ย้อนเส้นทาง Intel มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร อดีตเจ้าตลาดชิปที่เริ่มวิ่งตามโลกไม่ทัน

Tech & Innovation

Tech Companies

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

Tag

ย้อนเส้นทาง Intel มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร อดีตเจ้าตลาดชิปที่เริ่มวิ่งตามโลกไม่ทัน

Date Time: 9 ส.ค. 2567 11:06 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • ย้อนเส้นทาง Intel ผู้ผลิตโปรเซสเซอร์สำหรับพีซีและแล็ปท็อปรายใหญ่ที่สุด อดีตบิ๊กเทคยุค 90 มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

Latest


จากบริษัทผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าสูงสุดในสหรัฐฯ ปัจจุบันถูกคู่แข่งจำนวนมากแซงหน้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการตัดสินใจที่ล่าช้าในการปรับตัวตามตลาด รวมถึงการพัฒนา AI ดูเหมือนว่าความพยายามในการชิงความโดดเด่นจากคู่แข่ง AMD และ Nvidia อาจยากเกินไปสำหรับบิ๊กเทคยุค 90 รายนี้ เมื่อหุ้น Intel กลายเป็นหุ้นเทคโนโลยีที่มีผลงานแย่ที่สุดของ S&P 500 ในปีนี้ หลังรายงานผลประกอบการที่ต่ำสุดกว่าที่เคยมีมา 

Thairath Money พาย้อนไทม์ไลน์ Intel ผู้ผลิตโปรเซสเซอร์สำหรับพีซีและแล็ปท็อปรายใหญ่ที่สุด มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร 

เริ่มต้นยุคแห่งไมโครโปรเซสเซอร์ 

Intel ก่อตั้งขึ้นในปี 1968 โดย Gordon Moore ผู้ให้กำเนิดทฤษฎี Moore's law และ Robert Noyce เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขั้นสูง ทั้งสองคนประดิษฐ์แผงวงจร ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในศตวรรษนี้  

ในปี 1971 Intel กลายเป็นบริษัทมหาชนผ่านการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) โดยระดมทุนได้ 6.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (23.50 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น) ด้วยการจัดหาออกแบบ ผลิต จำหน่ายส่วนประกอบคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก นอกจากนั้นบริษัทยังผลิตชิปเซต ตัวควบคุมเครือข่ายอินเทอร์เฟซ หน่วยความจำแฟลช หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

Intel คิดค้นชิ้นส่วนสำคัญที่ก้าวล้ำกว่าใครเพื่อนในขณะนั้น อย่างหน่วยความจำแบบมัลติชิป SRAM และ DRAM กระทั่ง CPU รุ่นแรกอย่าง Intel 4004 ไมโครโปรเซสเซอร์เชิงพาณิชย์ตัวแรกของโลก ซึ่งทำให้ Intel ค่อยๆ เป็นผู้นำในตลาดเซิร์ฟเวอร์ 

“ไมโครโปรเซสเซอร์” Microprocessor ถือเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เนื่องจากไมโครโปรเซสเซอร์ทำให้หน่วยประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลง ทำให้เครื่องจักรขนาดเล็กสามารถทำการคำนวณได้ ซึ่งในอดีตเครื่องจักรขนาดใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ไมโครโปรเซสเซอร์คือพื้นฐานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้กันในปัจจุบัน ตั้งแต่ยุค มินิคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์พีซี คอมพิวเตอร์พีซีฉบับพกพาหรือโน้ตบุ๊ก นั่นเอง 

เรียกได้ว่า Intel มีบทบาทสำคัญอย่างมากในตลาดพีซีและแล็ปท็อปในฐานะผู้ผลิตและจัดหาไมโครโปรเซสเซอร์ประสิทธิภาพสูงที่มีการออกแบบที่ซับซ้อนอย่างน่าทึ่งสำหรับยุคนั้น กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในซิลิคอนวัลเลย์ในฐานะศูนย์กลางเทคโนโลยีขั้นสูง 

ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 Intel ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งซัพพลายเออร์ไมโครโปรเซสเซอร์ให้ลูกค้ารายใหญ่อย่าง IBM นอกจากนี้ยังมีการควบรวมระหว่าง Microsoft Windows และ Intel ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "Wintel" ที่ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการกำหนดภูมิทัศน์ของตลาดพีซี และทำให้ตำแหน่งของ Intel ในตลาดแข็งแกร่งขึ้น

ต่อเนื่องในปี 1990 ภายใต้การบริหารของ Andy Grove ที่เข้ามารับช่วงต่อ ขับเคลื่อน Intel ให้ผ่านช่วงการเติบโตสูงสุด เรียกได้ว่าเป็นยุคที่พีกที่สุด ด้วยการออกแบบ 1,000 นาโนเมตร และ 800 นาโนเมตร ซึ่งเปิดตัวในชื่อ 486DX   

Intel ลงทุนอย่างหนัก ออกแบบไมโครโปรเซสเซอร์ใหม่ๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ก้าวกระโดด ในช่วงเวลานี้ Intel กลายเป็นซัพพลายเออร์ไมโครโปรเซสเซอร์พีซีรายใหญ่ที่สุดที่สามารถควบคุมทิศทางของอุตสาหกรรมพีซีได้ในขณะนั้น 

อย่างไรก็ตามหลังจากปี 2000 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมเทคโนโลยีปรับตัวอย่างหนักกับภาวะฟองสบู่แตก ดีมานด์ในด้านการใช้งานและเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ช่วงขาลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายทศวรรษ 2010 Intel ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจาก AMD กระทั่งบริษัทค่อยๆ สูญเสียความได้เปรียบจากผู้ผลิตชิปเจ้าอื่นจากต่างประเทศโดยเฉพาะ TSMC 

Apple ความผิดพลาดครั้งแรกของ Intel 

ในปี 2005 Steve Jobs ซึ่งขณะนั้นเป็นซีอีโอของ Apple ได้ประกาศว่า Apple จะเปลี่ยน Macintosh จากสถาปัตยกรรม PowerPC ที่ได้รับความนิยมมานานเป็นสถาปัตยกรรม Intel x86 

คอมพิวเตอร์ Mac เครื่องแรกที่มีซีพียู Intel เปิดตัวออกมาในปี 2006 ต่อเนื่องถึง MacBook ที่ทำงานบนโปรเซสเซอร์ Intel ซึ่งได้รับการอัปเดตเป็นโปรเซสเซอร์ Intel Xeon

แม้ว่า Apple จะใช้ผลิตภัณฑ์ของ Intel แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองบริษัทก็ตึงเครียดเป็นบางครั้ง ข่าวลือที่ว่า Apple เปลี่ยนจากโปรเซสเซอร์ของ Intel มาเป็นโปรเซสเซอร์ที่ออกแบบเองเริ่มแพร่สะพัดตั้งแต่ต้นปี 2011 

มากไปกว่านั้น Intel ยังพลาดโอกาสในตลาดมือถือ แม้ว่าพวกเขามีโอกาสที่จะเป็นผู้จัดหาชิปให้กับ Apple ในการผลิต iPhone แต่กลับปฏิเสธและประเมินศักยภาพของสมาร์ทโฟนต่ำเกินไป ทั้งสองบริษัทไม่สามารถตกลงกันเรื่องราคาหรือใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้ ในทางกลับกัน Apple เลือกใช้ชิปของ Samsung เมื่อ iPhone เปิดตัวในปี 2007 จากนั้น Apple ก็เปิดตัวชิป iPhone รุ่นแรกที่ผลิตในประเทศในปี 2010  

สมาร์ทโฟนสมัยใหม่แทบทุกเครื่องใช้ชิปที่ใช้ ARM แทนเทคโนโลยี x86 ของ Intel โดยมี Qualcomm เข้ามาเป็นผู้ผลิตและได้โอกาสอันสมบูรณ์แบบในการครองตลาดชิปมือถือไป   

ชิปของ ARM ได้รับการปรับปรุงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มหาศาลและความต้องการของอุตสาหกรรมที่ต้องการชิปใหม่ทุกปี Apple เริ่มวางคำสั่งซื้อจำนวนมากกับ TSMC เพื่อสร้างชิป iPhone โดยเริ่มจาก A8 ในปี 2014 ซึ่งนั่นยังทำให้ TSMC มีรายได้เป็นประจำทุกปี ซึ่งในที่สุดก็แซงหน้า Intel

นอกจากนี้ Tim Cook ซีอีโอของ Apple ประกาศว่าจะเปลี่ยนสายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจากซีพียูของ Intel มาเป็นโปรเซสเซอร์ที่ออกแบบเองโดย Apple ที่ใช้สถาปัตยกรรม ARM ในเดือนพฤศจิกายน 2020 Apple ได้เปิดตัว M1 ซึ่งเป็นโปรเซสเซอร์ที่ออกแบบโดยเฉพาะสำหรับ Mac ครั้งแรก

การเปลี่ยนแปลงนี้คาดว่าจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อ Intel เนื่องจาก Apple คิดเป็นเพียง 2% ถึง 4% ของรายได้ อย่างไรก็ตามในเวลานั้นเชื่อกันว่าการที่ Apple เปลี่ยนไปใช้ชิปของตัวเองอาจกระตุ้นให้ผู้ผลิตพีซีรายอื่นประเมินการพึ่งพา Intel ใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมา Intel ก็เริ่มสูญเสียส่วนแบ่งในธุรกิจให้กับกลุ่มชิปขนาดเล็กสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพา

แม้ว่าจะ Intel พยายามเจาะตลาดสมาร์ทโฟน โดยเปิดตัวชิปมือถือที่ใช้ x86 ชื่อว่า Atom ซึ่งใช้ใน Asus Zenphone เมื่อปี 2012 แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับความนิยมที่มากพอ ทำให้ต้องปิดตัวลงไปในปี 2015 

Intel ดิ้นรนเพื่อรักษาความเร็วในตำนาน 

ขณะที่ผู้ผลิตชิปทั่วโลกกำลังก้าวกระโดดในด้านเทคโนโลยี Intel กลับต้องหยุดชะงัก การเปลี่ยนผ่านไปสู่ขนาดสถาปัตยกรรมที่เล็กลงนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า Intel ไม่สามารถคว้าช่องว่างในตลาดสมาร์ทโฟนที่ต้องการชิปขนาดเล็กจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา 

ผู้ผลิตชิปแข่งกันพัฒนาโปรเซสเซอร์ที่สามารถคำนวณได้มากขึ้น โดยโปรเซสเซอร์นั้นทำงานได้เร็วขึ้นเมื่อมีทรานซิสเตอร์มากขึ้น ด้วยการทำให้ทรานซิสเตอร์เล็กลง โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดพกพายิ่งต้องการโปรเซสเซอร์ขนาดเล็กลงตามลำดับ 

เปรียบเทียบ Intel 4004 รุ่นดั้งเดิมมีขนาด 10 ไมโครเมตร ปัจจุบันชิปที่ดีที่สุดของ TSMC มีขนาดเพียง 3 นาโนเมตรเท่านั้น ซึ่งนาโนเมตรมีขนาดเล็กกว่าไมโครเมตรถึง 1,000 เท่า อย่างไรก็ตามปัจจุบัน Intel ผลิตชิปได้เล็กที่สุดที่ 7 นาโนเมตร

ทั้งนี้ Intel ภายใต้การนำของ Brian Krzanich เป็นที่ชัดเจนว่าการพัฒนาชิป 10 นาโนเมตรล่าช้าออกไป เพราะบริษัทยังคงแน่วแน่ในการจัดส่งโปรเซสเซอร์พีซีและเซิร์ฟเวอร์โดยใช้กระบวนการ 14 นาโนเมตรต่อไปนานกว่าสองปี โดยความล่าช้านี้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อ Intel ไม่สามารถพัฒนาชิปขนาด 7 นาโนเมตรได้ทันเวลาในปี 2020  

ในช่วงนี้ AMD ที่ปรับโฟกัสมาเป็นการออกแบบชิปและกระบวนการผลิตไปสู่ขนาดสถาปัตยกรรมที่เล็กลง ผลลัพธ์ก็คือ AMD ไม่เพียงแต่ตาม Intel ทัน แต่ยังแซงหน้า Intel 

AMD สามารถแย่งตลาดชิปเซิร์ฟเวอร์และพีซีสำเร็จ โดยตลาดตอบรับชิปของ AMD ดีกว่าของ Intel ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ จากเดิมที่ AMD ซึ่งแทบไม่มีส่วนแบ่งการตลาดในซีพียูเซิร์ฟเวอร์เมื่อทศวรรษที่แล้ว เริ่มเข้ามาทำธุรกิจของ Intel ในพื้นที่นั้น AMD ทำยอดขายซีพียูเซิร์ฟเวอร์มากกว่า 20% ในปี 2022 และการจัดส่งเติบโตขึ้น 62% ในปีนั้น ตามการประมาณการของ Counterpoint Research เมื่อปีที่แล้ว AMD แซงหน้ามูลค่าตลาดของ Intel ในปีเดียวกัน

โดยล่าสุดเมื่อเข้าสู่ยุคของ AI ในช่วงปี 2023 Intel ต้องรับมือกับการผงาดขึ้นของ Nvidia ในฐานะผู้ป้อน GPU ประมวลผลขั้นสูงสำหรับงานด้าน AI ให้กับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ทั่วโลก รายได้ของ Intel ก็ลดลงติดต่อกันเจ็ดไตรมาสเมื่อไม่นานนี้ และถูก Nvidia แซงหน้าเมื่อปีที่แล้ว

Intel กำลังดิ้นรนรักษาตำนาน

แม้ช่วงที่ผ่านมา Intel จะมีแผนทุ่มทุนมหาศาลเพื่อยกระดับโปรดักต์ของตัวเองเพื่อฟื้นคืนความโดดเด่นในอุตสาหกรรม แต่ทว่า Intel สูญเสียฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องให้กับคู่แข่งที่มีการปรับโมเดลธุรกิจเพื่อทำตลาดเซมิคอนดักเตอร์อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าครั้งหนึ่ง Intel เคยเป็นเจ้าแห่งชิปที่เปลี่ยนโฉมโลกแห่งพีซี ทำให้โลกเข้าสู่ยุคแห่งไมโครโปรเซสเซอร์ แต่ไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่า ดีมานด์ในตลาดอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนไป

คู่แข่งที่เชี่ยวชาญด้าน AI กำลังแย่งชิงลูกค้าบางส่วนของ Intel ได้แก่ Nvidia, AMD ซึ่งเคยเป็นคู่แข่งที่ต่อสู้กับ Intel มาตั้งแต่อดีต และ TSMC ที่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างแล้วว่ามีการผลิตที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรม

เมื่อยุค AI อาจไม่ใช่ทางของ Intel

มูลค่าหุ้น Intel มูลค่าร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ 50 ปี แตะระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนหลังจากที่บริษัทเผยผลประกอบการไตรมาสสองของปี 2024 รายได้ที่ต่ำกว่าคาด ขาดทุนสุทธิอย่างหนักกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับยอมรับว่าจะยังไม่สามารถทำกำไรได้ในเร็วๆ นี้   

ราคาหุ้นร่วงลง 26% เหลือ 21.48 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการร่วงลงของราคาหุ้นในวันเดียวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982  

Pat Gelsinger ซีอีโอ ณ ปัจจุบัน ยอมรับว่า การขยายโรงงานและกำลังการผลิตชิปพีซี Core Ultra ที่ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ AI เพื่อไล่ตามกระแสเทคโนโลยีใช้ต้นสูงมาก แต่มาร์จิ้นที่ได้กลับต่ำเกินไป บริษัทจำเป็นมุ่งสู่แผนลดต้นทุน ปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายใหม่ โดยลดการคาดการณ์ค่าใช้จ่ายด้านทุนตลอดทั้งปีลงมากกว่า 20% ทั้งนี้จะไม่มีการจ่ายเงินปันผลในไตรมาสที่สี่แก่ผู้ถือหุ้น และเตรียมปลดพนักงานกว่า 15,000 คน หรือราว 15% นับเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่สุดของ Intel ในรอบ 50 ปี  

อย่างไรก็ตาม Intel โต้แย้งว่า การผลักดัน "PC AI" จะมีการเติบโตภายในปี 2026 และจะส่งต่อมาร์จิ้นที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว และคืนอำนาจให้กับ Intel กลับมา แต่แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ทำให้ซ้ำเติมความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อต่อบิ๊กเทคยุค 90 รายนี้ที่สั่นคลอนอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้นอีกราคาหุ้นของ Intel ร่วงลง 26% หลังจากปิดทำการ ทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทร่วงลงมาต่ำกว่า 100 พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Intel ในฐานะผู้ผลิตชิปที่มีมูลค่าสูงสุดในสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีขนาดหนึ่งในสิบหกของ Nvidia เมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาด Nvidia ที่ 3 ล้านล้านเหรียญ นอกจากนี้ยังเล็กกว่า Qualcomm, Broadcom, Texas Instruments และ AMD

ปัญหาของ Intel สะสมมาหลายสิบกว่าปี เป็นการยากที่จะปิดช่องว่างด้านเทคโนโลยีที่เกิดจากการลงทุนไม่เพียงพอในช่วงกว่าทศวรรษ  แม้ว่า Intel ไม่มีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย เพราะบริษัทยังคงทำกำไรได้หลายหมื่นล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม Intel ไม่ใช่ผู้เล่นที่ครองตลาดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อีกต่อไป สถานการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับ Intel ดูเหมือนจะเป็นการรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ เนื่องจากยุคที่ Intel ครองตลาดได้ผ่านพ้นไปนานแล้ว... 

อ้างอิง Intel CNBC  , Bloomberg , Forbes 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)
Technology & Digital Economy Team , The Columnist of BrandStory