ขณะที่หุ้นทั้งวอลล์สตรีทและ S&P500 ยังขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแรงหนุนของทรัมป์ ซึ่งหนึ่งในหุ้นเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่ถูกจับตาอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะกลุ่ม "เซมิคอนดักเตอร์" ที่นักลงทุนกลับมามีความหวังอีกครั้งว่าแนวทางแข็งกร้าวของรีพับลิกันจะเป็นประโยชน์กับผู้ผลิตสหรัฐฯ มาตรการทางภาษีของทรัมป์ รวมถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบบางอย่างจะกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ
หนึ่งในนั้น คือ Nvidia ที่ทุบสถิติใหม่ต่อเนื่องวันต่อวัน ล่าสุดกลายเป็นบริษัทชิปรายแรกในประวัติศาสตร์ที่มีมูลค่าตลาดเกิน 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 8 พ.ย. ขึ้นแท่นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก หลังหุ้นพุ่ง 2.2% หลังการซื้อขายนอกเวลา แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับเป็นอีกหนึ่งผู้ชนะของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการแข่งขันระหว่างบิ๊กเทคด้วยมูลค่าแซงหน้าอันดับสองอย่าง Apple ที่ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับสามอย่าง Microsoft ที่ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากก่อนหน้านี้ที่มูลค่าตลาดเพิ่มลดสูสีกันมาหลายเดือน
แม้ว่าทรัมป์จะเป็นผู้เริ่มสงครามการค้าและเทคโนโลยีกับจีน ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งวาระแรกของเขาในปี 2018 ผ่านการคว่ำบาตรทางการค้า ควบคุมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และแบนการนำเข้าชิปหรือชิ้นส่วนบางประการที่ผลิตโดยจีน
ทั้งนี้การแบนเซมิคอนดักเตอร์ของจีนได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคการเมืองในอเมริกา ภายใต้คณะบริหาของรัฐบาลไบเดนได้ใช้มาตรการเดิมของทรัมป์เป็นพื้นฐานเพื่อตอบโต้จีน โดยที่ผ่านมาพรรคเดโมแครตให้ความสำคัญกับชิ้นส่วนที่ใช้กระบวนการขั้นสูง เช่น การออกกฎควบคุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างหน่วยประมวลผลกราฟิก GPU หน่วยความจำแบนด์วิดท์สูง เทคโนโลยีโดรน ชิปสำหรับยานยนต์ หรือชิปที่ใช้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่อย่าง GAA (Gate-all-round transistor) ทำให้การพัฒนาทางเทคโนโลยีของจีนหยุดชะงัก
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมดังกล่าว คือ หมุดหมายใหม่ของสหรัฐฯ และชิปถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจยุคใหม่ เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับเทคโนโลยีในปัจจุบันและได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในเดือนสุดท้ายของรอบการเลือกตั้ง โดยกฎหมาย CHIPS and Science Act ของรัฐบาลไบเดนที่ผ่านการอนุมัติร่างในปี 2022 ปัจจุบันได้การสนับสนุนจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันเช่นเดียวกัน
ทั้งสองฝ่ายกล่าวว่าการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญด้านความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จีนจะบุกไต้หวัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมนี้
กฎหมายดังกล่าวทุ่มเงินทุนเกือบ 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมชิปในประเทศ ประกอบด้วยกระตุ้นการลงทุนผลิตและการวิจัยพัฒนา โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ กับจีน อีกทั้งยังสามารถจูงใจให้ผู้ผลิตชิปต่างชาติเข้ามาจัดตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ
โดยเฉพาะการดึงดูดผู้ผลิตรายใหญ่จากเอเชียอย่าง TSMC และ Samsung เข้ามาลงทุนได้สำเร็จ โดยทั้งสองบริษัทได้รับเงินทุนจากไปแล้ว 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและ 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามการให้ทุนยังมีความล่าช้าบางส่วน โดยเงินที่จัดสรรไว้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกแจกจ่าย รวมถึงปัญหาทางการเงินกับ Intel ผู้ผลิตชิปสัญชาติอเมริกันที่ได้รับเงินสนับสนุน 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเป้าหมายของรัฐบาลไบเดนคือการบรรลุข้อตกลงในการกระจายเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนออกจากตำแหน่ง
ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ทรัมป์จะไม่ยกเลิก CHIPS and Science Act ของรัฐบาลไบเดน เพียงแต่จะปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญบางประการของร่างกฎหมายและการจัดสรรเงินทุน ซึ่งอาจจะเร่งให้บริษัทต่างๆ มากกว่า 20 แห่งที่อยู่ระหว่างการเจรจาภายใต้กฎหมายนี้พยายามสรุปข้อตกลงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
รวมถึงทรัมป์จะมุ่งไปที่การกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์และการขยายฐานภาษีที่จะเตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% ที่จะกลายเป็นความท้าทายใหม่สำหรับภาคส่วนเซมิคอนดักเตอร์ของจีน
การกลับมาของทรัมป์อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยทรัมป์อาจเลือกใช้การคว่ำบาตรแบบครอบคลุมและหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อกระบวนการเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงเท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานโดยรวม
บทความที่เกี่ยวข้อง
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -