จาก Google Maps สู่ Google Chrome จาก YouTube สู่ Gemini เคยนับหรือไม่ว่าทุกวันนี้ในแต่ละวันเราใช้บริการของ Google กี่บริการ จากหนึ่งในหุ้นอ่อนแอของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สู่หุ้นบิ๊กเทคระดับโลก “ผู้นำด้านเสิร์ชเอนจิ้นเบอร์หนึ่ง” มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกอันดับที่สี่ในขณะนี้
Google เสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2004 โดยบริษัทเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกที่ราคา 85 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหมดหุ้น 22.5 ล้านหุ้น ซึ่งระดมทุนได้กว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หุ้นของ Google พุ่งขึ้น 18.05% ระหว่างซื้อขายก่อนปิดที่ 100.34 ดอลลาร์สหรัฐ นับจากปี 2004 Google ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเฉียด 7,000% โดยราคาหุ้น ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 165 ดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2024
สำนักข่าว CNBC พูดคุยกับ ไมเคิล ไกรมส์ (Michael Grimes) วาณิชธนากรจาก Morgan Stanley ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการ IPO ของบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากในซิลิคอนวัลเลย์ รวมถึงการช่วยทำ IPO ใน Nasdaq ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน IPO ที่นักลงทุนขณะนั้นรอคอยมากที่สุดในรอบสิบปี และยังทำให้เขาได้รับฉายาว่า “Wall Street’s Silicon Valley Whisperer” ในช่วงเวลาที่การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังฟื้นคืนความเชื่อมั่นทั่วโลก
ไกรมส์ กล่าวว่า Google “นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ Google เข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงาน การใช้ชีวิต และการเล่นของเรา”
ย้อนกลับไปในช่วงยี่สิบปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทดอตคอมเฟื่องฟูในช่วงต้นทศวรรษปี 2000 ทำให้นักลงทุนระมัดระวังการทุ่มเงินของตน อย่างไรก็ตาม แทนที่จะใช้วิธีการเสนอขายหุ้นแบบเดิมๆ Google ตัดสินใจใช้กระบวนการที่เรียกว่าการประมูลแบบดัตช์ (Dutch auction) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระจายความเสี่ยงของนักลงทุน โดยการเปิดรับกลุ่มนักลงทุนที่หลากหลายเข้าร่วม ทั้งพนักงานและนักลงทุนรายย่อย โดยเปิดให้นักลงทุนทั่วไปสามารถซื้อหุ้นได้ผ่านเว็บ
ไกรมส์ กล่าวว่า แลร์ลี่ เพจ (Larry Page) และ เซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) สองผู้ร่วมก่อตั้งต้องการความเท่าเทียมสำหรับการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกของพวกเขา การประมูลจะถูกกำหนดโดยราคาและขนาด โดย IPO ครั้งนั้นประสบความสำเร็จและสร้างปรากฏการณ์ให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
ปัจจุบัน Google ดำเนินการภายใต้ Alphabet บริษัทแม่ มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และไม่ได้เป็นแค่ “เสิร์ชเอนจิ้น”
โดยตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาการเข้าซื้อกิจการบริษัทครั้งสำคัญอย่าง Android, Chrome และอีกหลายบริษัทรวมถึงสตาร์ทอัพหลังจากนั้นกว่า 8 ราย มีส่วนขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของระบบนิเวศ Google หลายประการ อาทิ YouTube ในปี 2006 DoubleClick ในปี 2007 ที่ทำให้ Google กลายเป็นเสิร์ชเอนจิ้นที่ก้าวสู่ธุรกิจโฆษณา ต่อเนื่องด้วย DeepMind ในปี 2014 ที่ทำให้ Google ก้าวสู่สนาม Generative AI เป็นรายแรกๆ ในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม การขยับขยายอาณาจักรของ Google อย่างรวดเร็ว ก็ถูกจับตามองโดยหน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐฯ อย่างสำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (FTC) และ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (DOJ) ในประเด็นต่อต้านการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยี ที่ทำให้ Google ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลหลายครั้ง ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อใจของนักลงทุน และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทต่อเนื่องไปอีกสิบปีหลังจากนี้
อ้างอิง CNBC
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney