สร้างแรงกระเพื่อมไม่น้อยหลัง Berkshire Hathaway เผยแพร่รายงานผลประกอบการไตรมาสองของเมื่อวันเสาร์ที่ (3 ส.ค.) ระบุว่า บริษัทขายหุ้น Apple ออกไปถึง 49.4% ในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา ต่อเนื่องจากขายออกไป 13% ในไตรมาสแรกปีนี้ ทำให้บริษัทมีเงินสดสำรองในบัญชีเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.77 แสนล้านเหรียญ หรือราว 9.77 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้มูลค่าการถือหุ้นใน Apple อยู่ที่ 8.42 หมื่นล้านเหรียญ ณ สิ้นไตรมาส ทั้งนี้หุ้นจำนวน 390 หุ้นที่ขายออกไปรวมแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของพอร์ต มีมูลค่าทั้งสิ้น 7.55 หมื่นล้านเหรียญ หรือราว 2.66 ล้านล้านบาท จาก 790 ล้านหุ้น ทำให้ปัจจุบันเหลือ 400 ล้านหุ้น โดย Apple ยังเป็นหุ้นที่ถือครองมากที่สุดอยู่ดี แม้จะขายออกไปจำนวนมาก
“Apple ยังคงเป็นหนึ่งในการลงทุนที่ใหญ่ที่สุด และเป็นหนึ่งในหุ้นที่กลุ่มบริษัทถือหุ้นอยู่ โดยจะรวมหุ้นนี้ไว้ในรายชื่อการลงทุนระยะยาวหลักๆ รวมถึง Coca-Cola และ American Express”
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Apple ถือเป็นการลงทุนในหุ้นที่สำคัญที่สุดของ Berkshire Hathaway และยังเป็นหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ขับเคลื่อนให้ตลาดโดยรวมปรับตัวสูงขึ้น แม้บริษัทยังย้ำถึงความเชื่อมั่นในรูปแบบธุรกิจ และการบริหารจัดการของ Apple แต่ระหว่างการประชุมประจำปีของบริษัทในเดือนพฤษภาคมปีนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้กล่าวถึงการลดสัดส่วนหุ้น Apple ครั้งแรกด้วยเหตุผลด้านภาษี
โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่าการขายหุ้น Apple จำนวนเล็กน้อยในปีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น Berkshire ในระยะยาว หากรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการเพิ่มภาษีจากกำไรจากการขายหุ้นในอนาคต บัฟเฟตต์ ยังชี้ให้เห็นถึงกำไรจากการขายหุ้นที่อาจสูงขึ้นในปีต่อๆ ไปว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เขาอาจขายหุ้นบางส่วนออกไป
แม้ว่าบัฟเฟตต์จะขายหุ้นที่เขาถืออยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามการขายหุ้น Apple นับเป็นการลดสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ที่สะท้อนทิศทางบางอย่าง นอกจากนี้บริษัทไม่ได้ขายแค่หุ้น Apple แต่ยังขายหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองอย่าง Bank of America รวมมูลค่า 3,800 พันล้านเหรียญ ติดต่อกัน 12 วันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ตามการคำนวณ Financial Times ระบุว่า การขายหุ้น Apple และหุ้นอื่นๆ ก่อให้เกิดกำไรหลังหักภาษี 4.72 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากพอสมควร
พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า Berkshire Hathaway ได้รับประโยชน์จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับแรงเสียดทานทางเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี ทำให้ไตรมาสที่สองนี้บริษัทมีรายได้จากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมเป็น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่ารายได้เงินปันผลจากพอร์ตหุ้นที่ 5.4 พันล้านเหรียญ
ดังนั้น การขายทำกำไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับพอร์ตสัดส่วนหุ้นในตลาดสหรัฐฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสดในกระเป๋า อาจเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผล กอปรกับสัดส่วนของหุ้นที่ขายออกไปยังบ่งชี้ว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจมากกว่าแค่เรื่องภาษี เพราะ ภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกตอนนี้กำลังปรับฐานครั้งใหญ่เพื่อรับมือแนวโน้ม Recession
ทั้งนี้หากพิจารณาที่สัดส่วนการถือหุ้น ณ เดือนเมษายน 2024 หุ้นของ Apple เกือบ 60% ถือโดยนักลงทุนสถาบัน ตามข้อมูลของ Techopedia ในปี 2024 ผู้ถือหุ้นสถานบันรายใหญ่ 3 อันดับแรกของ Apple ได้แก่
อันดับที่หนึ่ง Vanguard Group บริษัทจัดการสินทรัพย์รายใหญ่อันดับสองของโลก คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Apple ในบรรดานักลงทุนสถาบัน จำนวน 1,317,966,471 หุ้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2023 ซึ่งคิดเป็น 8.47% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท
อันดับที่สอง BlackRock บริษัทจัดการสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับสองของ Apple จำนวน 1,043,713,019 หุ้น ซึ่งคิดเป็น 6.7% ของบริษัท
อันดับที่สาม Berkshire Hathaway บริษัทจัดการสินทรัพย์ที่มีทำให้ Apple กลายเป็นหุ้นยอดนิยม ปัจจุบัน Berkshire อยู่ในอันดับที่สาม จำนวน 905,560,000 หุ้น คิดเป็น 5.8% ของของบริษัท
การได้แบ็คอัพจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ลงทุนในหุ้น Apple ตั้งแต่ปี 2016 นับเป็นการรับรองในชื่อเสียงของ Apple ในฐานะหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีการบริหารจัดการที่มั่นคง ผลกำไรและแบรนด์ดิ้งที่แข็งแกร่ง ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนของเขา
Berkshire Hathaway กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของ Apple ในปี 2020 หลังจาก Tim Cook เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งทำให้มูลค่าตลาดของบริษัไต่อันดับแตะ 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2018 และพุ่งสูงขึ้นเป็น 3 ล้านล้านเหรียญในปี 2022
แม้ว่าสัดส่วนเป็นอันดับสาม ณ ปัจจุบันเหลือเพียง 400 ล้านหุ้นหลังการขายออกครั้งล่าสุด จะไม่สร้างกระทบต่อ Apple มากนัก แต่การเทกระจาดในครั้งนี้ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เป็นสายลงทุนระยะยาวและเน้นมูลค่า อีกทั้งยังเชียร์ Apple มาอย่างยาวนาน อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ยึดถือหลักการตาม และนำไปสู่การขายหุ้นออกตามอย่างต่อเนื่อง
เพราะไม่ว่าบริษัทจะแข็งแกร่งเพียงใด ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม เช่น ความรู้สึกของตลาด แรงกดดันด้านกฎระเบียบ ความกดดันจากเศรษฐกิจมหภาค และการแข่งขันที่สูง สามารถส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้ สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน
บทความที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่าสองเดือนที่ผ่านมา Apple จะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและบวนผู้ใช้ จากการเปิดตัว Apple Intelligence พร้อมตัวเลขคาดการณ์ของยอดขายที่ดันให้หุ้นของ Apple พุ่งอย่างต่อเนื่อง
แม้กระนั้นก็เป็นที่รู้ดีกันว่าช่วงที่ผ่านมา กลุ่มสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของรายได้ของ Apple อาจเผชิญกับความอิ่มตัว ทำให้การเติบโตมีความท้าทายมากขึ้น และกำลังถูกแย่งสัดส่วนในตลาดจากคู่แข่งตลาดสมาร์ทโฟน Samsung ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในจีน ตลอดจนผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งการตลาดและผลกำไรของบริษัท
มาดูกันที่ความท้าทายที่ Apple ต้องรับมือ ไม่ว่าจะเป็น ความล่าช้าในการพัฒนา Generative AI ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การถูกจับตาเรื่องการต่อต้านการผูกขาดในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป อาจก่อให้เกิดความท้าทายต่อแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจ และการครองตลาดของ Apple รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทาน ต่อเนื่องถึงผลการดำเนินงานของหุ้น
ทว่า Apple จะเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย นักวิเคราะห์ยังมอง Apple เป็นบวกและยังคงสถานะบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับสองที่ 3.3 ล้านล้านเหรียญ
โดยปัจจัยที่ทำให้ Apple ยังเป็นที่เชื่อมั่น อันดับแรก คือ พื้นฐานของผลประกอบการที่พิสูจน์ให้เห็นว่ารายรับรวมยังคงแข็งแกร่ง สอง คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี Apple ยังคงสร้างสรรค์นวัตกรรมและเปิดตัวผลิตภัณฑ์รวมถึงบริการใหม่ๆ
ยกตัวอย่าง บริการทางการเงิน Apple Card และ Apple Pay รวมถึงกลุ่มบริการของ Apple ได้แก่ Apple Music, Apple TV+, iCloud และ App Store กลายเป็นสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของกลุ่ม โดยมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถขับเคลื่อนการเติบโตต่อไปได้ ต่อเนื่องด้วยเรื่องของ ฐานลูกค้าที่ภักดีซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลกยังเปิดกว้างกับผลิตภัณฑ์ของ Apple อย่างสม่ำเสมอ สรุปแล้วปัจจัยข้างต้นทำให้ Apple สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต้องรอดูต่อไปว่า ความแข็งแกร่งของ Apple ต้านแรงสั่นสะเทือนนี้ได้มากน้อยแค่ไหน แม้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวหุ้นของ Apple ร่วงลงเกือบ 8% ในการซื้อขายทั่วไปก่อนเปิดตลาดอยู่ที่ 219.86 ดอลลาร์สหรัฐ ดันให้มูลค่าตลาด Apple ทะยานแซงหน้า Microsoft ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งบริษัทเทคฯที่มีมูลค่าสูงสุดที่โลก ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2024
อ้างอิง CNBC1 , CNBC2, Forbes , Financial Times , Nasdaq
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -