Telegram แอปฯ แชต ที่ทั้งส่วนตัวและปลอดภัย แต่ทำไมถึงถูกมองว่าขัดกับกฎหมาย จน CEO โดนรวบ

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

Telegram แอปฯ แชต ที่ทั้งส่วนตัวและปลอดภัย แต่ทำไมถึงถูกมองว่าขัดกับกฎหมาย จน CEO โดนรวบ

Date Time: 26 ส.ค. 2567 17:17 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • หลังจากการเข้าจับกุม Pavel Durov ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Telegram ในฝรั่งเศส ด้วยประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานแอปฯ แชต Telegram ที่ถูกกล่าวหาว่า “อนุญาตให้มีการก่ออาชญากรรม” แม้ว่า Telegram จะออกมาแถลงแล้วว่า แอปฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง ซึ่งในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับแอปฯ Telegram ต้นเหตุของการจับกุม ว่าทำไมแอปฯ นี้ถึงถูกจับจ้องจากหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศ

Latest


นับว่าเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก หลังจากที่ Pavel Durov ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Telegram แอปพลิเคชันแชตชื่อดัง ถูกตำรวจเข้าควบคุมตัวที่สนามบิน Le Bourget ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตามหมายจับของฝรั่งเศส โดยเขาถูกกล่าวหาว่า “อนุญาตให้มีการก่ออาชญากรรม โดยไม่มีการกำกับดูแลบนแพลตฟอร์ม Telegram และไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

แล้วเพราะอะไร มหาเศรษฐีชาวรัสเซียคนนี้ถึงถูกจับกุม Telegram อันตรายขนาดนั้นเลยหรือ Thairath Money จะพาไปทำความเข้าใจ Telegram กันมากขึ้น และเจาะลึกว่าเพราะอะไรถึงถูกหน่วยงานกำกับดูแลจับตา?


Telegram คืออะไร?


“Telegram” คือ แอปพลิเคชันแชตลักษณะเดียวกันกับ WhatsApp ที่ผู้ใช้สามารถใช้สื่อสารในห้องแชตส่วนตัว สร้างแชตกลุ่ม โพสต์สตอรี่ และสร้างแชนแนล (Channels) หรือช่องทางสื่อสารที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลให้กับคนจำนวนมากๆ ในครั้งเดียว โดยจะเปิดให้ผู้ใช้เข้ามา Subscribe เช่นเดียวกับ Official Accounts ของ Line 

ปัจจุบัน Telegram มีผู้เข้าใช้งานต่อเดือนอยู่ที่ 900 ล้านคนทั่วโลก เป็นแพลตฟอร์มแชตลำดับที่ 4 ของโลก รองจาก WhatsApp, WeChat, และ Messenger ของ Facebook

นอกจากนี้แล้ว Telegram ยังมีการออกแบบและใช้งาน Network ของตัวเอง ชื่อว่า “The Open Network” หรือ “TON” ซึ่งเป็น Open Internet และเป็นระบบอินเทอร์เน็ตแบบไม่รวมศูนย์ ที่สร้างมาด้วยแนวคิดให้คอมมูนิตี้ออกแบบการใช้งานเอง ผ่านเทคโนโลยีของ Telegram และมีสกุลคริปโตเคอร์เรนซีของแพลตฟอร์มที่ใช้ชื่อเดียวกันว่า “TON” ที่ใช้เพื่อดำเนินการต่างๆ บนเครือข่าย ใช้ทำธุรกรรม ใช้ในเกม หรือใช้ในการแลกเปลี่ยน Collectible ที่สร้างบน TON


Telegram เป็นของใคร?


Telegram ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยสองพี่น้องชาวรัสเซีย Pavel Durov ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง และ Nikolai Durov โปรแกรมเมอร์และผู้ออกแบบพัฒนาแอปฯ โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งแอปพลิเคชันโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใช้งานในรัสเซีย ชื่อว่า “VKontakte” ในปี 2006 ก่อนที่จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ประสบความสำเร็จจน Durov ได้ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐี และถูกจับตามองจากรัฐบาลรัสเซีย 

ต่อมา Pavel Durov ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Mark Zuckerberg แห่งรัสเซีย ได้เนรเทศตัวเองออกจากประเทศ เนื่องจากไม่ต้องการที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในการเปิดเผยข้อมูลเข้ารหัสของผู้ใช้งาน พร้อมกับขายหุ้นทั้งหมดของ VKontakte ทิ้ง และมาเริ่มก่อตั้ง Telegram ในปี 2013 จนประสบความสำเร็จจากจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

จากข้อมูลของ Forbes ปัจจุบัน Pavel Durov มีความมั่งคั่งสุทธิที่ 15,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัญชาติเป็นพลเมืองฝรั่งเศส และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

Telegram เปิดให้ใช้บริการแล้วใน 155 ประเทศทั่วโลก ใช้งานมากที่สุดในแถบเอเชียที่ 38% ในยุโรป 27% ในแถบลาตินอเมริกา 21% และในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือรวมกันที่ 8% 

นอกจากนี้ เมื่อปี 2018 ทาง Telegram สามารถระดมทุนแบบดิจิทัล ผ่านการเสนอขายดิจิทัลโทเคนผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชน (ICO) เพื่อเปิดตัว “Telegram Open Network” หรือ “TON” ไปได้กว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ถูกตรวจสอบและพบว่าขัดกับกฎของ SEC สหรัฐฯ จนในปี 2020 ถูกตัดสินและต้องจ่ายเงินคืน พร้อมกับเสียค่าปรับอีก 18.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทำไม Telegram ถึงถูกจับตา?


Telegram ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของกลุ่มหัวรุนแรง แม้ Telegram จะไม่ได้มีหน้าฟีดที่จะดันคอนเทนต์ตามความสนใจของผู้ใช้งานแบบ X, TikTok หรือ Facebook แต่กลับพบว่ามี Hate Speech ข้อมูลเท็จ และข้อมูลบิดเบือนกระจายอยู่ในหลายห้องแชต 

การใช้งานบน Telegram ได้มีการอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถแชร์ข้อมูลจากแชนเนลหนึ่งไปแชนแนลอื่นๆ ได้ และถ้ามีผู้ใช้ที่เสพข้อมูลและสนใจก็สามารถแชร์ต่อออกไปได้อีก ซึ่งบางครั้งเนื้อหามีความรุนแรงมากขึ้นจากการที่มีผู้แชร์เพิ่มความคิดเห็นลงไป อีกทั้งหากผู้ใช้งานกดตามลิงก์ไปเรื่อยๆ ก็จะพบกับคอนเทนต์เนื้อหาเดียวกันเพิ่มขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม การสนทนาผ่าน Telegram หากผู้ใช้ต้องการจะลบข้อความที่ตัวเองส่งไปก็สามารถทำได้ทันที และทั้งระบบจะไม่มีการบันทึกข้อมูลการสนทนาต่างๆ ไว้ ทำให้เป็นเรื่องยากในการติดตาม โดยเฉพาะในห้องแชตที่มีการตั้งค่าเป็น “Secret Chat” ต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่าง Facebook และ WhatsApp ที่ได้มีการทำข้อตกลงกับหน่วยงานกำกับดูแลในการจัดการเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกจากแพลตฟอร์ม

การที่ Telegram ไม่เก็บบันทึกข้อมูลการสนทนา ได้กลายเป็นดาบสองคม เพราะหากมองถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว สิ่งนี้คือปัจจัยหลักที่หลายคนหันมาใช้งานแอปฯ นี้ แต่ในทางกลับกัน Telegram ก็กลายเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้หลายคนเข้ามาเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน จนสร้างความเสียหายให้หลายฝ่าย

อย่างที่ผ่านมา ในสหราชอาณาจักร มีการตั้งกลุ่มต่อต้านผู้ลี้ภัยเข้าสหราชอาณาจักร กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังทางศาสนา จนเกิดเหตุประท้วงและจลาจลขึ้น หรือในบางแชนแนลมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งยังมีบางสำนักข่าวเปิดเผยว่า Telegram คือช่องทางที่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองรัสเซียใช้เพื่อรับสมัครอาชญากรเพื่อก่อเหตุทั่วยุโรป

จากรูปแบบการใช้งาน Telegram ตามที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้หลายประเทศเกิดความกังวลและพยายามจะหาทางจัดการอย่างเหมาะสม จนเกิดการจับกุม Pavel Durov ขึ้นในฝรั่งเศส ซึ่งทาง Telegram ก็ได้ออกมาแถลงว่า “แพลตฟอร์มได้ปฏิบัติตามกฎหมายของ EU”

นอกจากนี้แล้ว ด้าน Elon Musk ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า “การจับกุม Durov ครั้งนี้คือการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือ Free Speech”


ที่มา: Bloomberg (1)(2), Reuters, ForbesDemandSage

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์