รายงานระบุว่า บอร์ดบริหารไม่พอใจกับแผนฟื้นฟู Intel ที่ใช้งบประมาณสูงและไม่เห็นว่าความคืบหน้าของแผน Pat Gelsinger ตามกำหนดการเดิมที่จะใช้เวลา 4 ปีในการฟื้นฟู อย่างไรก็ตามบอร์ดบริหารให้ตัวเลือกแก่ Gelsinger ว่าจะเกษียณหรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง นำมาซึ่งการก้าวลงจากตำแหน่งของผู้นำบริษัทชิปยักษ์ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรม ด้วยระยะเวลาการทำงานไม่ถึง 4 ปี
จากรายงานระบุ David Zinsner ซีเอฟโอ และ Michelle Johnston Holthaus รองประธานบริหาร Client Computing Group จะทำหน้าที่เป็นซีอีโอร่วมรักษาการร่วมกัน (co-CEOs) ขณะที่บอร์ดกำลังมองหาผู้ที่จะมารับตำแหน่ง CEO ถาวรต่อไป
แม้ครั้งหนึ่ง Intel จะเคยเป็นบริษัทผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าสูงสุดในสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนโฉมโลกแห่งพีซีทำให้โลกเข้าสู่ยุคแห่งไมโครโปรเซสเซอร์ แต่ทว่า Intel กลับเข้าสู่ช่วงยากลำบากจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อความก้าวหน้ายุคต่อยุคได้ จากการตัดสินใจที่ล่าช้าในการปรับตัวตามตลาดหลากหลายครั้งจนอาจกล่าวได้ว่าทำให้ Intel ล้าหลังกว่าใครในวินาทีนี้
ความพยายามอย่างหนักในแต่ละยุค ทำให้ Intel ทุ่มทุนมหาศาลเพื่อยกระดับโปรดักต์ของตัวเองเพื่อฟื้นคืนความโดดเด่นแต่ทว่า Intel สูญเสียเกินกว่าจะได้ ทั้งงบประมาณและฐานลูกค้าที่ผันตัวไปเป็นอุดหนุนเจ้าอื่นซึ่งมีการปรับโมเดลธุรกิจเพื่อทำตลาดอย่างสม่ำเสมอ
หนำซ้ำในยุคของ AI ด้าน Intel พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถรักษาสถานะผู้เล่นที่ครองตลาดอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้อีกต่อไป
เพราะคู่แข่งที่เชี่ยวชาญ ทั้ง Nvidia, AMD ซึ่งเคยเป็นคู่แข่งที่ต่อสู้กับ Intel มาตั้งแต่อดีต และ TSMC ที่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างแล้วว่ามีการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมล้วนชิงส่วนแบ่งจาก Intel ทั้งสิ้น ความรุ่งเรืองของ Intel ค่อย ๆ หมดลง
จากผู้ผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน Intel มูลค่าเหลือไม่ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีขนาดเล็กกว่า Nvidia ถึง 30 เท่าเมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาด Nvidia ที่ 3 ล้านล้านเหรียญ นอกจากนี้ยังเล็กกว่า Qualcomm, Broadcom, Texas Instruments และ AMD
มูลค่าหุ้น Intel มูลค่าร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ 50 ปี แตะระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนหลังจากที่บริษัทเผยผลประกอบการไตรมาสสองของปี 2024 ที่ตกต่ำที่สุดที่เคยมีมา ขาดทุนสุทธิอย่างหนักกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับยอมรับว่าบริษัทจะยังไม่สามารถทำกำไรได้ในเร็ว ๆ นี้ สถานการณ์จวนตัวจนบีบให้ Intel ต้องใช้แผนลดต้นทุนต่อเนื่องด้วยการปลดพนักงานกว่า 15,000 คน
นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 1968 สู่ปัจจุบัน Intel ผิดพลาดตรงไหน? ย้อนเรื่องราว Intel ผู้ผลิตโปรเซสเซอร์สำหรับพีซีและแล็ปท็อปรายใหญ่ที่สุด มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
Pat Gelsinger เข้าร่วมกับ Intel ในปี 1979 และกลายเป็นรองประธานที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัย 32 ปี เขาเคยดำรงตำแหน่ง CTO ในปี 2001 ก่อนจะลาออกในปี 2009 หลังจากการปรับโครงสร้างใหม่และกลับมาดำรงตำแหน่ง CEO คนที่แปดของ Intel ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ในช่วงวิกฤต ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะ Intel ไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนในยุคสามสิบปีก่อนหน้าที่ถือครองตำแหน่งในตลาดพีซีและเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก
ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเกือบสี่ปี Pat Gelsinger ได้กล่าวถึงความผิดพลาดของ Intel ที่เกิดขึ้นมานานซึ่งส่งผลให้เกิดความท้าทายในปัจจุบัน ทั้งการประเมินแนวโน้มของตลาดผิดพลาด การละเลยที่จะพัฒนากลยุทธ์ต่าง ๆ การปฏิเสธดีลร่วมมือกับ Apple สำหรับ iPhone และความล้มเหลวในการเจาะตลาดชิปสมาร์ทโฟน รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน สภาวะโลกที่ไม่แน่นอน การฟื้นตัวของอุปสงค์พีซีที่ซบเซา ซึ่งทำให้ปัญหาต่าง ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น
Pat Gelsinger พยายามฟื้นฟู Intel ด้วยกลยุทธ์ “IDM 2.0” ปรับโมเดลธุรกิจ ตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ Intel Foundry Services (IFS) ตลอดจนก้าวสู่สนามปัญญาประดิษฐ์ ประกาศเข้าสู่ยุคของพีซี AI ด้วยการเปิดตัว "Intel AI Processors" ชิปประมวลผลปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานด้าน AI สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีและแล็ปท็อปในระบบปฏิบัติการ Windows
อย่างไรก็ตามเขาต้องเผชิญปัญหาการแยกส่วนธุรกิจระหว่างการออกแบบและการผลิต รวมถึงการสูญเสียทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทั่งสองเดือนที่ผ่านมาทำให้หลายคนคาดการณ์ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องการผลักดันการผลิตในประเทศจะเข้ามาอุ้ม Intel ต่อ เราอาจต้องติดตามต่อไปว่าใครจะมีความสามารถและเต็มใจก้าวเข้ามารับบทบาทที่ท้าทายนี้
อ้างอิงข้อมูล Chiphistory
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -