เวลาเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ นอกจากเรื่องของการจัดเตรียมตารางเดินทาง หรือเลือกสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว อีกหนึ่งความกังวลคือเรื่องของ “การแลกเงิน” เป็นสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ ซึ่งต้องพิจารณาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งค่าเงิน จำนวนที่จะแลก ไปจนถึงความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยน หรือบางคนที่เดินทางโดยใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ก็ต้องมาเผชิญกับปัญหาอย่าง ค่าธรรมเนียมที่ถูกชาร์จ
จึงเป็นที่มาของการออกแบบโซลูชันสำหรับในโลกการเงิน อย่างการชำระเงินผ่าน “QR Code” นวัตกรรมที่ช่วยเปลี่ยนการชำระเงินที่ทั้งกินเวลา และค่าธรรมเนียมสูงลงได้ เพียงผู้ใช้มีโทรศัพท์แค่เครื่องเดียว ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ก็ใช้จ่ายได้ง่าย ๆ และยังเป็นการยกระดับ Cross-Border Payment หรือการชำระเงินข้ามพรมแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หนึ่งในเจ้าใหญ่ในตลาดผู้ให้บริการระบบชำระเงินผ่าน QR Code อย่าง “Alipay+” ภายใต้ Ant International เร่งเดินหน้าขยายพื้นที่การดำเนินงาน ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 1,600 ล้านราย เชื่อมต่อกับ 90 ล้านร้านค้า ช่วยยกระดับการใช้จ่ายข้ามพรมแดนให้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านการจับมือกับพาร์ทเนอร์กว่า 35 เจ้า ที่ครอบคลุมการใช้งานทั้งในเอเชียและยุโรป ไม่ว่าจะเป็น Alipay ของจีน, AlipayHK ของฮ่องกง, MPay ของมาเก๊า, Kakao Pay, Naver Pay และ Toss ของเกาหลีใต้, OCBC Digital, Changi Pay และ EZ-Link ของสิงคโปร์, Touch ‘n Go eWallet และ MyPB by Public Bank Berhad ของมาเลเซีย, GCash และ HelloMoney ของฟิลิปปินส์, TrueMoney ของไทย, HiPay ของมองโกเลีย, Klarna ของสวีเดน และ Tinaba ของอิตาลี
Douglas Feagin ประธาน Ant International เผยบนเวทีในงาน Singapore FinTech Festival ถึงเป้าหมายหลักของ Ant ในการพัฒนา Alipay+ ว่า ตั้งใจที่จะสานความร่วมมือระหว่าง
นอกจากนี้ ในภูมิภาคเอเชีย ธุรกิจขนาดเล็ก หรือ MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprises) มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกว่า 90% ของธุรกิจในภูมิภาคเป็น MSMEs
ส่งผลให้การชำระเงินผ่าน QR Code ได้รับความนิยม ตัวอย่างในประเทศไทยเอง การชำระเงินแบบ Real-Time Payment (RTP) ก็เติบโตดีเกินคาด ด้วยบริการอย่าง PromptPay โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2024 พบว่า มียอดการลงทะเบียนแล้วกว่า 73.16 ล้านเลขหมาย และจากข้อมูลของ ITMX ชี้ว่า มูลค่ารวมของธุรกรรมการโอนเงินและชำระเงินในเดือนสิงหาคม 2024 มีมูลค่ารวมกว่า 4,200 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายในเรื่องกฎระเบียบและกฎหมายในแต่ละประเทศที่ยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งมีผลทำให้การเชื่อมต่อทางการเงินยังคงต้องปรับตัว ขณะเดียวกันก็ยังมีความกังวลในเรื่องของภัยคุกคาม ทั้ง Scams, Frauds, Malware และอื่น ๆ ที่ใช้ช่องทางดิจิทัลสร้างความเสียหายทางการเงิน ในส่วนนี้ยังต้องการการสนับสนุนจากภาคกำกับดูแล และเพื่อเสริมให้ฝั่งของผู้ใช้งานมีความตระหนักรู้ทางดิจิทัลมากขึ้น รวมไปถึงผู้ให้บริการทางการเงินเองก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
นอกจากบริการทางการเงินอย่าง Alipay+ และความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว Alipay+ ยังมีบริการที่เป็น Service อย่าง “Wallet Tech” เป็นการสร้างอีโคซิสเต็มที่ครอบคลุมในด้านอื่น ๆ ที่มากกว่าการเงิน
โดย Wallet Tech จะให้บริการโซลูชัน ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาออกแบบและสร้าง e-wallet เป็นของตัวเองได้ ผ่านเทคโนโลยีที่ออกแบบโดยทีม Alipay+ รองรับธุรกิจและบริการในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยจะมีสถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาให้นักพัฒนาใช้งานได้ง่าย สามารถสร้าง e-wallet บนซอฟต์แวร์แบบ Open-Source ได้ทันที
ซึ่งนอกจากจะรองรับเรื่องของการทำธุรกรรมเป็น Wallet แล้ว ยังสามารถใช้งานผ่าน Open APIs เสริมการทำงานของแอปพลิเคชันที่มีให้กลายเป็น Superapp และยังเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของตัวเองได้
ปัจจุบัน Alipay+ Wallet Tech ถูกใช้งานในหลายประเทศ รวมไปถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney