แม้ในมุมมองโลก "ประเทศไทย" จะมีขีดความสามารถด้านดิจิทัลในระดับกลาง และเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียน แต่ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ปี 2560 ที่ไทยเริ่มพัฒนาอย่างจริงจัง เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยมีแนวนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐบาลที่ชัดเจน เป็นยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการพัฒนาและการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักการพัฒนาทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม
อีกทั้งยังมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม การลงทุน การนำไปใช้ประโยชน์ และมีเป้าหมายใหญ่ในการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ แต่ถ้าเทียบกับอันดับ 1 อย่างสิงคโปร์ และอันดับ 2 อย่างมาเลเซีย การขยับของเรายังห่างชั้นจาก 2 ประเทศข้างต้นมากนัก
โดยล่าสุด สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ออกรายงานและวิเคราะห์ หลัง Tengku Datuk Seri Zafrul Abdul Aziz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม (MITI) ของมาเลเซีย ประกาศแสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ยุคดิจิทัล
ภายใต้แผนแม่บทอุตสาหกรรมใหม่ปี 2030 ซึ่งมาเลเซียตั้งเป้าสร้างโรงงานอัจฉริยะ 3,000 แห่ง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ผลิตจะมีการเตรียมพร้อมที่ดีสำหรับการนำ AI และเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความทะเยอทะยานในด้าน AI ของประเทศ
ล่าสุดมาเลเซียยังเปิดการประชุม AI 2024 ภายใต้หัวข้อ ‘AI ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ: โอกาสและความท้าทาย’ โดยกระทรวง MITI ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา เพื่อเตรียมเสนอแนวทางพัฒนาทักษะด้าน AI ในงบประมาณปี 2025 อีกด้วย
โดยความเคลื่อนไหวครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของมาเลเซียในการเตรียมพร้อมแรงงานและอุตสาหกรรมของประเทศให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว
อีกทั้งมุ่งหวังที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลกผ่านการพัฒนาทักษะด้าน AI และการสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง
ขณะกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย วิเคราะห์ว่า รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล
ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ประเทศไทยเร่งพัฒนาทักษะด้าน AI ของตนเอง ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียความได้เปรียบในตลาดโลก
ขณะเดียวกัน แผนพัฒนาของมาเลเซียก็ถือเป็นก้าวสำคัญที่ส่งผลต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม ฉะนั้น ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ควรจับตามองและวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนานี้
มาเลเซียไม่เพียงแค่สร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในด้าน AI และเทคโนโลยีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การเคลื่อนไหวนี้เป็นการกระตุ้นให้ประเทศไทยเร่งพัฒนาทักษะในด้าน AI เพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
หรือการสร้างความร่วมมือกับมาเลเซียในด้านการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยีอาจเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับศักยภาพของไทย
เพราะการร่วมมือกันในด้านนี้สามารถเปิดประตูสู่การขยายธุรกิจและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดภูมิภาคและตลาดโลก อีกทั้งภาคการศึกษาในไทยควรพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย เพื่อเตรียมนักศึกษาให้พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับ AI ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างฐานกำลังคนที่มีทักษะสูงและเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงสำหรับประเทศไทยในยุคดิจิทัลนี้.
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ , DEPA
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney