เอริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) อดีตซีอีโอของ Google ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ในปี 2001-2015 กล่าวในการบรรยายเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะพูดคุยกับคณาจารย์ถึงการแข่งขันในสนาม AI ณ ปัจจุบัน
โดยมีช่วงหนึ่งที่ ชมิดท์ ถูกขอให้อธิบายว่า ทำไม Google ถึงตกเป็นรองและสูญเสียสถานะเบอร์ต้นให้กับคู่แข่ง AI ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ Anthropic สตาร์ทอัพผู้พัฒนา Claude AI ที่ถูกจัดอันดับให้เป็นโมเดล AI ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในตอนนี้ แทนที่จะเป็น Google ในฐานะที่เป็นบริษัทผู้วิจัยและพัฒนา Transformer Model หรือ "T" เทคโนโลยีนี้ช่วยขับเคลื่อนโมเดล GPT ในปัจจุบัน
"ผมขอโทษที่ต้องพูดตรงๆ แต่ความจริงคือ หากทุกคนออกจากมหาวิทยาลัยและไปก่อตั้งบริษัท คุณก็จะไม่อนุญาตให้พนักงานของคุณทำงานจากที่บ้านและเข้ามาทำงานเพียงวันเดียวต่อสัปดาห์ หากคุณต้องการแข่งขันกับสตาร์ทอัพอื่นๆ" โดยเขาชวนคิดว่าการทำงานหนักคือเหตุผลที่บรรดาสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ
ชมิดท์ วิพากษ์วิจารณ์ Google ซึ่งเป็นบริษัทเก่าของตัวเองว่า นโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น (Work From Home) คือสาเหตุที่ทำให้ Google ตามไม่ทันคู่แข่งโดยช่วงเดือนเมษายน ปี 2022 ซึ่งเป็นเวลาไม่กี่เดือน ก่อนที่ OpenAI จะเปิดตัว ChatGPT ในเดือนพฤศจิกายน 2022 Google กำหนดให้พนักงานส่วนใหญ่เข้ามาที่สำนักงานจริงอย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์เท่านั้น
อย่างไรก็ตามหลังจากที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโพสต์บันทึกวิดีโอการบรรยายดังกล่าวลงบนยูทูบ ก็กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว มีผู้เข้าชมมากกว่า 40,000 ครั้ง ในเวลาเพียงหนึ่งวัน
เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงวิสัยทัศน์ของ ชมิดท์ พร้อมกระแสตีกลับจากชาวเน็ต โดยมีการนำบันทึกภายในของฝ่าย HR ของ Google เมื่อปีที่ออกมานำเสนอว่า พนักงานประจำของ Google โดยเฉลี่ยทำงานนานกว่าแปดชั่วโมงต่อวัน เพื่อสื่อให้เห็นว่าพวกเขาทำงานหนักไม่แพ้ใคร
หลังจากนั้นสหภาพแรงงานบริษัทแม่อย่าง Alphabet Workers Union ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานที่ Google และบริษัทอื่นๆ ในเครือออกมาโต้กลับความคิดเห็นของ ชมิดท์ โดยระบุผ่านการโพสต์ข้อความใน X ว่า “ตัวเลือกการทำงานที่ยืดหยุ่นไม่ใช่สาเหตุของการทำงานที่ล่าช้า” แต่ "การจัดลำดับความสำคัญทางธุรกิจใหม่ การขาดแคลนพนักงาน การเลิกจ้างอย่างต่อเนื่อง ค่าจ้างที่ไม่ปรับเปลี่ยน และการขาดการติดตามจากฝ่ายบริหาร ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้พนักงานของ Google ทำงานล่าช้าลงทุกวัน"
โดยล่าสุด ชมิดท์ เคลื่อนไหวอีกครั้งโดยกล่าวกับ The Wall Street Journal ทางอีเมลว่า ตนขอถอนคำพูด และขอโทษที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึง Google โดยระบุว่า "เขาเสียใจกับคำพูดที่ผิดพลาดของตัวเอง" พร้อมกับขอให้ลบบันทึกวิดีโอออกจากยูทูบ.
อ้างอิง : Wall Street Journal