เรียกได้ว่าในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมานี้ชื่อของ “DeepSeek” ถูกพูดถึงและสั่นสะเทือนวงการเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เมื่อสตาร์ทอัพสัญชาติจีนที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อกลางปี 2023 สามารถออกแบบและพัฒนา AI ที่ชาญฉลาดได้เทียบเท่ากับโมเดล ChatGPT-o1 แต่ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่ามาก
ทำเอาทั้งนักวิเคราะห์ นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งคำถามกับความเป็นไปได้ของ AI ว่าจริง ๆ แล้วเราสามารถใช้งานด้วยต้นทุนที่ถูกลงได้หรือไม่? และที่ทุกวันนี้หุ้นเทคกำลังเกิดฟองสบู่ หลายฝ่ายทุ่มทุนมหาศาลให้กับบิ๊กเทคในการพัฒนา AI มันคุ้มหรือไม่?
ส่งผลให้เมื่อคืนวันที่ 27 มกราคม 2025 ตลาดหุ้นทั่วโลกต้องระส่ำระสาย โดยมีการคำนวณว่าตลาดต้องสูญเสียมูลค่ากว่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐภายในคืนเดียว
โดยมีหนึ่งคนสำคัญที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเช่นกัน คือ ผู้ก่อตั้ง DeepSeek อย่าง “Liang Wenfeng” ที่ในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงชื่อของเขาก็ขึ้นเต็มหน้า Search Engine ชายผู้สร้างความตื่นตระหนกให้กับทั้งโลก
Liang Wenfeng หรือ เหลียง เหวินเฟิง ชายอายุ 40 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง DeepSeek สตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์จากประเทศจีน ที่ได้ทำการเปิดตัว DeepSeek-R1 โมเดลประมวลผลแบบ Open-Source และนับได้ว่าตอนนี้กลายเป็นคู่แข่งกับ ChatGPT ของ OpenAI แล้ว
Liang Wenfeng เกิดในปี 1985 แม้จะยังไม่มีข้อมูลในวัยเด็กและวัยรุ่นเปิดเผยออกมา แต่เราพบว่า เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และปริญญาโทด้านวิศวกรรมข้อมูลและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง
เส้นทางในสายอาชีพของเขาเริ่มต้นจากการเป็นนักลงทุนและนักพัฒนา โดยในปี 2016 เขาร่วมก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ “High-Flyer” ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วจากการใช้กลยุทธ์การซื้อขายที่ขับเคลื่อนด้วย AI โดยเขารับตำแหน่งเป็นผู้จัดการกองทุนฯ จนต่อมาในปี 2021 กองทุน High-Flyer ได้มีการใช้งาน AI ในการดำเนินงานอย่างสมบูรณ์ โดยใช้โมเดล Machine Learning ในการทำนายแนวโน้มตลาดและช่วยตัดสินใจลงทุนโดยอิงจากข้อมูล
และจากความสำเร็จในการใช้งาน AI เพื่อช่วยจัดการการลงทุน ในเดือนพฤษภาคม ปี 2023 ก็ได้ก่อตั้ง DeepSeek โดยมุ่งเน้นไปที่การวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนา Artificial General Intelligence หรือ AGI
Liang Wenfeng เคยให้สัมภาษณ์กับทาง 36Kr ไว้เมื่อช่วงเปิดตัวบริษัทว่า DeepSeek ถูกออกแบบให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับทำการวิจัยระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับการสำรวจที่ขับเคลื่อนด้วยความอยากรู้อยากเห็นของคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความก้าวหน้าในด้าน AI ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจที่มุ่งแสวงหาผลกำไรแบบดั้งเดิมทั่วไป
โดยเขาเน้นย้ำว่าการวิจัยพื้นฐานแม้จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะสั้นต่ำ แต่ด้วยความหลงใหลของเขาในการสำรวจสาขาที่ซับซ้อนอย่างเรื่องการเงิน และปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (AGI) ทำให้เขาลงมือออกแบบเครื่องมือนี้ขึ้นมา
Liang Wenfeng มุ่งเน้นที่จะทำความเข้าใจแก่นแท้ของปัญญามนุษย์และกระบวนการพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลัง ด้วยการพัฒนา AI ให้มีศักยภาพเทียบเท่ามนุษย์ โดยที่ไม่ได้มีความคิดที่จะสร้างเงินจากผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ อีกทั้งเขายังมุ่งเน้นการจ้างงานคนรุ่นใหม่มาร่วมงาน โดยเฉพาะคนที่มีศักยภาพ ชอบแข่งขัน และต้องการจะพิสูจน์ตัวเอง โดยเขาจะไม่เลือกคนจากประสบการณ์ แต่จะเลือกนักศึกษาปริญญาเอกที่ยังไม่เคยลงสนามทำงานจริง แต่จะดูจากงานวิจัยที่พวกเขาทำ เนื่องจากงานหลักจะมุ่งเน้นไปที่การทำวิจัย โดย DeepSeek จะยอมทุ่มจ่ายเงินจำนวนมากให้กับพนักงานของตัวเอง
เขายังเคยกล่าวอีกว่า “เรามองว่า AI ของจีนไม่สามารถอยู่ในสถานะผู้ตามตลอดไปได้ เรามักพูดกันว่ามีช่องว่างระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในเรื่องเทคโนโลยีประมาณ 1-2 ปี แต่ความจริงแล้ว ช่องว่างที่แท้จริงคือเรื่องของ ‘ความคิดริเริ่ม’ กับ ‘การเลียนแบบ’ หากสิ่งนี้ไม่เปลี่ยนแปลง จีนจะเป็นผู้ตามเสมอ นั่นคือเหตุผลที่การสำรวจบางอย่างเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”
แอปฯ ของ DeepSeek ยังได้ทะยานขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในชาร์ตแอปฯ ฟรีของ iPhone ทั้งในจีนและสหรัฐฯ โดยแซงหน้า ChatGPT ที่เคยครองความนิยมมาก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ การเปิดตัวโมเดล R1 ของ DeepSeek จุดกระแสการถกเถียงอย่างร้อนแรงใน Silicon Valley เกี่ยวกับความสามารถของบริษัท AI ในสหรัฐฯ ที่มีทรัพยากรมากกว่า เช่น Meta และ OpenAI ว่าจะสามารถรักษาความได้เปรียบทางเทคโนโลยีไว้ได้หรือไม่
ที่ผ่านมา ในประเทศจีนมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการเปิดตัวโมเดล AI ออกมาให้ผู้คนในประเทศได้ใช้กัน โดยโมเดลส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ราคาเข้าถึงได้ ซึ่งเจ้าใหญ่ ๆ อย่าง Alibaba Group, Tencent Holdings และ Baidu Inc. ต่างสู้กันด้วยการลดราคาโมเดล LLMs ของตัวเองลง ด้วยเหตุผลที่ว่า “ต้องการจะช่วยขับเคลื่อนให้หน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศได้นำเอาโมเดลไปพัฒนาต่อ และเพื่อให้ผู้คนได้เข้าถึงการใช้งาน AI มากขึ้น”
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: โมเดลธุรกิจแบบจีน “ตัดราคา” ทุบตลาด วิกฤติลามทุกอุตสาหกรรม สาหัสตั้งแต่รถ EV ยันเค้กทุเรียน
โดยเรื่องนี้ในจีนถูกมองว่า ถ้าโมเดล LLMs มีมูลค่าที่ถูกลง และเปิดให้คนได้เข้ามาใช้งานได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องกังวลถึงเรื่องเงินทุน สิ่งนี้จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะมาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนจีน เช่นเดียวกับน้ำประปา หรือไฟฟ้า นอกจากนี้ยังช่วยให้องค์กรผู้พัฒนาโมเดล LLMs สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตัวเองไปได้เรื่อย ๆ
ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า วิธีการตัดราคาโมเดล LLMs ของจีนเช่นนี้จะเป็นผลดีกับตลาด เนื่องจากการพัฒนาโมเดลเหล่านี้ของจีนอาจจะยังสู้ในฝั่งของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ และในอนาคตเมื่อพัฒนาให้ดีขึ้น และมีการนำไปใช้งานมากขึ้น โมเดลอื่นๆ ก็จะต้องปรับราคาตามลงมาเช่นกัน
นอกจากนี้ ด้วยความชาญฉลาดและมองการณ์ไกลของ Liang Wenfeng ตามที่เขาได้ให้สัมภาษณ์กับ 36Kr เขาเริ่มลงทุนสั่งซื้อ Nvidia A100 มาตั้งแต่ก่อนปี 2015 เริ่มต้นตั้งแต่ 1 หน่วย เพิ่มมาเป็น 100 หน่วย จนเป็น 1,000 หน่วยในปี 2019 และ 10,000 หน่วยในปี 2021 ซึ่ง Nvidia A100 คือหนึ่งในประเภทที่ตอนนี้สหรัฐฯ ได้มีการสั่งห้ามส่งออกไปจีนด้วย
อย่างไรก็ตาม จากบทความของ MIT ชี้ว่า Dylan Patel ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัย AI SemiAnalysis ประเมินว่า DeepSeek มี Nvidia A100 อย่างน้อย 50,000 หน่วย ด้วยศักยภาพของสต็อก GPUs ที่มีในมือนี้เพื่อใช้ในการฝึกโมเดล AI จึงเป็นตัวกระตุ้นให้ Liang Wenfeng ก่อตั้ง DeepSeek ซึ่งสามารถใช้ชิปเหล่านี้ร่วมกับชิปพลังงานต่ำในการพัฒนาโมเดลต่าง ๆ ของบริษัท
ที่มา: Business Day, Fortune, MIT
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney
การเก็บรวบรวมข้อมูลนี้นำไปใช้เพื่อ กิจกรรมทางการตลาดโดย ยึดหลัก ปฏิบัติตามนโยบายคุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล