แซม อัลท์แมน ทำองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรยังไงให้รวย! เมื่อ OpenAI ปรับโครงสร้างทั้งบริษัทมุ่งโกยเงิน

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แซม อัลท์แมน ทำองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรยังไงให้รวย! เมื่อ OpenAI ปรับโครงสร้างทั้งบริษัทมุ่งโกยเงิน

Date Time: 27 ก.ย. 2567 14:42 น.

Video

เปิดภารกิจ 3 แบงก์ไทย ใช้ Green Finance ช่วยลูกค้าปรับตัวฝ่า ระเบียบโลกใหม่ | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • OpenAI เตรียมปรับโครงสร้างบริษัทใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่เป็นลูกผสมระหว่างบริษัทที่แสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไรเป็นโครงสร้างใหม่ที่จะแปลงบริษัทให้เป็น “Public Benefit Corporation (PBC)” หรือ “บริษัทที่แสวงหาผลกำไรแบบมีวัตถุประสงค์” ตามเป้าหมายเดิมที่ต้องการจะพัฒนา AI ที่ปลอดภัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมนุษยชาติ

Latest


เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมาได้มีรายงานออกมาว่า OpenAI บริษัทเทคโนโลยีผู้พัฒนา ChatGPT เตรียมปรับโครงสร้างบริษัทใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่เป็นลูกผสมระหว่างบริษัทที่แสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไรเป็นโครงสร้างใหม่ที่จะแปลงบริษัทให้เป็น “Public Benefit Corporation (PBC)” หรือ “บริษัทที่แสวงหาผลกำไรแบบมีวัตถุประสงค์”

เป้าประสงค์แรกของ OpenAI ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2015 คือ เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมด้วยเป้าหมายยิ่งใหญ่ คือ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ไปสู่ระดับ Artificial General Intelligence (AGI) ที่ปลอดภัยเพื่อมนุษยชาติ โดยไม่หวังผลกำไร ซึ่งการปรับโครงสร้างบริษัทเป็น PBC จะเปลี่ยนให้ OpenAI มีวัตถุประสงค์ใหม่ที่ต้องทำรายได้และกำไรจากธุรกิจ ตลอดจนสามารถดันบริษัทเข้าตลาด ซึ่งสร้างผลดีต่อคณะผู้บริหาร รวมไปถึงซีอีโออย่าง Sam Altman ที่จะได้ส่วนแบ่งเป็นหุ้นบริษัท

ทำความเข้าใจโครงสร้างบริษัท OpenAI ทั้งแสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร

การจะเข้าใจมหากาพย์ทั้งหมด อาจต้องย้อนทำความเข้าใจโครงสร้างบริษัทกันใหม่ เดิมที OpenAI จัดตั้งขึ้นในปี 2015 ในฐานะบริษัทวิจัยด้าน AI ที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit) ด้วยเป้าหมายยิ่งใหญ่ คือ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ไปสู่ระดับ Artificial General Intelligence (AGI) ที่ปลอดภัยเพื่อมนุษยชาติ

Sam Altman ตระหนักดีว่าการดำเนินงานในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อาจทำให้ OpenAI ไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะการไปสู่จุดนั้น OpenAI ต้องลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในปีต่อๆ ไป ไม่ว่าจะด้านคลาวด์ขนาดใหญ่ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สำหรับ AI รวมถึงการดึงดูดและรักษาคนที่มีความสามารถ ซึ่ง OpenAI อาจไม่สามารถชนะใจนักลงทุนภายนอกได้ แม้จะมั่นใจว่าสิ่งที่พัฒนาจะล้ำหน้าและดูสร้างรายได้ก็จริง แต่การเอาเงินหลายพันล้านให้องค์กรที่ไม่หวังผลกำไรนั้นอาจไม่ใช่ทางของนักลงทุนที่ล้วนหวังผลกำไรทั้งสิ้น

ในปี 2019 Altman ตั้งบริษัทใหม่ “OpenAI Global LP” ให้เป็นลูกผสมระหว่างบริษัทที่แสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไร โดยเรียกว่า “บริษัทต่อยอดผลกำไร” (Capped-profit Company) เพื่อให้บริษัทสามารถเพิ่มเงินลงทุนใหม่ได้ทันใช้มากขึ้น และแน่นอนว่าบริษัทนี้จะยังถูกควบคุมโดย “OpenAI Inc.” หรือ OpenAI (Non-profit) อีกทอดหนึ่ง

กล่าวคือใน OpenAI (For-Profit) หรือ OpenAI ที่เราเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ นักลงทุนและพนักงานจะได้รับผลตอบแทนแบบจำกัด โดยผลตอบแทนสำหรับนักลงทุนรอบแรกในส่วนของกำไรที่เกิดจากบริษัทนี้ จะถูกจำกัดไว้ที่ 100 เท่าของเงินลงทุนรอบแรกตามข้อตกลง ซึ่งส่วนที่เกินจากนั้นจะถูกมอบกลับคืนให้กับ OpenAI (Non-profit) หรือส่วนที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อใช้ศึกษาวิจัยต่อไป ดังนั้นตามโครงสร้างจึงต้องรักษาความเป็นอิสระของบอร์ดให้ได้มากที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง:

การแปลงบริษัทเป็น PBC จะส่งผลอย่างไรต่อ OpenAI?

ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า PBC คือ “บริษัทแสวงหาผลกำไร” ที่ยังคงเดินตามวัตถุประสงค์เดิมขององค์กรคือ เพื่อสาธารณประโยชน์ เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งนี้ อาจทำให้ OpenAI สามารถทำตามเป้าหมายเดิมที่จะพัฒนา AI โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กับการทำกำไรให้กับธุรกิจได้

อีกทั้ง จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ จะยกเลิกการควบคุมโดยส่วนที่ไม่แสวงหากำไรหรือ “OpenAI Inc.” ให้มีการถือหุ้นเพิ่มเติม และเมื่อบริษัทสามารถหาเงินและทำกำไรได้ก็จะมอบผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร โดยโครงสร้างนี้ยังถูกมองว่า มีข้อดีในการดึงดูดนักลงทุนและปูทางให้ OpenAI ขยายธุรกิจได้มากขึ้นในอนาคต จากโครงสร้างเดิมที่นักลงทุนและพนักงานจะได้รับผลตอบแทนแบบจำกัด

ด้าน Sam Altman ก็เคยออกมาเปิดเผยว่า เขาไม่เคยได้รับเงินเดือนใด ๆ ในการดำรงตำแหน่งซีอีโอของ OpenAI แต่เขาก็ยังคงทำงานเต็มกำลังเพื่อผลักดันการเติบโตและพัฒนา AI อย่างต่อเนื่อง และจากการหารือกันของบอร์ดบริหารที่จะปรับโครงสร้างบริษัท คาดว่า บริษัทจะชดเชยให้ Altman ในรูปแบบของ “หุ้นบริษัท” (Equity) แทนที่จะเป็นการจ่ายเงินเดือนหรือโบนัส เพื่อที่จะรักษาผู้บริหารระดับสูงที่มีความสามารถไว้กับองค์กร

แต่ด้าน Sam Altman ก็ได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้กับพนักงานในบริษัทว่า เขาไม่สนใจที่จะได้ผลประโยชน์ทางการเงินในลักษณะนี้ พร้อมกับเน้นย้ำว่า ยังคงมีความซับซ้อนหากจะมีการแบ่งหุ้นให้กับผู้บริหาร และเน้นย้ำว่าความตั้งใจของเขาคือการมุ่งเน้นไปที่การสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับมนุษยชาติผ่านการพัฒนา AI มากกว่า

ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับ OpenAI

การจะแปลงโครงสร้างบริษัทมาเป็น PBC ยังคงมีความท้าทาย เนื่องจากบริษัทประเภทนี้ไม่จำเป็นจะต้องรักษามาตรฐานขององค์กรในการปฏิบัติตามด้าน ESG ซึ่งอาจจะนำไปสู่การถูกวิจารณ์ทางด้านจริยธรรม แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นที่จะเกิดขึ้นกับ OpenAI คือ บริษัทจะทำอย่างไรเพื่อรักษาความสมดุลระหว่างเป้าหมายที่จะพัฒนาให้มี AI ที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ และเป้าหมายของการทำกำไรให้ได้มหาศาล

PBC ยังนับว่าเป็นนิติบุคคลแบบใหม่ จึงยังไม่แน่ชัดว่าศาลจะตีความและประเมินเรื่องความสำเร็จของ OpenAI ต่อไปอย่างไร เพราะบริษัทจะต้องทำกำไรไปพร้อม ๆ กับสร้างประโยชน์ให้สังคม และจะมีเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ถืออยู่อย่างน้อย 2% เท่านั้นที่จะสามารถฟ้อง OpenAI ได้ หากพบว่าไม่ทำตามเป้าประสงค์ในการสร้างประโยชน์ต่อสาธารณชน

ปัจจุบันนี้ มีบริษัทที่กำลังดำเนินการภายใต้โครงสร้าง PBC คือ Anthropic บริษัทผู้พัฒนา AI คล้ายคลึงกับ ChatGPT ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2021 ใช้โครงสร้างนี้ในการบริหาร ด้วยเป้าหมายในการ “สร้างระบบ AI ที่เชื่อถือได้ เข้าใจได้ และสามารถควบคุมได้” เช่นเดียวกับ xAI ของ Elon Musk ที่ดำเนินการแบบ PBC

อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วอาจทำให้ OpenAI ตกที่นั่งลำบากจากความขัดแย้งระหว่างการบริหารและการสูญเสียทีมงานยุคบุกเบิก โดยล่าสุด แผนปรับโครงสร้างเกิดขึ้นหลังจาก Mira Murati CTO ของ OpenAI ตัดสินใจลาออกหลังจากทำงานมาเป็นเวลาหกปีครึ่ง โดยให้เหตุผลว่าต้องการพื้นที่ในการวิจัยและพัฒนาในแบบฉบับของเธอเองและต้องการให้การปรับโครงสร้างบริษัทเป็นไปอย่างราบรื่น

นอกจากนี้ทาง Altman ยังได้ออกมาเผยอีกว่า Bob McGrew และ Barret Zoph หัวหน้าและรองหัวหน้าฝ่ายวิจัย ก็ตัดสินใจลาออกเช่นกัน ซึ่งสร้างความสั่นคลอนต่อเนื่องจากการลาออกของผู้บริหารคนสำคัญหลายคนก่อนหน้านี้ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนา AI ของบริษัทมาตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ Ilya Sutskever ผู้ร่วมก่อตั้ง Jan Leike หัวหน้าทีมด้านความปลอดภัย และ John Schulman อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งที่ปัจจุบันเข้าทำงานกับบริษัทคู่แข่ง Anthropic

จะส่งผลกระทบอะไรกับผู้ใช้ AI บ้าง?

ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัทของ OpenAI ที่อาจจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จะต้องส่งผลกระทบถึงการใช้งานของเราอย่างแน่นอน แต่ก็มีทั้งผลกระทบทางด้านบวกและด้านลบ อย่างเช่น

  • เพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้งานเข้าถึง AI ที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง
  • หากบริษัทฯ ยังคงเดินตามแนวทางการพัฒนา AI เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ดังนั้น ผู้ใช้ก็จะยังคงเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและใช้งานเทคโนโลยีล้ำสมัยได้อย่างปลอดภัย
  • อาจเกิดความกังวลในด้านการรักษาสมดุลที่จะทำกำไรและทำเพื่อประโยชน์ของสังคม ดังนั้น ข้อนี้บริษัทจะต้องหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ใช้ใช้งานอย่างปลอดภัยและโปร่งใส

ที่มา: Reuters [1][2], Bloomberg, CNBC [1][2]

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ