Temu ช็อปปิ้งออนไลน์สายตรงจากจีน บุกตลาดไทย น่ากลัวแค่ไหน เนื้อร้ายแห่งวงการอีคอมเมิร์ซที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก โดยชื่อนี้ได้กลายเป็นกระแสในในไทยเพียงชั่วข้ามคืน พร้อมกับคำถามคาใจมากมายที่คนไทยต่างพากันตั้งข้อสงสัย และวิพากษ์วิจารณ์
Temu เป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce ในเครือเดียวกับ Pinduoduo บริษัทค้าปลีกออนไลน์จากจีน คู่แข่งตัวฉกาจที่ครั้งหนึ่งเคยมูลค่าแซง Alibaba มาแล้ว โดย Temu ก่อตั้งขึ้นและเปิดตัวเมื่อปี 2022 ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยสโลแกนว่า “Shop Like a Billionaire” (ช็อปปิ้งดุจดั่งเศรษฐี) ที่สินค้าในแอปฯ จะมีราคาที่ถูกมากๆ
Temu มีโมเดลธุรกิจ ถอดแบบบริษัทที่จีนเลย คือ ผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้ากับผู้ผลิตได้โดยตรง เหมือนได้ราคาหน้าโรงงาน ด้วยวิธีรวมคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อต่างๆ เป็นลอตใหญ่ (Group Buying) ซึ่งการซื้อของแบบนี้แม้จะทำให้การจัดส่งล่าช้า แต่ก็ตัดค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับพ่อค้าคนกลาง
อ่านบทความเพิ่มเติม Temu คือใคร? แอปฯ จีน บุกไทย เน้นขายของถูก ยอมไม่เอากำไร แต่ทำไมยังอยู่ได้
หลังจากเปิดตัวได้ไม่นานก็มีผู้ใช้งานชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านราย เอาจริงๆ มันใช้เวลาแค่ 1 ปีจึงจะมีผู้ใช้งานรายเดือน 51 ล้านคน เทียบกับยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ที่ใช้เวลากว่าหลายสิบปีที่กว่าจะมีฐานผู้ใช้ 67 ล้านคน
ปัจจุบัน Temu เปิดให้ใช้งานไปแล้วหลายประเทศทั่วโลก แต่อเมริกายังเป็นตลาดใหญ่สุดของ Temu มีสัดส่วนอยู่ที่ 42.1% และประเทศไทยคือที่ล่าสุดที่ Temu เข้ามาตีตลาด
จากข้อมูลของ MobiLoud พบว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์ของ Temu ในเดือนกันยายน 2022 อยู่ที่ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต่อมาไม่กี่เดือนในช่วงมกราคม 2023 ทาง Temu มียอดขายอยู่ที่ 192 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกอย่างมันได้กลายเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดแทบจะตลอดปี 2023 เลยทีเดียว
ระยะเวลาแค่สองปีนับตั้งแต่เปิดตัวมา แต่กลับมายอดผู้ใช้งานเป็นร้อยล้านราย เป็นผลมาจากการทุ่มเม็ดเงินโฆษณาอย่างมหาศาล
โดย Temu กลายมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากโฆษณาในงาน Super Bowl เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย Temu ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาไปกว่า 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ยังมีข้อมูลออกมาอีกว่า ในปี 2023 Temu ใช้งบโฆษณาไปถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2024
Temu ประสบความสำเร็จด้วยการขายสินค้าราคาถูกที่ส่งตรงจากจีน และกำลังวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซของสหรัฐฯ
แต่อย่างไรก็ตาม Temu ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำกำไรได้จากการขายสินค้าออนไลน์ โดยข้อมูลจาก WIRED มีการประเมินไว้ว่า Temu ขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 30 ดอลลาร์ต่อออเดอร์ และอาจจะขาดทุน 588-954 ล้านดอลลาร์ต่อปีเลยทีเดียว
นอกจากนี้ Temu ยังมีความท้าทายเรื่องความพึงพอใจลูกค้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพของสินค้า
มิติที่ 1 เศรษฐกิจ
แม้ว่าไทยจะขาดดุลการค้ากับจีนมาเสมอ แต่มันกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าเรานำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าที่เราส่งออกไปจีน ซึ่ง 10 ปีก่อนหน้าในปี 2013 ไทยขาดดุลการค้าประมาณ 10,494 ล้านดอลลาร์ แต่ล่าสุดในปี 2023 ไทยขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์
ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากอุปทานส่วนเกินในจีน ผลิตเยอะจนล้น และมันกำลังผลักดันสินค้าคงค้างจากการผลิตจำนวนมหาศาลให้ออกสู่ต่างประเทศ ในราคาที่ถูกมาก เพื่อเคลียร์สต๊อกสินค้าเดิมออกไปได้ ซึ่งช่องทางก็คือ อีคอมเมิร์ซนั่นเอง ส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาดไทยมากขึ้น
และการเกิดขึ้นของ Temu ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่จีนต้องเร่งระบายสินค้าพอดิบพอดีด้วย รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นที่เติบโตขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน นี่ขนาด Temu ยังไม่ได้เข้ามา ยังขาดดุลขนาดนี้ แล้วถ้าเข้ามาทำตลาดเต็มตัวจะขนาดไหน เพราะอย่าลืมว่ายักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกายังถูกเขย่า แล้วประเทศเล็กๆ อย่างเราล่ะจะเหลืออะไร
ผู้ประกอบการไทยรายย่อยตายเรียบ โดยเฉพาะ SME จะได้รับผลกระทบหนักสุด แข่งขันยากขึ้น แม้ว่าไทยเองจะมีมาตรการที่เป็นพิธีการอยู่ว่ามีการเก็บภาษีเพิ่ม แต่ราคาสินค้าจีนก็ยังต่ำกว่าสินค้าไทยอยู่มากอยู่ดี แถมการเติบโตของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีน ยิ่งทำให้สินค้าจีนเข้าถึงผู้บริโภคไทยได้ง่ายขึ้น โดยตลาด e-Commerce ในอาเซียนมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 1.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากปัญหาเรื่องราคาแล้ว แต่ยังมีเรื่องของการทำ Marketing ของเหล่าผู้ขายจากจีนที่ยอมทุ่มทั้งส่วนลด และโปรโมชัน จนเกิดความไม่เท่าเทียมขึ้นในตลาด
อย่างแนวทางการทำตลาดของ Temu ที่ทุ่มเงินกระหน่ำยิงแอดขนาดนั้น ส่งผลให้ต้นทุนโฆษณาสูงขึ้นด้วย ซึ่งหมายความว่าทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ใช้ใหม่
ความน่ากังวลของเรื่องนี้ไปอยู่ที่ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ บนโลกอินเทอร์เน็ตที่ความใจดี และของฟรีไม่มีอยู่จริง ทุกอย่างล้วนต้องแลกมาด้วยอะไรบ้างอย่างทั้งนั้น
ต้องบอกว่าเมื่อปีที่แล้ว แอปฯ Pinduaduo ซึ่งเป็นพี่น้องกับ Temu โดยมีบริษัทแม่เดียวกันอย่าง PDD Holdings เป็นข่าวดังมีดราม่า จน Google ระงับการใช้แอปฯ ถึงขั้นปักธงแดงเปลี่ยนสถานะแอปฯ ให้เป็นมัลแวร์ แม้จะมียอดผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากก็ตาม
เพราะมีปัญหาด้านความปลอดภัยตรงที่ตัวแอปฯ เวอร์ชันที่อยู่นอก Play Store มีลักษณะการทำงานที่คล้ายกับมัลแวร์ โดยแอปฯ นี้ได้ใช้วิธีการ Zero-day แฮกข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อเข้าถึงและรวบรวมข้อมูลผู้ใช้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง Google ปักธงแดงแอปพลิเคชัน Pinduoduo บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนเป็นมัลแวร์
อย่างไรก็ตาม Temu ไม่ได้เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ขายสินค้าราคาถูก เท่านั้น แต่วิธีการดำเนินธุรกิจที่ถือว่าเปลี่ยนโลกอีคอมเมิร์ซให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปนั้น ยังได้สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ และความปลอดภัยทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวลและควรมองอย่างรอบด้าน
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney