Money 20/20 ปักหมุดไทยเป็นเจ้าภาพ 3 ปี ทำไมต่างชาติยกไทยเป็น 'ผู้นำด้าน FinTech' แห่งใหม่ของเอเชีย

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Money 20/20 ปักหมุดไทยเป็นเจ้าภาพ 3 ปี ทำไมต่างชาติยกไทยเป็น 'ผู้นำด้าน FinTech' แห่งใหม่ของเอเชีย

Date Time: 26 เม.ย. 2567 19:39 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • Thairath Money พาเจาะลึกถึงมุมมองของคณะผู้จัดงานที่ได้ฉายภาพฉากทัศน์การเงินแห่งอนาคต เทรนด์นวัตกรรมการเงิน โอกาสของภาคการเงินการธนาคารท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และเหตุผลสำคัญที่ต่างชาติมองประเทศไทยเป็นศูนย์กลางใหม่ของธุรกิจฟินเทคในเอเชีย

Latest


หลังประกาศว่า ‘ประเทศไทย’ คือ เจ้าภาพจัดงาน ‘Money20/20 Asia’ ที่สุดของมหกรรมฟินเทคที่ได้รับยอมรับในอุตสาหกรรมการเงินทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกแห่งเอเชีย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 23-25 เมษายน 2567 และยังปักหมุดให้ กรุงเทพมหานคร รับตำแหน่งเจ้าภาพต่อเนื่องเป็นระยะเวลาสามปี (2567-2569) เรียกได้ว่า กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นเมืองที่สามที่ได้รับความไว้วางใจในการจัดงานดังกล่าวต่อจากลาสเวกัส และอัมสเตอร์ดัมที่ดึงดูดผู้คร่ำหวอดในโลกฟินเทคกว่า 20,000 คน เข้าร่วมงานในทุกๆ ปี   

ในปีนี้บรรดาผู้คนในแวดวงการเงินไทย ทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันการเงิน องค์กรธุรกิจ สตาร์ทอัพ นักลงทุน รวมถึงคนทั่วไปที่สนใจในเรื่องราวของภาคการเงินและเทคโนโลยีต่างให้การตอบรับอย่างล้นหลาม

ไม่ว่าจะเป็นการนำเอานวัตกรรมธุรกรรมการเงินมาโชว์ศักยภาพ การเปิดตัวความร่วมมือทางธุรกิจในการยกระดับบริการในภาคการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะไฮไลต์สำคัญกับ 5 เวทีสัมมนาที่ได้เชิญตัวจริงที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมการเงินมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์กันอย่างคับคั่ง 

Thairath Money พาเจาะลึกถึงมุมมองของคณะผู้จัดงานที่ได้ฉายภาพฉากทัศน์การเงินแห่งอนาคต เทรนด์นวัตกรรมการเงิน โอกาสของภาคการเงินการธนาคารท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และเหตุผลสำคัญที่ต่างชาติมองประเทศไทยเป็นศูนย์กลางใหม่ของธุรกิจฟินเทคในเอเชีย 

Cross-Border Payments & Open Banking & Embedded Finance

Scarlett Sieber, Chief Strategy and Growth Officer ของ Money 20/20 เปิดบทสนทนาด้วยเทรนด์ฟินเทคที่น่าจับตามองในภูมิภาคเอเชียและกำลังสร้างความตื่นเต้นให้กับภาคการเงินทั่วโลกในขณะนี้  

อันดับแรก คือ ‘Open Banking’ ระบบเปิดของข้อมูลหรือโครงสร้างการดำเนินงานของผู้ให้บริการทางการเงิน ที่สามารถใช้ข้อมูลการเงินของผู้ใช้บริการจากสถาบันการเงินแห่งต่างๆ เพื่อพัฒนาบริการสำหรับลูกค้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

อันดับต่อมา คือ ‘Embedded Finance’ หรือการผสมผสานบริการทางเงินหรือบริการของภาคธนาคาร (Banking) เข้าบริการด้านอื่นๆ เช่น รูปแบบที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น การรวมโปรดักต์ด้านการเงิน เช่น สินเชื่อ ประกันภัย หรือการลงทุนเข้ากับข้อเสนอของลูกค้าผ่าน Application Programming Interfaces (API) ที่เชื่อมโยงกับพันธมิตรทางการเงิน 

ในด้านของ Tracey Davies, Global President ของ Money 20/20 เสริมว่า อีกหนึ่งเทรนด์ยิ่งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ คือ ‘Cross-Border Payments’ การทำธุรกรรมทางเงินข้ามพรมแดนที่ได้กลายเป็นหัวข้อฮอตฮิตอันดับต้นๆ ที่ผู้เข้าร่วมงานลงทะเบียนเข้าร่วมเพื่อรับฟัง และมากไปกว่านั้นยังมีดีลธุรกิจระหว่างสถาบันการเงินที่น่าจับตามองหลายเจ้าในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ๆ เพื่อการทำธุรกรรมการเงินที่ไร้พรมแดน ยกตัวอย่าง การจับมือกันของสองยักษ์ใหญ่ KBANK และ J.P. Morgan เปิดตัวนวัตกรรมโอนเงินระหว่างประเทศรูปแบบใหม่บนระบบบล็อกเชน  

โดยเธอกล่าวว่า ‘เอเชีย’ มีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดในเรื่องของนวัตกรรมการโอนและชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านกรณีศึกษาของเทคโนโลยี ความร่วมมือทางธุรกิจของสถาบันการเงิน และปริมาณการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมส่วนตัวหรือการทำธุรกรรมระหว่าง B2B, B2C 

นอกจากนี้เธอยังชื่นชมว่าเอเชียยังเป็นผู้นำเหนือภูมิภาคอื่นๆ ในเรื่องการสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน ‘Financial Inclusion’ ที่สามารถลดข้อจำกัดให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม 

โดยยกประเด็นแนวทางการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในเซสชันของ ดร.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่ได้นำเสนอแนวทางขับเคลื่อนให้ไทยเข้าสู่ยุคใหม่ของการชำระเงินดิจิทัลทั้งประเทศ 

ต่อเนื่องถึงประเด็นศักยภาพของภูมิภาคเอเชียที่ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตของฟินเทค (Fintech) สูงมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรอยู่ถึง 60% ของประชากรโลก อ้างอิงจากรายงานของ BCG (Boston Consulting Group) ได้ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนำโดยอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย มีแนวโน้มจะกลายมาเป็นตลาดฟินเทคระดับท็อปของโลกได้ภายในปี 2030  

“ไทย มีกำลังคน การสนับสนุนด้านนโยบาย และธุรกิจฟินเทคที่เติบโตสูง” 

ก่อนหน้านี้ Danny Levy, Senior Vice President ของ Money20/20 Asia ได้กล่าวถึง การปักหมุดหมายใหม่ในภูมิภาคเอเชียที่ได้ระบุว่า แม้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน แต่เอเชียได้กลายเป็นภูมิภาคชั้นนำของโลกในเรื่องฟินเทคและการบริการทางการเงิน สำหรับประเทศไทยนอกเหนือจากศักยภาพในการจัดมหกรรมระดับโลก ไทยยังมีองค์ประกอบสำคัญ นั่นก็คือ การเติบโตของภาคธุรกิจ กำลังคน และการสนับสนุนด้านนโยบาย 

“เราเห็นถึงการขยายตัวแบบก้าวกระโดดของผู้ประกอบการ ประเทศไทย มีความโดดเด่นของธุรกิจที่กำลังเติบโตสูง การเข้ามามีส่วนร่วมของหน่วยงานกำกับดูแล และนวัตกรด้านธุรกรรมการเงิน”   


Scarlett Sieber กล่าวเสริมถึง ความกะตือรืนร้นของหน่วยงานรัฐ ‘The Role of Regulator’ ที่เข้ามามีบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลที่สร้างอิมแพกต์อย่างยิ่งต่อการจัดงาน Money20/20 ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่อเนื่องถึงเอเชีย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมงาน Money 20/20 Asia ของ ธปท. ในฐานะสถาบันการเงินผู้มีหน้าที่กำกับดูแลภาคการเงินการธนาคารของประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญที่ผู้จัดเห็นตรงกันว่าเป็นจุดที่สะท้อนให้เห็นว่าการเงินและการพัฒนานวัตกรรมการเงินได้รับปักหมุดให้เป็นเรื่องสำคัญในระดับนโยบายซึ่งกระตุ้นความสนใจของผู้เข้าร่วมทุกภาคส่วนที่ต้องการรับฟังเป้าหมาย วิสัยทัศน์ รวมถึงกลยุทธ์ของผู้ออกกฎหมายที่จะมีผลต่อธุรกิจ 

เธอกล่าวว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีไทยนั้นมีความก้าวไปไกลกว่าเพื่อนบ้าน และประเทศไทยมีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการเงินหลายอย่างก่อนที่อื่นโดยเธอมองว่าปัจจัยการพัฒนานวัตกรรมการเงินที่ประสบความสำเร็จมาจากข้อได้เปรียบด้านพื้นที่ของไทยและสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งนับเป็นข้อดีอย่างยิ่ง

เธอยกตัวอย่างของ ‘Super App’ ที่ภูมิภาคเอเชียและไทยที่ประสบความสำเร็จ มีกรณีศึกษาของผู้ให้บริการหลากหลายเจ้า เพราะข้อได้เปรียบเรื่องภูมิศาสตร์ โดยเธอยังบอกว่า Super App ยังคงได้รับความสนใจและมีความเคลื่อนไหวจากผู้ให้บริการโทรคมนาคม

ทั้งนี้ในนามผู้จัดงานมีความคาดหวังว่า Money 20/20 Asia ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียจะประสบความสำเร็จ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ผ่านการผนวกผู้เข้าร่วมหลากหลายอุตสาหกรรมที่ได้มาร่วมงานในปีนี้ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ