เจาะทุกประเด็นเบื้องหลัง “เจนเซ่น หวง” NVIDIA เยือนไทย ทำไมอยากช่วยไทยสร้าง AI ของตนเอง

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เจาะทุกประเด็นเบื้องหลัง “เจนเซ่น หวง” NVIDIA เยือนไทย ทำไมอยากช่วยไทยสร้าง AI ของตนเอง

Date Time: 4 ธ.ค. 2567 18:46 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • สรุปความร่วมมือล่าสุด NVIDIA เข้ามาทำอะไรในประเทศไทยบ้าง หลังเดินทางเข้าร่วมงาน “AI Vision for Thailand : The First Step for Thailand Sovereign AI” แถลงความร่วมมือระดับประเทศครั้งสำคัญร่วมกับองค์กรธุรกิจและหน่วยงานชั้นนำไทยผลักดัน “โครงสร้างพื้นฐาน AI"

Latest


เจนเซ่น หวง (Jensen Huang) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ NVIDIA เดินทางเข้าร่วมงาน “AI Vision for Thailand : The First Step for Thailand Sovereign AI” ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัทสยาม เอไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะ NVIDIA CLOUD PARTNER (NCP) รายแรกในประเทศไทย แถลงความร่วมมือระดับประเทศครั้งสำคัญ โดยเปิดตัว “โครงสร้างพื้นฐาน AI ของประเทศไทย” ร่วมด้วยพันธมิตรชั้นนำหลากหลายองค์กรที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลสำหรับประเทศไทย

ประเทศไทยจะมี AI เป็นของตนเอง มีโครงสร้างพื้นฐานและโมเดลภาษาของตนเอง

ทั้งนี้ไฮไลท์หลักบนเวทีพูดคุยระหว่าง นายเจนเซ่น หวง และ นายรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ ซีอีโอ บริษัทสยาม เอไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มุ่งไปที่ความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่มีเป้าหมายพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI บนพื้นฐานของ Sovereign AI 

โดย เจนเซ่น หวง กล่าวถึงเป้าหมายที่ต้องการช่วยประเทศไทยสร้าง Sovereign AI หรือการมีอธิปไตย AI เป็นของตนเอง คือ สิ่งที่อีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในขณะนี้ 

สิ่งสำคัญประการแรก คือ การให้ความสำคัญกับที่มาของข้อมูล (Data) เพราะ ข้อมูลในประเทศไทยเป็นของคนไทย คนไทยเป็นเจ้าของข้อมูลของตนเองและมีสิทธิในการปกป้องคุ้มครองเหนือข้อมูลของตนเอง ประการต่อมา คือ การลงทุนใน Infrastructure ซึ่งจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของอนาคต ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือ ซอฟต์แวร์ และความเชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อเนื่องผู้ที่ใช้งานได้ การเป็นเจ้าของ AI และมีโครงสร้างพื้นฐาน AI เป็นของตนเองจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อีกระดับ

"ข้อมูล คือ ทรัพยากรของประเทศ ข้อมูลดิจิทัลที่ถูกนำไปใช้ล้วนแล้วแต่เป็นชุดข้อมูลของคนไทย องค์ความรู้ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความคิดของผู้คน ข้อมูลเหล่านี้ควรจัดการโดยคนไทยพัฒนาโดยคนไทยเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยอย่างแท้จริง"

"อุตสาหกรรมโลกกำลังจะถูกรีเซ็ตใหม่ ครั้งนี้ไม่เหมือนกับซอฟต์แวร์ที่สหรัฐอเมริกาครองตลาดมานานกว่า 40 ปี ไม่เหมือนอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟน นี่คือแพลตฟอร์มใหม่เอี่ยม ทุกคนกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่จุดเดียวกัน”

ขณะเดียวกัน หวง ฉายภาพให้เห็นว่าอนาคตเราจะสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้ด้วยภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษ แน่นอนว่าภาษาคอมพิวเตอร์หรือ ที่ใช้งานกันทั่วโลกล้วนมีภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น Python หรือ C Plus แต่ภาษาของ AI คือภาษาของมนุษย์ ทุกประเทศกำลังตื่นตัวเรื่อง Sovereign AI และพัฒนาโมเดลภาษาของตัวเองซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 20 ประเทศในโลกที่เริ่มดำเนินการ

หวง อธิบายว่าอนาคตเราจะสั่งการคอมพิวเตอร์ได้แม้จะไม่รู้วิธีการเขียนโปรแกรม เพียงแค่บอก AI ว่าเราต้องการอะไร ซึ่งนั่นสะท้อนถึงการลดอุปสรรคทางเทคโนโลยี ทุกคนในสังคมจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี เพราะ AI จะเติมเต็มช่องว่างทางเทคโนโลยี และนั่นเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้มันพร้อมใช้งานในเวลาที่เหมาะสม จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ 

“AI ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่มันคืออุตสาหกรรม เทคโนโลยีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคม AI จะเป็นโครงสร้างทางเทคโนโลยีแบบใหม่ โครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมแบบใหม่ของไทย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมพลังงาน โทรคมนาคม ต่อไป AI จะเป็นของทุกคน บริษัททุกแห่ง สตาร์ทอัพ นักวิจัย โรงเรียน ทุกคนจะสามารถเข้าถึง AI ของไทยเองได้แล้ว วันนี้ผมดีใจที่ได้อยู่ที่นี่เพื่อร่วมเปิดตัว OpenThaiGPT โมเดล AI ของไทยในประเทศไทย” หวงกล่าว

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา เจนเซ่น หวง ได้เข้าพบหารือ นายกฯ แพทองธาร เพื่อระบุถึงการเสริมสร้างความพร้อมและศักยภาพไทยด้าน AI โดยระบุว่า NVIDIA เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสามารถของไทยในการพัฒนา AI โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานข้อมูล ทรัพยากรบุคคล และเครือข่ายธุรกิจภายในประเทศให้สอดคล้องกับภาษาถิ่น วัฒนธรรม และแนวปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในด้านต่าง ๆ

"ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความร่วมมือและให้การสนับสนุน startup ในไทยกว่า 50 ราย และมหาวิทยาลัยไทยอีกกว่า 40 แห่ง โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยจุดประกายและเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนา AI ในไทยมากยิ่งขึ้น" คลิกอ่านต่อ ซีอีโอ Nvidia ยักษ์ใหญ่ชิปโลก มูลค่า 3.4 ล้านล้านเหรียญ หารือ นายกฯ แพทองธาร เผยเหตุผลลงทุนไทย

สรุปความร่วมมือล่าสุด NVIDIA เข้ามาทำอะไรบ้าง

ด้าน นายรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ กล่าวว่า ภารกิจหลักของ NVIDIA คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน AI และการสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในด้าน AI โดยเชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศเทคโนโลยีของบริษัท จะสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับโลก “ในฐานะสมาชิกรายเดียวของโปรแกรม NVIDIA Cloud Partner ที่เป็นของคนไทย 100% ในประเทศไทย เราตระหนักถึงความรับผิดชอบของเราในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง AI ของประเทศ”

หัวใจสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI ประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนบนแพลตฟอร์ม AI เต็มรูปแบบของ NVIDIA การเปิดตัวคลัสเตอร์ “GPU NVIDIA H100 Tensor Core” ที่พัฒนาโดย NVIDIA สำหรับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ รวมถึงซอฟต์แวร์ NVIDIA AI Enterprise ตลอดจนการขยายไปสู่ GPU NVIDIA H200 Tensor Core รุ่นถัดไปและซูเปอร์ชิป NVIDIA GB200 Grace Blackwell

ทั้งนี้ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะมีการประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพิ่มเติมกับผู้นำในอุตสาหกรรมหลัก ๆ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่เปิดเผยออกมาแล้ว ได้แก่

  • ความร่วมมือด้านเฮลท์แคร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลที่เชี่ยวชาญด้านการค้นพบยา การจัดลำดับจีโนม และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโซลูชัน AI ทางการแพทย์ของประเทศไทย
  • ความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัย CMKL เพื่อให้ผู้เรียนและนักวิจัยสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลประสิทธิภาพสูงและพัฒนาบุคลากรด้าน AI รุ่นต่อไป
  • ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ True Internet Data Center (True IDC) บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโซลูชัน AI โดยจะเน้นไปที่การปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลของ NVIDIA รวมถึงการพัฒนาโมเดล AI ที่กำหนดเอง และการเสนอโซลูชัน GPU-as-a-Service โดยเน้นที่การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคแบบ Customer 360 รวมถึงการขยายการเข้าถึงการประมวลผล AI ขั้นสูงเพื่อเร่งศักยภาพของภาครัฐและการวิจัยของประเทศไทย
  • ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Gulf Edge ที่ GSA Data Center เพื่อจัดหาพื้นที่ในการวางโครงสร้างด้านการประมวลผลของ NVIDIA ที่ช่วยให้เกิดนวัตกรรม AI ในภาคพลังงาน ดิจิทัล และโทรคมนาคม รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานศูนย์ข้อมูลระดับองค์กรที่จะขับเคลื่อนบริการ AI รุ่นถัดไปของ SIAM AI โดยอยู่ระหว่างการจัดทำ MOU เพื่อขยายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์จากธุรกิจของ Gulf Group เพื่อมุ่งเน้นไปที่โซลูชันต่าง ๆ เช่น ระบบคาดการณ์การซ่อมแซมบำรุง (Predictive maintenance) การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Operational optimization) การปรับแต่งตามความต้องการส่วนบุคคล (Hyper-personalization) และการให้บริการลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น (Enhanced customer services)
  • ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ STT GDC สร้างห้องปฏิบัติการระบายความร้อนด้วยของเหลวที่ทันสมัยแห่งแรกของประเทศไทยสำหรับการประมวลผล AI ประสิทธิภาพสูง กำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน AI ที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันสามารถรองรับความต้องการพลังการประมวลผลขั้นสูงของประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวโซลูชัน AI เพื่อให้บริการแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ Tourism LLMs โมเดล LLM ด้านการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่สร้างขึ้นบน OpenThaiGPT โมเดลโอเพ่นซอร์สของไทยและปรับปรุงด้วย NVIDIA NeMo™ ต่อเนื่อง AI Call Center: ระบบตอบสนองฉุกเฉินขั้นสูงที่ผสมผสานเทคโนโลยีแปลงข้อความเป็นเสียง แปลงคำพูดเป็นข้อความ และโมเดล LLM สำหรับการโต้ตอบแบบเรียลไทม์และการประมวลผลคำขอฉุกเฉินอัจฉริยะ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ