กว่า 10 ปีของ Mark Zuckerberg กับฝันอยากสร้าง “โลกเสมือน” ทำไมต้องทำแว่น VR-AR ขาย

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

กว่า 10 ปีของ Mark Zuckerberg กับฝันอยากสร้าง “โลกเสมือน” ทำไมต้องทำแว่น VR-AR ขาย

Date Time: 26 ก.ย. 2567 13:15 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • Mark Zuckerberg ซีอีโอ Meta ขึ้นเวที Meta Connect 2024 เปิดตัว เผยโฉม “Quest 3S” ชุดหูฟังรุ่นใหม่ พร้อมด้วย โอไรออน “Orion” Augmented-Reality Smart Glasses ที่เคลมว่าทันสมัยที่สุดที่เคยมีมา อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงที่บริษัทฯ พยายามอย่างต่อเนื่องในการเข็นออกสู่ตลาด ทำไมดูเหมือนจะยังไม่ประสบความสำเร็จดั่งใจหวัง

Latest


หลังจากที่ Meta ที่ในขณะนั้นยังเป็น Facebook เข้าซื้อกิจการของ “Oculus” บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยี “VR” (Virtual Reality) ในปี 2014 ในมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐก็ได้มุ่งสู่เส้นทางความฝันที่เชื่อว่า “Metaverse” จะกลายเป็นโซเชียลแพลตฟอร์มที่ผู้คนมารวมตัวกัน พื้นที่ใหม่ในโลกออนไลน์ที่คนจะมาใช้ชีวิตและทำงานกันที่นี่ 

“แนวคิดทำให้โลกเสมือนจริงกลายเป็นโลกแห่งความจริง” นำไปสู่การประกาศทิศทางใหม่ในนาม “Meta” ชื่อใหม่ที่เราคุ้นเคยในปี 2021 พร้อมด้วยเป้าหมายใหม่ที่จะมุ่งไปที่การสรรค์สร้างธุรกิจแห่ง “โลกเสมือน” ไม่ว่าจะเป็น Metaverse และแว่น VR อุปกรณ์ที่จะเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับแพลตฟอร์มที่ให้ประสบการณ์ทับซ้อนกับโลกเป็นจริงมากยิ่งขึ้น 

โดยล่าสุดในงาน Meta Connect 2024 ปีนี้ Meta เผยโฉม “Quest 3S” ชุดหูฟังรุ่นใหม่ในราคา 299 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9,700 บาท) ซึ่งถูกกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง Quest 3 ในปี 2023 ที่มีราคา 499 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16,300 บาท) โดย “S” ใน Quest 3S ย่อมาจาก “Start” ซึ่งหมายถึงการเริ่มต้นใช้งาน VR ตามคำแถลงบนเวทีของซีอีโอ 


Zuckerberg นำเสนอจุดเด่นของคุณลักษณะที่เทียบเท่ากับ Vision Pro ฟีเจอร์ "Vivid Passthrough" การผสานกันของระบบเสียงและภาพแบบเรียลไทม์ ตอบโต้ได้เหมือนจริงขณะที่ใส่แว่น โดยนอกจาก Quest 3S ภายในงานยังเปิดตัว โอไรออน “Orion” Augmented-Reality Smart Glasses ที่เคลมว่าทันสมัยที่สุดที่เคยมีมา

แว่นตา AR กรอบหนาสีรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับระบบ Meta AI ซึ่งประกาศว่ารุ่นนี้ทำมาเพื่อโชว์เท่านั้น ยังไม่ขายจริง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบภายในเพื่อนำไปใช้ในบริษัท ขณะที่แว่นตาสำหรับผู้บริโภครุ่นถัดไปยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสู่แว่นตา AR ฉบับสมบูรณ์รุ่นแรกต่อไป 

ทั้งนี้เขายังประกาศลดราคา Quest 3 โดยลดราคาของรุ่น 512GB จาก 649 ดอลลาร์เป็น 499 ดอลลาร์ พร้อมกับเลิกผลิต Quest Pro ที่เปิดตัวในปี 2022 ซึ่งไม่ได้รับความนิยมมากนัก รวมถึงชุดหูฟัง Quest 2 รุ่นเก่า พร้อมเล่าถึงฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Ray-Ban Meta Glasses ที่เปิดตัวมาในปี 2023 เช่น ระบบลำโพงท่ีดีขึ้น ฟีเจอร์ Live Translation หรือการดึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตจากการสแกนสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า  


แว่นตา VR ซื้อมาตั้งโชว์ ไม่ได้ใช้จริง 

“นับตั้งแต่ Oculus สู่ Meta Quest หรือแม้กระทั่งแว่น VR ที่แพงที่สุดในตอนนี้ อย่าง Vision Pro จากค่าย Apple จะสร้างอินเทอร์เฟซการเข้าสู่โลกออนไลน์แบบใหม่ที่มอบประสบการณ์สุดว้าว แต่หลายคนยังตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องจ่ายเงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐไปกับแว่นตาขนาดใหญ่ คลุมทั้งใบหน้า ทั้งๆ ที่เรามีสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อป คุณสมบัติมหาศาลอยู่แล้ว” 

ที่ผ่านมา Meta เปิดตัว VR Headset หลายเวอร์ชันให้เราเห็นรายละเอียดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่หน่วยธุรกิจ Reality Labs ที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อลงแรงกับธุรกิจนี้โดยเฉพาะยังไม่ออกดอกออกผล ผลประกอบการในแต่ละปียังระบุถึงยอดขายที่ต่ำกว่าเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์  

แม้ว่านักพัฒนา VR จะมีความหวังว่าการเข้าสู่ตลาด VR ของ Apple จะกระตุ้นให้เกิดแอปพลิเคชันและความต้องการในตลาด แต่รายงานระบุว่ายอดขาย Vision Pro ในตอนนี้ต่ำกว่า 1 ล้านเครื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาที่สูงเกิน (3,499 ดอลลาร์ที่คิดเป็นเงินไทยได้ประมาณ 1 แสนบาท)

และถึงกระนั้นแม้ว่าอุปกรณ์ Quest รุ่นก่อนๆ ของ Meta มียอดจัดส่งหลายล้านเครื่องเนื่องมาจากการตลาดที่เข้มข้นและราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งหลายราย แต่ความพยายามดังกล่าวยังไม่สามารถสร้างดีมานด์ในตลาด อีกทั้งระบบนิเวศซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับ VR ไม่ได้โดดเด่นนัก 

ปัจจุบันบริษัทขาดทุนไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากการพัฒนา VR Headset  อีกทั้งเทคโนโลยี VR ยังไม่มีทีท่าจะสามารถแย่งซีน AI และก้าวสู่กระแสหลักได้เลยในยุคนี้ แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น Mark Zuckerberg แม่ทัพใหญ่ยังมีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อ VR และยังคงใช้เวลาในการโน้มน้าวนักลงทุน ผู้ใช้ และแม้แต่พนักงานในบริษัทให้เห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นอนาคต พร้อมกล่าวชัดว่า “การลงทุนในซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ VR ถือเป็นก้าวแรกของเป้าหมาย ซึ่งเราอาจต้องใช้เวลาถึงหนึ่งทศวรรษ” 

ดูเหมือนว่าผ่านมาเกือบสิบปี Mark Zuckerberg ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงคำตอบที่ชัดเจนได้ว่าผู้ใช้จำเป็นต้องซื้อขนาดไหน… ราวกับว่าการผลิตของใหม่ออกมาเรื่อยๆ จะเป็นเพียงการพิสูจน์แนวคิดของตนเองเท่านั้น 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ