เปิดเบื้องหลังสร้าง Data Center ของ Google ทำไมถึงประหยัดพลังงานมากกว่าที่คิด ?

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดเบื้องหลังสร้าง Data Center ของ Google ทำไมถึงประหยัดพลังงานมากกว่าที่คิด ?

Date Time: 13 พ.ย. 2567 16:53 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • -ความต้องการใช้งาน AI และ Cloud ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ Data Center ต้องใช้พลังงานมหาศาล โดย Google พัฒนานวัตกรรมประหยัดพลังงาน ทั้งชิป TPU รุ่น 6 และระบบเครือข่าย Jupiter ที่ใช้แสงแทนไฟฟ้า ทำให้ Data Center ของ Google ประหยัดพลังงานมากกว่าทั่วไป 1.8 เท่า
  • -การขยายตัวของ Google Cloud ในอาเซียน ลงทุนในภูมิภาคมาตั้งแต่ปี 2554 เริ่มจากสิงคโปร์ 5 พันล้านดอลลาร์ ขยายไปยังมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ล่าสุดประกาศลงทุนในไทย 1 พันล้านดอลลาร์ สร้าง Data Center ที่ชลบุรีและ Cloud Region ที่กรุงเทพฯ
  • -ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไทยสู่มาตรฐานโลก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันผ่านการลดต้นทุนการเข้าถึงบริการคลาวด์และ AI

Latest


การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI  ทำให้ความต้องการด้านการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน นำมาซึ่งความท้าทายครั้งใหญ่ด้านการใช้พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Data Center ซึ่งเปรียบเหมือนหัวใจสำคัญของระบบ AI สมัยใหม่ 

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ต่างพากันลงทุน Data Center ในหลายๆประเทศที่มีดีมานด์การใช้งานด้าน AI และ Cloud สูงขึ้นต่อเนื่อง นำมาซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่า AI อาจเป็นตัวการเร่งวิกฤตพลังงานครั้งใหม่ในทั่วโลก ความท้าทายเหล่านี้ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกบริษัทต่างต้องมีแนวทางในการสร้าง Data Center ให้มีความยั่งยืนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในขณะเดียวกันต้องรักษาประสิทธิภาพไว้ให้คงเดิมด้วย 

ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้ Google ซึ่งเป็นหนึ่งผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก พลิกโจทย์ด้วยการพัฒนา  Data Center  ที่ยั่งยืน ประหยัดพลังงาน และมีประสิทธิภาพสูง Thairath Money พูดคุยกับ เคน เซียห์ Head of Market Development ,Data Center Energy and Location Strategy และ จอร์จิโอ ฟอร์ตูนาโต Head of Clean Energy and Power ทีมผู้บริหารของ Google Asia-Pacific ในงาน Media Summit APAC ที่สิงคโปร์ 

โดยทั้งสองเปิดเผยถึงนวัตกรรมและกลยุทธ์เบื้องหลังความสำเร็จในการสร้าง Data Center ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับแนวทางการดำเนินงาน หลัง Google  ได้ประกาศการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในประเทศไทย เพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region แห่งใหม่ ที่จะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยสู่มาตรฐานระดับโลก

ทำไม Data Center ของ Google ถึงประหยัดพลังงานและประสิทธิภาพสูง ?

Google เผชิญกับความท้าทายอย่างหนักในเรื่องเป้าหมาย Net-Zero ที่บริษัทได้วางไว้ เมื่อความต้องการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้พลังงานของ Google ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2565 มีการใช้ไฟฟ้ารวมสูงถึง 25 เทราวัตต์-ชั่วโมง ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการหาแนวทางจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยี AI กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญในการให้บริการของ Google 

นี่จึงเป็นเหตุผลให้ Google ต้องคิดค้นนวัตกรรมและวิธีการใหม่ๆ เพื่อจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงลงทุนในพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน 

Data Center ของ Google สามารถประหยัดพลังงานมากกว่า Data Center ทั่วไปถึง 1.8 เท่า  เพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลได้ 4 เท่าด้วยปริมาณพลังงานเท่าเดิมเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน

เรามาดูกันว่า นวัตกรรมที่ว่านั้น ที่ผ่านมา Google ได้มีการทำอะไรไปบ้าง ถึงทำให้ศูนย์ข้อมูลมีประสิทธิภาพสูงขนาดนี้ 

ประการแรก เทคโนโลยีประมวลผลรุ่นใหม่ 

Google ได้พัฒนาชิป Tensor Processing Unit (TPU) รุ่นที่ 6 หรือ Trillium ที่สามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 67% นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง ARM ในการพัฒนาโปรเซสเซอร์ Google Axion และใช้ GPU ประสิทธิภาพสูงจาก NVIDIA รุ่น Grace Blackwell ทำให้สามารถรองรับการประมวลผล AI ที่ซับซ้อนได้โดยใช้พลังงานน้อยลง

ประการที่สอง ระบบเครือข่ายอัจฉริยะ Jupiter

ถือเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงมาก เพราะระบบเครือข่ายดังกล่าวสามารถส่งข้อมูลได้ 6 เพตาไบต์ต่อวินาที เทียบเท่าภาพความละเอียดสูง 12 พันล้านภาพในเวลาเพียงวินาทีเดียว

นอกจากนี้ระบบนี้ยังใช้เทคโนโลยีกระจกขนาดจิ๋วสะท้อนแสงแทนสายไฟแบบดั้งเดิม มีระบบจัดการทรัพยากรอัตโนมัติที่ปรับเพิ่ม-ลดตามการใช้งานจริง รวมถึงใช้แสงแทนสัญญาณไฟฟ้าในการส่งข้อมูล ช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สาม การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

Data Center ของ Google ใช้พลังงานสะอาด 100% มาตั้งแต่ปี 2560 และมีระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ที่สามารถประหยัดพลังงานได้สูงถึง 10% แต่ในขณะเดียวกันก็มีการประเมินความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วย โดย Google มีการตั้งเป้าคืนน้ำสู่ชุมชน 120% ภายในปี 2573 และพิจารณาใช้น้ำเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและไม่กระทบต่อชุมชน

นอกจากนี้  Google ยังได้มีการลงทุนในพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ประเทศที่ได้มีการเข้าไปลงทุนตั้ง Data Center   

ที่ผ่านมาได้ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลในการจัดหาพลังงานสะอาดใหม่รวม 4 กิกะวัตต์ ครอบคลุมโครงการสำคัญในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โครงการโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ในไต้หวัน กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ ถือเป็นหนึ่งในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โรงไฟฟ้าชีวมวลในสิงคโปร์ ขนาด 9 เมกะวัตต์ พร้อมระบบดักจับและกักเก็บคาร์บอน เป็นต้นแบบของการผลิตพลังงานสะอาดในเขตเมือง 

นอกจากนี้ยังมีโครงการพลังงานหมุนเวียนในหลายประเทศ รวมกำลังการผลิต 275 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โซลาร์ฟาร์มในออสเตรเลีย 20 เมกะวัตต์ โครงการไฮบริดพลังงานลมและแสงอาทิตย์ในอินเดีย 186 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 60 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม Data Center ทั่วโลกใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 1% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ดังนั้นการลงทุนของ Google ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ สามารถรับมือกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจาก AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในระยะยาวได้อีกด้วย 

ไทยจะได้อะไร จากการสร้าง Data Center ที่มีความยั่งยืนสูงของ Google ?

ที่ผ่านมา  Google ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่าง Data Center และ Cloud Region ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2554 นับตั้งแต่สิงคโปร์ ที่มีการลงทุนรวม 5 พันล้านดอลลาร์ เริ่มใช้งานศูนย์ข้อมูลปี 2556 และ Cloud Region ปี 2560 ต่อมาลงทุนในมาเลเซีย 2 พันล้านดอลลาร์ สร้างศูนย์ข้อมูลและ Cloud Region ที่เซลังงอร์ อินโดนีเซีย ที่มีการเปิด Cloud Region ที่จาการ์ตาในปี 2563 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ข้ามชาติรายแรกในประเทศ 

และล่าสุดในเดือนตุลาคม 2567 ประกาศลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ในไทย โดยสร้าง Data Center ที่ชลบุรีและ Cloud Region ที่กรุงเทพฯ  

นอกจากดีมานด์การใช้บริการดิจิทัลที่สูงของภาคธุรกิจ และ  Cloud First Policy ของรัฐบาลไทยแล้ว เหตุผลที่ Google เลือกตั้งทั้ง Data Center และ Cloud Region  ในไทยเลยนั้น Google   มองว่ามีความพร้อมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่ตั้งโครงการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม WHA  ซึ่งมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคและมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการขยายตัวในอนาคต

พร้อมกันนี้ยังมีเรื่องของศักยภาพด้านพลังงาน โดยไทยมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานสะอาดหลากหลายรูปแบบ ทั้งแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ

แน่นอนว่าการสร้าง Data Center ของ Google ในไทยนั้น จะมีการนำเทคโนโลยีล่าสุดที่ได้มีการกล่าวถึงข้างต้น ทั้งระบบประหยัดพลังงาน ชิปประมวลผลรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงระบบเครือข่าย Jupiter ที่ใช้แสงในการส่งข้อมูล

ทำให้สามารถยกระดับมาตรฐาน Data Center เพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพในการเข้าถึงบริการดิจิทัล โดยการลงทุนครั้งนี้ของ Google จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทย ที่จะเป็นต้นแบบของ Data Center ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน กระตุ้นการลงทุนในเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด รวมถึงการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่แข็งแกร่งในประเทศไทย

โดยสรุปแล้ว การลงทุนมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐของ Google ในประเทศไทย ไม่เพียงสะท้อนถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาค แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทั้งทันสมัยและยั่งยืน 

และการที่ Data Center แห่งใหม่นี้จะนำเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง TPU รุ่นที่ 6 และระบบเครือข่าย Jupiter มาใช้ ควบคู่กับนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานสะอาด 100% จะช่วยเป็นต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ ที่สำคัญ การลงทุนครั้งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย ด้วยการลดต้นทุนการเข้าถึงบริการคลาวด์และ AI สำหรับผู้ประกอบการทุกระดับ โดยเฉพาะ Startup และ SME ที่จะได้ประโยชน์จากความเร็วในการประมวลผลที่สูงขึ้นและการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ