัจจุบันกว่า 40 บริษัทใน Fortune 500 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นี่ และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีรายงานว่ามีมหาเศรษฐีอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวถึง 84 คนในปี 2022 และในปี 2023 อ้างอิงจาก Forbes รายงานว่ามีมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยี 313 รายอาศัยอยู่ที่นี่ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกัน 1.9 ล้านล้านเหรียญ โดย Silicon Valley ยังเป็นพื้นที่ดึงดูดมหาเศรษฐีและนักลงทุนที่พร้อมวางเงินทุนมหาศาลในไอเดียเปลี่ยนโลกของบรรดาผู้ประกอบการช่างคิดช่างฝัน ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับไม่ว่าใครก็ตามที่อยากผลักดันพื้นที่ใดหนึ่งให้กลายเป็นเครื่องยนต์แห่งอนาคต  

อ้างอิงข้อมูลจาก Business Insider , Investopedia , HistoryCooperative , Siliconvalleyhistorical 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ