ย้อนรอยวิกฤติ “ฟองสบู่แตก” ของโลก ตลาด AI จะประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตอนไหน?

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ย้อนรอยวิกฤติ “ฟองสบู่แตก” ของโลก ตลาด AI จะประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตอนไหน?

Date Time: 22 ก.ค. 2567 10:00 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • ปฏิเสธไม่ได้ถึงความฮอต และร้อนแรงของเทคโนโลยี AI ที่ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึง และเช่นเดียวกันกับในแง่ของการลงทุน ปัจจุบันมูลค่าตลาด AI พุ่งสูงมาก จนมีคาดการณ์ว่าในปีนี้ มูลค่าจะแตะ 1.84 แสนล้านดอลลาร์ แต่ก็มีคำถามตามมาว่า เงินลงทุนที่ทุ่มไปมากขนาดนี้ จะทำให้ "ฟองสบู่แตก" เหมือนระบบเศรษฐกิจในอดีตหรือไม่

Latest


ทุกยุคที่ผ่านมา เมื่อมีสิ่งใหม่ สินค้าใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมาและกลายเป็นที่ต้องการตลาด และถ้าเกิดมีอุปสงค์และอุปทานที่ไม่สอดคล้องกัน ก็อาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งความกังวลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้คือ ตลาดธุรกิจเทคโนโลยี AI ที่เติบโตอย่างรวดเร็วตอนนี้ จะเดินตามรอยวิกฤติเศรษฐกิจอย่างในอดีต

ในบทความนี้ Thairath Money จะพาไปย้อนเวลา ดูว่า มีเหตุการณ์ “ฟองสบู่แตก” ไหนที่น่าสนใจบ้าง และกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร พร้อมกับส่องความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ตลาด AI จะมีประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เกิดฟองสบู่ AI แตกได้หรือเปล่า

ย้อนอดีต “ฟองสบู่แตก” เกิดอะไรขึ้นบ้าง?


ในโลกของเรามีเหตุการณ์ “ฟองสบู่แตก” เกิดขึ้นหลายครั้ง เมื่อสินค้า หุ้น หรือ อสังหาริมทรัพย์ มีราคาสูงกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น และแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรอบ 


– Tulipmania หรือวิกฤติดอกทิวลิป เมื่อดอกไม้ราคาแพงกว่าบ้าน 


ย้อนกลับไปในช่วงปี 1636-1637 เหตุการณ์ฟองสบู่แตกที่เกิดขึ้นครั้งแรกๆ ในช่วงประวัติศาสตร์ คือ Tulipmania หรือวิกฤติดอกทิวลิป ที่ตอนนั้นมีข้อมูลบอกมาว่า ราคาทิวลิป 1 ดอก สามารถซื้อบ้านได้เป็นหลังๆ เลยทีเดียว

จุดเริ่มต้นของ วิกฤติทิวลิป มาจากกลุ่มพ่อค้าที่ได้นำเข้าดอกทิวลิปมาจากแถลออตโตมัน หรือตุรกีในปัจจุบัน เข้าไปสู่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งตอนนั้นในยุโรปยังไม่มีดอกทิวลิป ทำให้กลายเป็นที่ตื่นตาตื่นใจไปทั่ว จนดันราคาจองดอกทิวลิปให้พุ่งขึ้นสูงไปมากๆ 

ขอย้ำตรงนี้ว่าเป็นราคา “จอง” ดอกไม้ เพราะทิวลิปต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะออกดอก เหล่าขุนนาง เศรษฐีและพ่อค้าแม่ค้าต่างก็เก็งราคากันใหญ่โต จนในระยะเวลาเพียง 5 เดือน มูลค่าทิวลิปดอกเดียวก็พุ่งไปถึง 5,500 ฟลอรินท์ หรือถ้าเทียบกับปัจจุบันก็ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

และเพราะเป็นการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาคือ เมื่อดอกทิวลิปโตไม่ทันหรือไม่โต ก็ทำให้ความต้องการมีลดลง อีกทั้ง ผู้ซื้อจำนวนมากเริ่มเข้าใจและประกาศว่าไม่สามารถหาเงินมาซื้อดอกทิวลิปราคาสูงได้แล้ว จนนำไปสู่ภาวะ “ฟองสบู่แตก” ในช่วงสิ้นปี 1637 ส่งผลให้ราคาดอกทิวลิปร่วงลงมา 

ผลกระทบของ “วิกฤติดอกทิวลิป” นี้ แม้จะไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ก็สร้างความเสียหายด้านความเชื่อใจ พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงความโลภของผู้ลงทุนที่หวังจะเก็งราคาสินค้า


– The Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดของโลก


หลังจากเหตุการณ์ Tulipmania ในโลกของเราก็เกิดวิกฤติฟองสบู่แตกอีกหลายครั้ง จนมาถึงช่วงเหตุการณ์สำคัญในระหว่างปี 1929-1939 นั่นก็คือ “The Great Depression” หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดของโลก

เหตุการณ์ The Great Depression เริ่มต้นหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และประเทศแถบอเมริกาเหนือและยุโรปต่างต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศหลังสงคราม จึงมีการผลักดันเศรษฐกิจผ่านการพิมพ์เงินแจกประชาชน ปล่อยกู้ เพื่อสนับสนุนให้สร้างธุรกิจและซื้อบ้าน อีกทั้งตลาดหุ้นก็คึกคักจากการเข้ามาลงทุนของผู้ที่ต้องการจะเก็งกำไร จนทำให้ตลาด Dow Jones ถึงจุดสูงสุดที่ 381.17 ในช่วงกันยายน ปี 1929

แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะต่อมาเกิดการว่างงานมากขึ้น แรงงานล้นตลาด ค่าแรงต่ำ ในอุตสาหกรรมการเกษตรมีสินค้าเหลือสต๊อกเยอะเกินไป ราคาสินค้าลดลง ส่งผลไปถึงตลาดหุ้นที่เริ่มนิ่งและนำไปสู่การปรับตัวลงในที่สุด และลดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งดัชนี Dow Jones ไปถึงจุดต่ำสุดที่ 41.22 จุด ในเดือนกรกฎาคม 1932 หรือลดลงกว่า 89.19% จากจุดสูงสุด

เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ในวงกว้าง อีกทั้งยังกินระยะเวลายาวนานหลายสิบปีกว่าที่จะดึงเศรษฐกิจกลับมาได้ ผลครั้งนี้สร้างความสูญเสียทั้งด้านทรัพย์สินและชีวิตให้ใครหลายคน จนขึ้นชื่อว่าเป็น “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก”


– Dot-com Bubble หรือฟองสบู่ดอทคอม


เมื่อเวลาผันผ่านไป มนุษย์ที่ไม่เคยหยุดพัฒนานวัตกรรม ก็นำโลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยี มีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ต” เกิดขึ้นมา โดยในช่วงปี 1995-2000 เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ Dot-com Bubble หรือฟองสบู่ดอทคอม 

จุดเริ่มต้นของวิกฤติครั้งนี้ มาจากการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีอย่างเช่น Microsoft, Cisco, Intel, Amazon, Lucent และ IBM ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี มีการพัฒนาทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้าจับกลุ่มนักลงทุน พร้อมกับใช้ช่องทางสื่อในการเติมประเด็นหุ้นเทคต่อเนื่อง จนเกิดความสนใจจากหลายฝ่าย และทำให้มูลค่าซื้อ-ขายหุ้นของบริษัทเทคในช่วงนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีการคำนวณว่า ในตลาด NASDAQ มีการซื้อขายกันที่ P/E 200 เท่า หรือถ้ายกตัวอย่างเช่น Cisco ณ ตอนนั้น ราคาหุ้นของบริษัทเคยพุ่งขึ้นมากถึง 4500% ในระยะเวลา 5 ปี 

ซึ่งบางบริษัทเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อฉวยโอกาสในช่วงหุ้นแพง โดยพบว่า มีบางแห่งที่สร้างโดเมนบนอินเทอร์เน็ตขึ้นมาเฉยๆ ก่อนจะเร่ง IPO เข้าตลาด NASDAQ และเจ้าอื่นๆ ก็ดึงให้เหล่านักลงทุนเข้ามาป้อนเงินให้เพื่อหวังจะเข้าตลาดตามไป อีกทั้งผู้คนจำนวนมากก็แห่กันลาออกจากงานเพื่อมาเป็นเทรดเดอร์

และผลที่ตามมาคือ นักลงทุนเริ่มที่จะรับรู้ได้ว่า การทุ่มเงินลงทุนมหาศาลลงไปอาจไม่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากลับมา นำไปสู่ช่วงปี 2000 ที่เกิด “ฟองสบู่แตก” หุ้นของบริษัทเทคต่าง ๆ ร่วงลงมาอย่างหนัก จนในที่สุดสหรัฐอเมริกาต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คนจำนวนมากในบริษัทเทคต้องตกงาน และอีกหลายคนต้องเสียทั้งเงินและชีวิตจากวิกฤตครั้งนี้

ตั้งแต่ช่วงปี 1600 จนมาถึงในปัจจุบัน ทั่วโลกเกิดเหตุการณ์ “ฟองสบู่แตก” อยู่หลายครั้ง ไม่ได้มีเพียงแค่ที่กล่าวไปข้างต้น แต่สิ่งที่กำลังเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ในตอนนี้คือ การเติบโตของ AI ที่ส่อแววจะคล้ายกับยุคดอทคอม ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมีคำถามเกิดขึ้นมา

แล้วในยุค AI ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย ฟองสบู่จะแตกไหม?


จากรายงานของ J.P.Morgan ได้อธิบายถึงการเติบโตของตลาด AI ไว้ว่า การเติบโตของเทคโนโลยี AI เป็นไปอย่างมีนัยสำคัญ เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญของโลกเลยก็ว่าได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ AI ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ในอนาคตจะเห็นพัฒนาการที่มีมากกว่านี้อีก

เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินและรู้จักคำว่า AI มานานแล้ว แต่ความบูมที่ทำให้ทุกคนเริ่มเข้าถึง คือ ช่วงปลายปี 2022 ที่ OpenAI ได้เปิดตัว ChatGPT ออกมา ทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีชื่อของ AI อยู่ด้วยออกมามากขึ้นในตลาด

และการพัฒนา AI มี Value Chain ที่ยืดยาว เป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นนำที่ออกแบบชิป ออกแบบซอฟต์แวร์ ไปจนถึงฮาร์ดแวร์ และนำ AI ไปประยุกต์ในอุปกรณ์ จนถึงธุรกิจต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน กำลังอยู่ในจุดที่มีศักยภาพทั้งในการนำไปพัฒนาต่อ และนำไปใช้งาน

จากข้อมูลของ Statista ชี้ว่า ตลาด AI ในปี 2024 จะมีมูลค่าทั้งหมดที่ 1.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงปี 2024-2030 นี้มีคาดการณ์ว่าจะโตขึ้นปีละ 28.46%

แต่เรื่องที่จะเกิด “ฟองสบู่แตก” ขึ้นหรือไม่ ทาง J.P.Morgan มองว่า ปัจจุบันตลาด AI ยังคงแตกต่างจากตลาดในยุคดอทคอม ถึงแม้ว่ามูลค่าของบริษัทเทคโนโลยีด้านนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และก้าวมายืนในตำแหน่งต้นๆ ของโลก 

หากลองเทียบกับช่วงวิกฤติดอทคอม บริษัทเทคใหญ่ๆ จะมีการซื้อขายกันที่ P/E 59 เท่า แต่ ณ ตอนนี้ กลุ่มบริษัท AI จะมีการซื้อขายอยู่ที่ P/E 34 เท่า นอกจากนี้ ในช่วงปี 2000 เหล่านักลงทุนได้ตั้งเป้าการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (Earning-per-Share) ไว้ที่ 30% ในขณะที่ปัจจุบันตั้งเป้าในบริษัทเทค AI ที่ 42% ซึ่งดูมีความสมเหตุสมผลกว่า

และหากลองเทียบจากกราฟที่นำเสนอโดย J.P.Morgan จะเห็นว่า บริษัทเทคด้าน AI (เส้นสีฟ้า) ยังอยู่ในตำแหน่งที่ไม่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับตลาด NASDAQ (เส้นสีส้ม) ทำให้ยังไม่สามารถการันตีได้ว่า หุ้น AI จะ Outperform หุ้นอื่นๆ ในตลาดได้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ตำแหน่งของบริษัทเทคในปี 2024 แตกต่างกันมากับบริษัทเทคในปี 2000

อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าทิศทางของตลาด AI จะเป็นไปอย่างไรต่อ เพราะอย่าลืมว่า นี่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในจุดเริ่มต้นของยุค AI

อ้างอิง: J.P.Morgan, CoinTelegraph, InvestopediaStatista

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ