Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

เจาะโมเดลธุรกิจ Oppo - Realme ไม่ได้ทำเงินจากแค่ขายมือถือ แต่มีรายได้จากธุรกิจเสริมอีกมหาศาล

Date Time: 13 ม.ค. 2568 17:40 น.

Summary

Oppo-Realme สองแบรนด์โทรศัพท์มือถือเจ้าใหญ่จากจีนที่มีบริษัทแม่เดียวกัน คือ BBK Electronics ที่ไม่ได้ขายแค่สมาร์ทโฟน แต่ยังมีบริการอื่น ๆ ทั้งระบบปฏิบัติการของตัวเอง ซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างระบบนิเวศของตัวเอง ตลอดจนสินค้ากลุ่ม IoT ซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการเหล่านี้ก็สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับทั้ง 2 แบรนด์

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีประเด็นที่สมาร์ทโฟนค่ายดังอย่าง Oppo และ Realme ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการติดตั้งแอปพลิเคชันสินเชื่อ “Fineasy” และ “สินเชื่อความสุข” เองแบบอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้ไม่ทราบมาก่อนเลยว่าติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวมาเมื่อใด

สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้ถึงการที่จะมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของสมาร์ทโฟนโดยที่เจ้าของไม่ได้ยินยอม อีกทั้งยังไม่สามารถถอนการติดตั้งแอปฯ ออกจากเครื่องได้อีกด้วย ด้าน Oppo และ Realme ก็ได้ออกมาโต้ตอบว่า แอปฯ ดังกล่าวเป็นเซอร์วิสแอปฯ (Service Application) ที่ติดตั้งมากับเครื่องตั้งแต่ต้น (เช่นเดียวกับ Apple TV, Music, หรือ Stocks ของ iPhone)

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้หลายคนมองว่าทั้ง 2 แอปฯ ไม่ได้ใกล้เคียงกับแอปฯ เซอร์วิสเลย และยังไม่สามารถติดตามได้เลยว่าใครเป็นเจ้าของแอปฯ ดังกล่าว และแม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะมีการออกแถลงการณ์ว่าจะทำการแก้ไขปัญหา และจะทำการลบแอปฯ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมา

จึงเกิดเป็นข้อถกเถียงกันต่ออีกว่า การที่ทั้ง 2 แบรนด์มีบริการแบบนี้ออกมามีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร ทำไมถึงต้องมีซอฟต์แวร์ดังกล่าวออกมาให้ผู้ใช้รู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้งาน หรือจะเป็นอีกช่องทางที่ใช้ทำเงิน เนื่องจากทั้ง 2 แบรนด์นี้ก็มีบริการแอปฯ และซอฟต์แวร์เป็นของตัวเอง

ในบทความนี้ Thairath Money คอลัมน์ How to Make Money จะพาไปเจาะโมเดลธุรกิจของทั้ง 2 บริษัท ว่าไม่ได้ทำแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้น ยังมีการหารายได้จากช่องทางอื่น และซอฟต์แวร์ก็เป็นหนึ่งในช่องทางหาเงินหลัก ๆ ของ 2 ค่ายนี้เช่นกัน

ใครเป็นเจ้าของ Oppo-Realme?

ทั้ง Oppo และ Realme มีบริษัทแม่เดียวกัน คือ “BBK Electronics” บริษัทเอกชนข้ามชาติสัญชาติจีน ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ประกอบด้วยสมาร์ทโฟน โทรทัศน์ เครื่องเล่น Blu-ray กล้องดิจิทัล อุปกรณ์เครื่องเสียง ตลอดจนสมาร์ทวอช ซึ่งบริษัทนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดในโลก

BBK Electronics ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 1995 ในเมืองตงกวน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดยผู้ก่อตั้งบริษัท BBK Electronics คือ Duan Yong Ping และมี Tony Chen เป็นซีอีโอ ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ในเขตฟูเทียน เมืองเซินเจิ้น

BBK Electronics นับว่าเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่มักจะติด Top 3 เบียดกับ Apple และ Samsung อยู่เสมอ โดยมีแบรนด์ภายใต้การดูแลอยู่มากมาย ประกอบไปด้วย Oppo, Vivo, Realme, iQOO, และ OnePlus ซึ่งแบรนด์เหล่านี้รองรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่สมาร์ทโฟนราคาประหยัดไปจนถึงรุ่นพรีเมียม

แม้ว่า BBK Electronics เป็นบริษัทเอกชนและไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทางการเงินต่อสาธารณะ แต่สินทรัพย์ของบริษัทถูกประเมินว่ามีมูลค่ามากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ และรายได้รวมจากแบรนด์ในเครือทำให้บริษัทอยู่ในกลุ่มผู้นำอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ BBK Electronics แบรนด์ต่าง ๆ ในเครือจะมีโมเดลธุรกิจแยกเป็นของตัวเอง

วิธีทำเงินของ Oppo

Oppo บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่มีชื่อเสียงด้านสมาร์ทโฟนและนวัตกรรมต่าง ๆ ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 มีซีอีโอ คือ Tony Chen ซึ่งเป็นซีอีโอคนเดียวกับ BBK ปัจจุบัน Oppo ได้ขยายขอบเขตธุรกิจในหลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลกกว่า 60 แห่ง

โมเดลธุรกิจของ Oppo มุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานง่ายและตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้ที่มีความสนใจในเทคโนโลยี

นอกจากนี้ Oppo ยังให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย เพื่อสร้างความพึงพอใจและความภักดีในแบรนด์ อีกทั้งยังใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก อย่างเช่น การใช้คนดังเป็นพรีเซนเตอร์และการสนับสนุนกิจกรรมยอดนิยม เพื่อเพิ่มการมองเห็นของแบรนด์ และดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อยอีกด้วย

โดย Oppo มีช่องทางทำรายได้หลัก ๆ มาจากการจำหน่ายสมาร์ทโฟนและสินค้า IoT ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ตั้งแต่สินค้าราคาไม่สูงมากหลักไม่กี่พันบาท ไปจนถึงสินค้าระดับพรีเมียมหลักหมื่น จะมุ่งเน้นไปที่การออกแบบดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย มีจุดขายเป็นกล้องความคมชัดสูง ตลอดจนระบบชาร์จที่รวดเร็ว โดยจะเจาะตลาดที่หลากหลายทั้งในยุโรป เอเชีย และในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)

นอกจากนี้ Oppo ยังมีบริการในกลุ่มซอฟต์แวร์อีกด้วย เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจรผ่านอีโคซิสเต็มของ Oppo โดยจะมี “ColorOS” เป็นระบบปฏิบัติการ Android-Based ที่พัฒนาโดย Oppo เอง

อีกทั้งยังมี Pre-Installed Apps หรือแอปพลิเคชันพื้นฐานที่ติดมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการและเครื่องสมาร์ทโฟน ซึ่งในส่วนนี้ Oppo จะทำเงินได้จากค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์ม ค่าคอมมิชชั่นส่วนแบ่งจากการโหลดแอปฯ และจะได้ส่วนแบ่งจากการจับมือกับพาร์ทเนอร์ ทั้ง Search Engine และอื่น ๆ ที่เข้ามาร่วมบนระบบปฏิบัติการของ Oppo

อย่างไรก็ตาม Oppo ไม่ได้มีการออกมาเปิดเผยตัวเลขรายได้อย่างเป็นทางการ แต่มีการประมาณการสัดส่วนรายได้ ออกมาดังนี้

  • ยอดขายสมาร์ทโฟน: ประมาณ 80–85% ของรายได้ทั้งหมด
  • ยอดขายสินค้า IoT และอุปกรณ์เสริม: ประมาณ 10% ของรายได้ทั้งหมด
  • บริการด้านซอฟต์แวร์: ประมาณ 5–10% ของรายได้ทั้งหมด

โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา Oppo มียอดส่งออกสมาร์ทโฟนที่ 103.1 ล้านเครื่อง ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่มียอดส่งออกที่ 103.2 ล้านเครื่อง นอกจากนี้ จากข้อมูลบน Statista พบว่า ยอดขายในปี 2024 สิ้นสุดที่ไตรมาส 3 มียอดส่งออกที่ 79.8 ล้านเครื่อง

โดยในปี 2024 ในตลาดประเทศไทย Oppo มีส่วนแบ่งทางตลาดอยู่ที่ 14.33% เป็นอันดับที่ 3 ตามหลังเพียง Apple และ Samsung

วิธีทำเงินของ Realme

แบรนด์ Realme คือหนึ่งในแบรนด์ลูกของ Oppo โดยมี BBK Electronics เป็นบริษัทแม่ที่ดูแลทั้ง 2 ซึ่ง Realme ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 ปัจจุบันมี Sky Li เป็นซีอีโอ เป็นสมาร์ทโฟนที่จะโฟกัสไปในตลาดที่ต้องการมือถือราคาไม่สูงมากนั่นเอง

โมเดลธุรกิจของ Realme มีรูปแบบเหมือนกับ Oppo คือ หารายได้หลักจากการขายสมาร์ทโฟน ฮาร์ดแวร์ และเสริมด้วยบริการซอฟต์แวร์ ผลิตภัณฑ์ในระบบนิเวศ (Ecosystem Products) และความร่วมมือทางธุรกิจเชิงกลยุทธ์

โดยมีรายได้หลักมาจากยอดขายสมาร์ทโฟน ซึ่งจะเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงมาก สินค้ามาในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ และยังเจาะกลุ่มคนอายุน้อย ด้วยการออกแบบฟีเจอร์ภายในให้พรีเมียม และยังเป็นตัวเต็งสำคัญที่แข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดสมาร์ทโฟนระดับประหยัดและระดับกลาง โดยเฉพาะในตลาดอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป

Realme ยังมีกลยุทธ์ในการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ ออกมาต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้มีการอัปเดตฟีเจอร์ภายในมากนัก เพื่อรักษาความสนใจของตลาด และตอบโจทย์กับผู้ที่เปลี่ยนโทรศัพท์บ่อย ๆ

อีกหนึ่งช่องทางหารายได้ของ Realme คือ มาจากการจำหน่ายสินค้า IoT ไม่ว่าจะเป็น สินค้ากลุ่ม Wearables ทั้งสมาร์ทวอทช์และสายรัดสุขภาพ หูฟังไร้สาย และสมาร์ททีวี ทั้งนี้เพื่อสร้างระบบนิเวศของ Realme เอง

นอกจากนี้ Realme ยังมีการออกแบบระบบปฏิบัติการ “Realme UI” โดยพัฒนาบน Android ให้ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนได้ใช้ และก็มักจะมี Pre-Installed Apps ติดเครื่องมาด้วยเช่นกัน จากส่วนนี้ Realme หารายได้จากค่าคอมมิชชั่นจากการขายแอปฯ บนระบบปฏิบัติการ ค่าโฆษณา และส่วนแบ่งจากพาร์ทเนอร์ จะเห็นได้ว่ามีรูปแบบเช่นเดียวกับ Oppo เลย

อย่างไรก็ตาม Realme ไม่ได้มีการออกมาเปิดเผยตัวเลขรายได้อย่างเป็นทางการ แต่มีการประมาณการสัดส่วนรายได้ ออกมาดังนี้

  • ยอดขายสมาร์ทโฟน: ประมาณ 80–85% ของรายได้ทั้งหมด
  • ยอดขายสินค้า IoT และอุปกรณ์เสริม: ประมาณ 10% ของรายได้ทั้งหมด
  • บริการด้านซอฟต์แวร์: ประมาณ 5–10% ของรายได้ทั้งหมด

แม้ Realme จะเปิดตัวมาไม่นาน แต่ในปี 2021 แบรนด์นี้ทำยอดขายทะลุ 100 ล้านเครื่อง และในปี 2023 บริษัทก็ออกมาเผยว่าตอนนี้สามารถทำยอดได้สูงกว่า 200 ล้านเครื่องแล้ว ส่งผลให้กลายเป็นแบรนด์ที่สามารถทำยอดได้รวดเร็วที่สุดเป็นอันดับ 5

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 จากข้อมูลของ Statista พบว่า Realme จัดส่งสมาร์ทโฟนประมาณ 4.3 ล้านเครื่องในอินเดีย ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 12% และในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 แบรนด์ Realme อยู่อันดับที่ 2 ของตลาดสมาร์ทโฟนในฟิลิปปินส์ โดยมีส่วนแบ่งตลาด 17% และเติบโตกว่า 10% เมื่อเทียบปีต่อปี

ในขณะที่ประเทศไทย Realme มีส่วนแบ่งทางตลาดอยู่ที่ 4.67% ติดอันดับที่ 6 เป็นรองจาก Apple, Samsung, Oppo, Vivo และ Xiaomi

สรุป

จะเห็นว่าทั้งสองแบรนด์ไม่ได้มีรายได้จากแค่ขายมือถือ แต่กำลังรุกซอฟต์แวร์มากขึ้นเพื่อหาเส้นทางรายได้ใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากสัดส่วนรายได้ที่มาจากซอฟต์แวร์ถึง 5-10% ของรายได้ทั้งหมด ผ่านการสร้างรายได้จากค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์ม ค่าคอมมิชชั่นจากการโหลดแอปพลิเคชัน และส่วนแบ่งจากการจับมือกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ

แม้ยอดขายสมาร์ทโฟนจะยังเป็นรายได้หลักที่ 80-85% แต่ตัวเลขการเติบโตไม่ได้สูงมากนัก โดยเฉพาะ Oppo ที่ยอดส่งออกในปี 2023 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ทำให้ทั้งสองแบรนด์ต้องหันมาเน้นการสร้างระบบนิเวศผ่านสินค้า IoT และอุปกรณ์เสริมที่สร้างรายได้อีก 10% พร้อมกับการพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเอง (ColorOS และ Realme UI) เพื่อสร้างรายได้จากบริการดิจิทัลในระยะยาว

จากกรณีแอปพลิเคชันสินเชื่อที่ติดตั้งมาโดยอัตโนมัติ อาจจะเป็นอีกบริการทางเลือกหนึ่งที่เปิดให้ผู้ใช้ได้ลองใช้งาน หรืออาจจะเป็นการทดลองโมเดลธุรกิจซอฟต์แวร์ที่อาจจะรุกตลาดใหม่ เนื่องจากธุรกิจการขายฮาร์ดแวร์ยังคงมีการแข่งขันสูง และอัตรากำไรที่ไม่สูงมากนัก แต่ท้ายที่สุดกลับส่งผลให้ผู้ใช้งานเกิดความกังวลในเรื่องของความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอให้ทาง Oppo และ Realme ออกมาแสดงความชัดเจน และหาทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายต่อไป

ที่มา: Oppo, Realme, Statista [1][2], Vizology, Bloomberg, KrAsia

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)