เปิดเส้นทาง Colin Huang เจ้าของ Temu มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของจีน ผู้สร้างธุรกิจจากความขาด

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดเส้นทาง Colin Huang เจ้าของ Temu มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของจีน ผู้สร้างธุรกิจจากความขาด

Date Time: 14 ส.ค. 2567 14:12 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • Colin Huang อีกหนึ่งมหาเศรษฐีชาวจีนที่กำลังน่าจับตามอง ล่าสุดได้ขึ้นแท่นเป็นบุคคลที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในจีน ผู้ก่อตั้ง PDD Holdings โดยมีแพลตฟอร์ม e-Commerce อย่าง Pinduoduo และ Temu ที่ปัจจุบันกำลังเป็นที่กล่าวถึงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

Latest


จากรายงานของ Bloomberg ล่าสุด ชี้ว่า Colin Huang ผู้ก่อตั้ง Pinduoduo และ Temu แพลตฟอร์ม e-Commerce รายใหญ่ในจีนและในต่างประเทศ ปัจจุบัน ได้กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 1 ในจีน แซงหน้า Zhong Shanshan เจ้าของบริษัทเครื่องดื่ม Nongfu Spring สัญชาติจีน ที่เคยขึ้นไปเป็นอันดับ 1 ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2021

ตามดัชนี Bloomberg Billionaires Index พบว่า ปัจจุบัน Colin Huang มีความมั่งคั่งที่ 4.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในจีน

หลังจากก่อตั้ง Pinduoduo ขึ้นมาเมื่อ 2015 จนประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่งผลให้เมื่อต้นปี 2021 Colin Huang ก็ได้ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดด้วยความมั่งคั่งสุทธิที่ 7.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่ผลกระทบจากโควิดจะทำให้ความมั่งคั่งของ Colin Huang ร่วงลงกว่า 87% ในระยะเวลาไม่ถึงปี

ต่อมาในเดือนมีนาคม 2021 ทาง Colin Huang ก็ได้ลาออกจากการเป็นผู้บริหารของ Pinduoduo แต่ยังคงถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ ก่อนที่จะมีการเปิดตัว Temu แพลตฟอร์ม e-Commerce เจ้าดังที่เน้นเจาะตลาดต่างประเทศในเดือนกันยายน ปี 2022 และไม่นานหลังจากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023 จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น PDD Holdings โดยมี Pinduoduo ดำเนินการในจีน และ Temu ที่เปิดให้ใช้งานในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก

จากวิศวกรซอฟต์แวร์ สู่ ผู้สร้างสตาร์ทอัพ e-Commerce


ก่อนที่ Colin Huang จะเข้ามาในเส้นทางเทคโนโลยีและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการ e-Commerce ในจีน เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง (Middle-Class) โดยพ่อแม่ทำงานในโรงงาน แต่ด้วยความสามารถด้านคณิตศาสตร์ของเขาสามารถผลักดันตัวเองให้เข้าเรียนใน Hangzhou Foreign Languages School ตอนอายุ 12 ปี และตอนนั้นเองก็ทำให้เขาได้รู้จักกับลูกของเศรษฐี หรือคนในสังคมไฮโซของจีน

ต่อมา Colin Huang ได้เข้าศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ในมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ก่อนจะไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสันในปี 2002 และได้ทำงานต่อในสหรัฐอเมริกา ทั้งเข้าฝึกงานใน Microsoft และเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) ให้กับ Google ในปี 2004

ต่อมาเขาได้เดินทางกลับมาจีนเพื่อร่วมตั้ง Google แต่แล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนจะลาออกในปี 2007 เพื่อไปตั้งสตาร์ทอัพของตัวเองหลายตัว ได้แก่ 

  • Ouku เว็บไซต์ e-Commerce ที่ในปี 2010 ขายออกไปด้วยมูลค่า 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • Lequee ตัวช่วยแบรนด์ต่างชาติให้มาทำตลาดในแพลตฟอร์ม e-Commerce ในจีน
  • Xumeng บริษัทเกมมิง

Colin Huang เคยเข้าร่วมและจบการศึกษาจาก Cheung Kong Graduate School of Business หรือ CKGSB ใน Chuang Chuang Community Program โปรแกรม Incubation สำหรับสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นความร่วมมือของ CKGSB และ Tencent

จากข้อมูลของ Statista หากนับถึงสิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2023 พบว่า จีนมีสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์นหรือมีมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป อยู่ 340 แห่ง และจากข้อมูลของ CKGSB รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2017-2021 สถาบัน CKGSB สามารถผลิตนักธุรกิจที่นำธุรกิจไปเป็นยูนิคอร์นได้มากถึง 39 ธุรกิจ หรือประมาณ 18% ของสตาร์ทอัพทั้งหมด ณ ช่วงเวลานั้น และ Colin Huang ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่สามารถดันธุรกิจอย่าง PDD Holdings จนปัจจุบันมีมูลค่าตามตลาดอยู่ที่ 1.98 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังขึ้นแท่นเป็นบุคคลที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในจีนตอนนี้

เส้นทาง Colin Huang กว่าจะเป็นผู้พลิกโฉมวงการ e-Commerce ในจีน


หลังจากประสบความสำเร็จกับสตาร์ทอัพมาแล้ว Colin Huang ได้มองเห็นช่องว่างของ e-Commerce เจ้าใหญ่อย่าง Alibaba และ JD.com ที่ตอนนั้นยังขาด 3 สิ่งนี้ คือ

  1. แพลตฟอร์ม e-Commerce ไม่มีการติดต่อโดยตรงกับซัพพลายเออร์
  2. แพลตฟอร์ม e-Commerce ละทิ้ง และขาดการเชื่อมต่อกับร้านค้าออฟไลน์
  3. แพลตฟอร์ม e-Commerce ยังไม่มีการเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดียเจ้าใหญ่ในจีนอย่าง WeChat เพื่อสร้างการซื้อ-ขายสินค้าแบบไร้รอยต่อ

บวกกับความต้องการในการสนับสนุนภาคการเกษตร Colin Huang จึงเริ่มต้นแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการเปิดแพลตฟอร์ม e-Commerce อย่าง Pinduoduo ในปี 2015 ที่เปิดให้เกษตรกรสามารถเข้ามาขายสินค้าของตัวเองได้โดยตรงถึงมือลูกค้า โดยดึงเอาโมเดล C2M (Customer to Manufacturer) ที่เชื่อมลูกค้ากับผู้ผลิตโดยตรง

แพลตฟอร์มที่ Colin Huang เปิดขึ้นมาเป็น “Social e-Commerce Platform” ที่ลูกค้าจะสามารถสั่งสินค้าในจำนวนมากหรือในปริมาณเยอะๆ ได้ในครั้งเดียว โดยจะสามารถรวมกลุ่มกับเพื่อนหรือเพื่อนบ้านเพื่อให้สามารถสั่งในจำนวนมากๆ ได้ และจะได้ส่วนลดหรือมีโปรโมชันให้กับการสั่งสินค้าแต่ละครั้ง ซึ่งต่อมากลายเป็นที่รู้จักในระบบ “สั่งแบบกลุ่ม” จะได้ผลประโยชน์ทั้งผู้ซื้อ ที่จะได้ส่วนลด และผู้ขายที่จะได้ขายในปริมาณมาก

และต่อมาในปี 2017 แพลตฟอร์ม Pinduoduo ก็เปิดให้มีการซื้อขายสินค้าประเภทอื่นๆ เพิ่มอีก จนแทบจะมีทุกอย่างให้ลูกค้าบนแพลตฟอร์ม ทั้ง เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น ของใช้ในครัวเรือน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงผักผลไม้สด

จากโมเดลที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง และส่วนลดสินค้าทำให้ลูกค้าหลายกลุ่มสามารถเข้าถึงสินค้าอุปโภค-บริโภค และเพิ่มกำลังซื้อให้กับกลุ่มที่มีกำลังซื้อต่ำได้อีกด้วย

นอกจากนี้ Colin Huang ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประชาชนจีน โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร ด้วยการให้เงินสนับสนุน และการนำ Pinduoduo เข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ ยังช่วยเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้เกษตรกรด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2019 Colin Huang ยังได้เปิดตัว Duoduo โครงการริเริ่มที่จะช่วยเพิ่มทักษะด้านการขาย การเงิน และการตลาดให้กับเกษตรกรบนแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ตาม Colin Huang ได้ก้าวลงจากตำแหน่งผู้บริหาร PDD แล้วตั้งแต่ปี 2021 แต่ยังคงถือหุ้นใน PDD Holdings อยู่ 26.5% 


ที่มา: Bloomberg, SCMP, CKGSBForbes

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ