แฉกลโกง Honey โปรแกรมเสริมหาส่วนลดของ PayPal อ้างหาดีลเด็ด บิดเบือนระบบ แอบฉกค่าคอมฯ Affiliate

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แฉกลโกง Honey โปรแกรมเสริมหาส่วนลดของ PayPal อ้างหาดีลเด็ด บิดเบือนระบบ แอบฉกค่าคอมฯ Affiliate

Date Time: 3 ม.ค. 2568 13:45 น.

Video

ลายเส้นสะท้อนตัวตนเบียร์ “The Brewing Project“ | BrandStory Special EP x เมรัยไทยแลนด์

Summary

  • MegaLag ช่องยูทูบชื่อดัง ออกมาเผยกลโกง Honey โปรแกรม Browser Extension ส่วนขยายที่คอยหาส่วนลดมามอบให้ผู้บริโภคที่ติดตั้ง เป็นอีกหนึ่งธุรกิจของ PayPal แต่กลับทำงานคล้ายสแกม แทรกแซงแปะลิงก์ของตัวเองแทนลิงก์ Affiliate เพื่อเก็บค่าคอมมิชชันแทน ทำให้ทั้งอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำ Affiliate Marketing ตลอดจนลูกค้าได้รับผลกระทบ

Latest


ในช่วงที่ผ่านมา มีการพูดถึงประเด็นของ “Honey” หรือโปรแกรมส่วนขยายบนเบราว์เซอร์ (Browser Extension) ที่เชื่อมต่อกับ PayPal โดย Honey จะทำหน้าที่ค้นหาส่วนลด ตลอดจนโค้ดโปรโมชันต่าง ๆ ของร้านค้าบนแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ต ทั้งที่เป็นเว็บไซต์ทางการร้านค้า อีคอมเมิร์ซ อย่าง Amazon, eBay เป็นต้น โดยจะมีปุ่ม Pop-up ขึ้นมาให้ลูกค้าคลิกบนเบราว์เซอร์ทันที เมื่อถึงขั้นตอนของการกดชำระเงินบนเว็บไซต์ต่าง ๆ

Honey ถูกเคลมว่า เป็นเครื่องมือที่สามารถค้นหาทุกโค้ดดีลที่ดีที่สุดได้บนอินเทอร์เน็ต ถึงขั้นที่ว่า “ถ้า Honey หาไม่ได้ ก็เท่ากับว่าไม่มีโค้ดสำหรับสินค้านั้นเลย”

แต่ความน่าสนใจของประเด็น Honey ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือ ทางช่องยูทูบ “MegaLag” ได้ออกมาเปิดโปงการทำงาน Honey ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเหมือนสแกม ที่จะโชว์ปุ่มดีลเพื่อให้ลูกค้ากดใช้คูปอง แต่จะฉวยโอกาสนี้ดึงเงินจากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำ Affiliate กับร้านค้าบนแพลตฟอร์มไป และลูกค้าบางคนก็ไม่ได้รับส่วนลดเสียด้วยซ้ำ

โดยช่อง MegaLag ได้ทำการสืบค้นความจริง และพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของ Honey จริง ในบทความนี้จะมาสรุป และเล่าภาพรวมให้เห็นว่า Honey เป็นใคร ทำงานอย่างไร และกระทบมากขนาดไหนกับกลุ่มที่ทำ Affiliate Marketing และลูกค้านักช้อปออนไลน์

Honey คืออะไร?

Honey คือ Browser Extension หรือ โปรแกรมส่วนขยายบนเบราว์เซอร์ของ PayPal โดยในช่วงเริ่มต้น Honey เป็นสตาร์ทอัพก่อตั้งขึ้นในปี 2012 ให้บริการส่วนขยายเบราว์เซอร์แจกคูปอง ต่อมาทาง PayPal ได้เข้าซื้อด้วยมูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ซึ่ง PayPal ตั้งเป้าจะขยายบริการทางการเงินออกไปในหลายรูปแบบ และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานกลุ่มนักช้อป ที่จะสามารถกดหาส่วนลดและชำระเงินได้เลยทันที

โดยฟีเจอร์ของ Honey จะขึ้น Pop-up มาที่มุมใดมุมหนึ่งของเบราว์เซอร์ทุกครั้ง ก่อนที่ลูกค้าจะทำการกดชำระเงินเพื่อซื้อของ โดย Honey จะเสนอเป็นคูปองโปรโมชัน หรือดีลส่วนลดที่คัดเลือกมาจากทุกมุมของอินเทอร์เน็ต และถูกเคลมว่า นั่นคือดีลที่ดีที่สุด

ที่ผ่านมา Honey ขยายตลาดผ่านการจ้างยูทูบเบอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง อย่างเช่น MrBeast, Linus และเจ้าอื่น ๆ ที่มักจะทำ Affiliate หรือแปะลิงก์สินค้าเพื่อรับค่าคอมมิชชันนั่นเอง

Honey มีประเด็นอะไร ทำไมถึงถูกแฉ?

จากโมเดลธุรกิจของ Honey ทางช่อง MegaLag เปิดเผยว่า มีการใช้วิธีการที่บิดเบือนจนส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำ Affiliate Marketing และบิดเบือนความคาดหวังของผู้บริโภคในหลายรูปแบบ

ผลกระทบต่อผู้ทำ Affiliate Marketing

  • เปลี่ยนลิงก์ Affiliate: หลังจากลูกค้ากดเลือกสินค้าและไปหน้าชำระเงิน หากไปกดที่ลิงก์ Pop-up ของ Honey ที่ขึ้นมาบนเบราว์เซอร์ ทาง Honey จะทำการลบคุกกี้ที่เป็น Affiliate Cookie ของอินฟลูเอนเซอร์ และแทนที่ด้วยคุกกี้ของตัวเอง เพื่ออ้างสิทธิเป็นผู้นำลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้า และเก็บค่าคอมมิชชันไว้เอง

    ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้งานคลิกลิงก์ Affiliate จากหน้ายูทูบของอินฟลูเอนเซอร์เพื่อซื้อ CPU ใหม่ เมื่อผู้ใช้งานเข้าสู่หน้าชำระเงินและคลิก “apply discounts” ของ Honey ทาง Honey จะเปิดแท็บใหม่ขึ้นมา และเคลมว่าตัวเองคือคนที่นำลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้า
  • ล่อลูกค้าด้วย PayPal Rewards: หรือในอดีตคือ Honey Gold โปรแกรมคืนเงินในรูปแบบคะแนน (Cash Back) โดยจะแบ่งค่าคอมมิชชันบางส่วนที่ได้จากการอ้างสิทธิให้ผู้ใช้งาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานคลิกที่ Honey แม้ไม่มีโค้ดส่วนลดก็ตาม

    ส่วนนี้ส่งผลกระทบกับผู้ทำ Affiliate ตรงที่ร้านค้าจะไม่ได้ค่าคอมมิชชัน ในขณะที่ลูกค้าได้เงินคืนเพียงน้อยนิด จากคลิปจะพบว่า บางรายการซื้อขาย Honey ได้ค่าคอมมิชชัน 35 ดอลลาร์ แต่ให้เงินคืนผู้ใช้งานเพียง 89 เซนต์เท่านั้น

  • แจ้งเตือนแม้ไม่มีส่วนลด: Honey จะยังคงแสดง Pop-up แจ้งเตือนที่หน้าชำระเงินอยู่เสมอเมื่อถูกติดตั้งบนเบราว์เซอร์ แม้ว่าจะไม่มีโค้ดส่วนลดหรือรางวัล Honey Gold ก็ตาม และ Honey ก็ยังคงอ้างสิทธิ รวมถึงฉกค่าคอมมิชชันจากหน้า Affiliate อยู่ดี เพราะแจ้งเตือน Pop-up ที่ขึ้นมา หากไปคลิก สุดท้ายแล้ว Honey ก็จะแทรกลิงก์ของตัวเองเข้ามารับเงินแทนนั่นเอง

    นอกจากนี้ ยังมีบางกรณีที่ Honey เสนอ Pop-up ให้ผู้ใช้ชำระเงินผ่าน PayPal ทั้งที่บนหน้าชำระเงินของเว็บไซต์ก็มี PayPal เป็นตัวเลือกอยู่แล้ว ส่วนนี้ก็เพื่อล่อให้ผู้ใช้คลิกลิงก์ และเพื่ออ้างสิทธิ Affiliate

หากินบนความคาดหวังของผู้บริโภค

  • เคลมว่าหาโค้ดส่วนลดที่ดีที่สุดได้: Honey อ้างว่าสามารถค้นหาโค้ดส่วนลดที่ใช้งานได้ทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต และจะส่งมอบโค้ดที่ดีที่สุดให้ในตะกร้าสินค้า แต่ความจริงคือ Honey จะจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับร้านค้าต่าง ๆ เพื่อปิดบังโค้ดที่ดีกว่า และสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเองพร้อมกับร้านค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์

    โดยร้านค้าเหล่านี้สามารถควบคุมได้เต็มที่ว่าโค้ดส่วนลดใดจะถูกแสดงบนแพลตฟอร์มของ Honey แม้ว่า Honey จะทราบว่ามีโค้ดที่ดีกว่าก็ตาม อีกทั้งร้านค้ายังไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งคอมมิชชันให้กับเหล่า Affiliate ด้วย
  • โฆษณาเกินจริง: แคมเปญโฆษณาของ Honey มักอ้างว่าสามารถค้นหาโค้ดส่วนลดจากทั้งอินเทอร์เน็ต แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาแสดงเฉพาะโค้ดที่ได้รับการอนุมัติจากร้านค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์เท่านั้น

    นอกจากนี้ ยังอาศัยเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังระดับโลกมาโปรโมทผลิตภัณฑ์ให้ แม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ด้านเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Linus Tech Tips ก็ไม่รู้ตัวว่าถูกหลอกลวงมานานหลายปี และเมื่อ Linus ค้นพบว่า Honey ลบลิงก์ Affiliate ของพวกเขา ก็ได้มีการเจรจาเพื่อให้ Honey เปลี่ยนวิธีการ แต่ Honey ปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ Linus ตัดสินใจยุติความร่วมมือ

รูปแบบธุรกิจของ Honey สร้างขึ้นบนพื้นฐานของการหลอกลวง โดยการบิดเบือนระบบ Affiliate Marketing และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับความสามารถในการค้นหาโค้ดส่วนลดที่ดีที่สุด Honey จึงสามารถสร้างรายได้มหาศาลจากการเอาเปรียบทั้งพันธมิตรและผู้บริโภค

ด้าน Josh Criscoe รองประธานฝ่ายสื่อสารองค์กรของ PayPal ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า “Honey ได้ปฏิบัติตามกฎและแนวทางในอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงระบบ Last-click Attribution” ของ Honey ที่ถูกกล่าวหาว่าแทรกลิงก์ Affiliate ของตัวเองเข้าไปแทน

ที่มา: YouTube: MegaLag, TheVergeWired

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ