Alipay+ เครือข่ายชำระเงินข้ามชาติของจีน นวัตกรรมการเงินในมือ แจ็ค หม่า ที่ทรงอิทธิพลกับคนทั้งโลก

Tech & Innovation

Tech Companies

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

Tag

Alipay+ เครือข่ายชำระเงินข้ามชาติของจีน นวัตกรรมการเงินในมือ แจ็ค หม่า ที่ทรงอิทธิพลกับคนทั้งโลก

Date Time: 7 เม.ย. 2567 17:47 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • -การชำระเงินทั่วโลกได้ทวีความก้าวหน้าอย่างมาก จากการใช้เงินสดจนถึงปัจจุบันที่มีระบบชำระเงินดิจิทัลต่างๆ เช่น บัตรเครดิต/เดบิต, internet banking, mobile banking และ e-wallet
  • -ในประเทศจีน บริษัทฟินเทคอย่าง Alipay ภายใต้ Ant Group พัฒนาระบบการชำระเงินดิจิทัลขึ้นและขยายการให้บริการแบบข้ามพรมแดนผ่าน Alipay+ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้ e-wallet ในประเทศของตนเองชำระค่าสินค้าบริการในต่างประเทศที่รองรับ Alipay+ ได้อย่างสะดวก
  • -การขยายตัวของ Alipay+ โดยมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการชำระเงิน แต่ยังพึ่งพาเงินสดเป็นหลัก การเข้าไปร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นช่วยให้ Alipay+ เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
  • -Alipay+ ไม่เพียงแต่ให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดน แต่ยังมีโซลูชันช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้กับร้านค้าโดยเชื่อมโยงแพลตฟอร์มและช่องทางการตลาดต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้า และตอบสนองพฤติกรรมการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไป

Latest


วิวัฒนาการของการชำระเงินทั่วโลกนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง จากยุคที่มนุษย์พึ่งพา “เงินสด” เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมเพียงอย่างเดียว ต่อมาเริ่มมีบัตรเครดิต บัตรเดบิต อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง โมบายแบงก์กิ้ง จนกระทั่งมีตัวเลือกที่ทำให้เราสามารถออกจากบ้าน โดยใช้ชีวิตด้วยสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวอย่าง e-wallet  

ประเทศที่มีนวัตกรรมการเงินมีความก้าวหน้ามากที่สุดที่เราต่างคุ้นเคยกันดี คงหนีไม่พ้น ประเทศจีน ที่ทุกวันนี้ ประชากรแทบทุกคนมี e-wallet และใช้จ่ายผ่าน QR code จนเป็นเรื่องปกติผ่านการขับด้วยบริษัทเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) ขณะที่ประเทศไทย แม้เราจะมีระบบ "พร้อมเพย์" (PromtPay) ซึ่งทำงานภายใต้การสนับสนุนของแบงก์ชาติ ที่ผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมอย่างสะดวกและรวดเร็ว ลดความจำเป็นในการพกเงินสดหรือทำธุรกรรมผ่านธนาคาร แบบดั้งเดิม

หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นของบริษัทเทคโนโลยีการเงินในจีนคือ Alipay ภายใต้อาณาจักรของ Ant Group (ชื่อเดิมคือ Ant Financial Services Group) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นหลักเป็น Alibaba แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลกที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีชาวจีน แจ็ค หม่า ซึ่ง Alipay แพลตฟอร์มชำระเงินนี้เอง ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นและยังเป็นกระดูกสันหลังให้ Ant Group กลายเป็นอาณาจักร FinTech แตกไลน์ให้บริการด้านเงินอื่นๆ ทั้งสินเชื่อ ประกัน การลงทุน ตลอดจน ธนาคารออนไลน์ที่เน้นให้บริการกับธุรกิจขนาดเล็ก  

Ant International พานวัตกรรมการเงินจีน ตีตลาดโลกด้วย Alipay + 

จากความสำเร็จในประเทศจีน Ant Group ต้องการที่จะออกสู่ตลาดโลก โดยตั้งหน่วยธุรกิจอย่าง Ant International ที่มีหน้ารับผิดชอบการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเน้นไปที่การเป็นพันธมิตรกับผู้เล่นท้องถิ่นในอุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งธุรกิจหลักของ Ant International คือ Alipay+ เครือข่ายชำระเงินผ่านมือถือข้ามพรมแดน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสิ่งนี้เป็นการขยายความสามารถของ Alipay ออกไปนอกประเทศจีนนั่นเอง

ถ้าใครนึกภาพของ Alipay+ ไม่ออก ให้ลองเข้าไปที่แอปฯ TrueMoney ไปที่จ่ายเงินร้านค้า และมองมาที่ล่างสุดที่เขียนว่า จ่ายเงินต่างประเทศ ดังนั้นเน้นย้ำอีกครั้งว่า Alipay+ ไม่ใช่แอปพลิเคชันเดี่ยวๆ แต่เป็นโซลูชันที่แทรกอยู่ในแอปพลิเคชัน e-wallet ที่เรามีอยู่แล้วในมือถือ ซึ่งเราจะใช้ก็ต่อเมื่อต้องการใช้จ่ายเงินในประเทศอื่นๆ โดยสแกน QR code ชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าที่รองรับเท่านั้น

สำหรับ Alipay+ เป็นบริการที่ Ant Group เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ด้วยกลยุทธ์การเข้าไปจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นทำให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยทุกวันนี้บัญชีผู้ใช้ 1.5 พันล้านบัญชี เชื่อมต่อกับ e-wallet มากกว่า 25 แอปฯ ชั้นนำทั่วโลก 

นอกจากนี้ Alipay+ ได้เข้าไปสร้างความร่วมมือระบบ QR code ระดับประเทศ เช่น SGQR ของสิงคโปร์ PayNet ของมาเลเซีย ZeroPay ของเกาหลีใต้  KHQR ของกัมพูชา และ LankaPay ของศรีลังกา ซึ่งทำให้ผู้ใช้ Alipay+ สามารถชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้ากว่า 88 ล้านแห่งใน 57 ประเทศทั่วโลกได้โดยง่าย ด้วยการสแกน QR code เท่านั้น ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมเพียงแค่ห้างร้านขนาดใหญ่ Alipay+ ยังเข้าถึงร้านค้าขนาดเล็กนับล้านแห่งที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินดิจิทัลมาก่อนด้วย 

“เพราะตราบใดที่ยังมีการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินจากสถาบันการเงิน ตรงนั้น คือ โอกาสของธุรกิจ FinTech ”

(จากซ้ายไปขวา) Alan Ni CEO  ของ  TNG Digital (Touch 'n Go) , Douglas FEAGIN - President ของ Ant International , Ren-ren Reyes CEO ของ G-Xchange (GCash) , มนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) Ascend Money (TrueMoney) , Venetia Lee - General manager ของ Greater China international business Ant Group , Shin Won-keun CEO -ของ Kakao Pay , Sun Ho CEO ของ Macau Pass
(จากซ้ายไปขวา) Alan Ni CEO ของ TNG Digital (Touch 'n Go) , Douglas FEAGIN - President ของ Ant International , Ren-ren Reyes CEO ของ G-Xchange (GCash) , มนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) Ascend Money (TrueMoney) , Venetia Lee - General manager ของ Greater China international business Ant Group , Shin Won-keun CEO -ของ Kakao Pay , Sun Ho CEO ของ Macau Pass

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างเปิดรับ Alipay+ โดยผู้ใช้งานสามารถใช้ e-wallet เดิมที่ใช้เป็นประจำในประเทศของตัวเอง สแกนจ่ายได้ในหลายประเทศทั่วโลกที่รองรับการใช้จ่ายผ่าน Alipay+ ไม่ว่าจะเป็น ยุโรปและตะวันออกกลางรองรับการใช้งานได้กว่า 10 แอป สิงคโปร์ 12 แอป ไทย 13 แอป มาเลเซีย กว่า 13 แอป เกาหลีใต้กว่า  10 แอป ญี่ปุ่นกว่า 16 แอป มาเก๊ากว่า 13 แอป ขณะที่ในฟิลิปปินส์ได้มีการร่วมมือกับ Gcash ผู้เล่นท้องถิ่นรายใหญ่ นำร่องให้บริการในมะนิลาและเซบู สองเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจาก Alipay แล้ว Alipay+ ได้เปิดให้บริการกับ e-wallet และแอปธนาคารอีก 10 ราย  (ข้อมูล ณ มี.ค. 2567)

กลยุทธ์บุกตลาดญี่ปุ่น ข้ามความท้าทายประเทศอนุรักษ์นิยม Cash is still King

จากความน่าสนใจของ Alipay+ ที่ขยายบริการไปทั่วโลก เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ทีม Thairath Money ได้ร่วมเดินทางกับ Ant International ไปยังเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเรียนรู้เรื่องราวการพา  Alipay+ ตีตลาดโลก ผ่านการทำความเข้าใจจากกลยุทธ์การบุกญี่ปุ่น 

ก่อนอื่นต้องขอเล่าเท้าความถึงพฤติกรรมการชำระเงินของคนญี่ปุ่นก่อน แม้ว่าจะเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมที่ให้คนทั้งโลกได้พึ่งพาทั้ง ต้นกำเนิดของ QR code และการเป็นผู้บุกเบิกการชำระเงินผ่านมือด้วยการนำชิป FeliCa ซึ่งเป็นเทคโนโลยีผลิตขึ้นโดย Sony เมื่อปี 2004 มาฝังในมือถือ ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานให้กับสิ่งที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ว่า Mobile Wallet 

แต่สิ่งที่ทำให้มีความขัดแย้งในใจไม่น้อย มีข้อมูลระบุว่า การใช้จ่ายในญี่ปุ่นนั้นผู้คนยังคงพึ่งพาเงินสดเป็นหลัก และธุรกิจจำนวนมากในญี่ปุ่นก็ยังคงยึดมั่นในการทำธุรกรรมโดยใช้เงินสดเท่านั้น กล่าวคือ Cash is still king แต่นับตั้งแต่โควิดเข้ามา พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวสู่ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานถึงแนวโน้มการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดในญี่ปุ่น โดยการชำระเงินดิจิทัลในญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 111 ล้านล้านเยนในปี 2022 คิดเป็น 1 ใน 3 ของการบริโภครวมทั้งหมดของประเทศ โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 17% ต่อปี และเป็นครั้งแรกที่การใช้จ่ายทะลุ 100 ล้านล้านเยน โดยบัตรเครดิตเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่ง ขณะที่การชำระด้วย QR code มีการเติบโตอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้น 50% ในขณะที่การชำระด้วย e-money เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 2% 

ทางทีม Ant International ได้เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการเติบโตจากการใช้จ่ายในญี่ปุ่นผ่าน Alipay+ ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2023 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 252% จากปีก่อน และจำนวนธุรกรรมเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 314% พร้อมกันนี้ Alipay+ ได้ร่วมมือกับแอปกระเป๋าเงินดิจิทัล 16 แอป และตัวแทนรับชำระเงิน 40 รายในประเทศญี่ปุ่น เพื่อรองรับการชำระเงินดิจิทัลให้กับร้านค้าท้องถิ่นกว่า 2 ล้านแห่ง เพื่อรองรับการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถชำระเงินข้ามพรมแดนได้อย่างราบรื่นเมื่อมาเยือนประเทศญี่ปุ่น

ดักลาส ฟีกิน President ของ Ant International  กล่าวถึงผลตอบรับในการใช้ Alipay+ ว่า "นักท่องเที่ยวรู้สึกสะดวกสบายมากที่ได้ใช้แอปกระเป๋าเงินดิจิทัลจากประเทศบ้านเกิดที่คุ้นเคยในระหว่างการเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่น"  

PayPay แพลตฟอร์มชำระเงินแบบดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
PayPay แพลตฟอร์มชำระเงินแบบดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ Alipay+ ได้มีการความร่วมมือกับ PayPay แพลตฟอร์มชำระเงินแบบดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น พัฒนาโดยบริษัท PayPay Corporation ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 โดยมี SoftBank และ LINE ร่วมกันเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจาก Paytm บริการจ่ายเงินออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย สตาร์ทอัพด้านฟินเทคที่ SoftBank Alibaba และ Ant Group ได้ลงทุนไว้เมื่อหลายปีก่อน ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา PayPay มีจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้วมากกว่า 62 ล้านราย ดังนั้นการเข้าไปผนึกกำลังกับ PayPay จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Alipay+ สามารถขยายการให้บริการไปยังร้านค้าทั่วประเทศญี่ปุ่นได้อย่างรวดเร็ว

ในการเดินทางไปกับ Ant International ครั้งนี้ ทีม Thairath Money ได้ทดลองใช้จ่ายผ่าน Alipay+ ด้วยแอปฯ truemoney ซึ่งเป็น e-wallet ที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้บริการกันอยู่แล้ว กับร้านค้าท้องถิ่นบริเวณตลาด ย่านอาซากุสะ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม โดยเราเห็นร้านค้า แผงขายขนมขนาดเล็กที่มีการติดป้าย PayPay และมีโลโก้ของ Alipay+ เพื่อเป็นการบอกนักท่องเที่ยวว่าสามารถใช้จ่ายผ่าน  QR code ได้ ซึ่งอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมได้เป็นอย่างดี

นวัตกรรมระดับมันสมอง ‘แจ็ค หม่า’ มองไกลว่าแค่บริการชำระเงิน 

บริการชำระเงินอย่าง Alipay จุดเริ่มต้นของอาณาจักร  Ant Group ที่ได้วางให้บริการชำระเงินเป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมให้มีข้อมูลธุรกรรมไหลเวียน และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดสร้างบริการอื่นๆได้มากมาย ตามที่กล่าวถึงไปในช่วงต้นบทความ 

กล่าวมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้ว Alipay+ จะเป็นสะพานต่อยอดบริการได้อย่างไร?

ขอย้อนไปที่รากฐานของผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง Alibaba ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซที่ผู้ก่อตั้งอย่างแจ๊ค หม่า สร้างโมเดลธุรกิจนี้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนมาแล้วเกินครึ่งโลก ดังนั้น การเปลี่ยนร้านค้าที่ตั้งอยู่บนโลกจริง ให้มาทำธุรกิจอยู่บนออนไลน์ จึงถือเป็นงานถนัดเลยทีเดียว ที่จะทำให้การไปต่อของ Alipay+  เป็นมากกว่าบริการชำระเงินข้ามพรมแดนอย่างเดียว (Beyond Payment)

สำหรับ Alipay+ นอกเหนือจากบริการชำระเงินแล้ว ยังมีโซลูชันด้านการตลาดดิจิทัลผ่านโปรแกรมที่ชื่อว่า "A+ Rewards" ที่หลอมรวมอยู่ใน e-wallet โดยโปรแกรมนี้ช่วยให้ร้านค้าสามารถแจกส่วนลดให้กับผู้ใช้ e-wallet นั้นๆ ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยทำการตลาด ดึงดูดและรักษาฐานลูกค้าให้กับแบรนด์ด้วย โดยปัจจุบันโปรแกรมดังกล่าวนี้ได้ขยายไปให้บริการกับ e-wallet ชั้นนำแล้วหลายแห่ง ได้แก่ AlipayHK (ฮ่องกง), DANA (อินโดนีเซีย), GCash (ฟิลิปปินส์), Kakao Pay (เกาหลีใต้), Touch 'n Go eWallet (มาเลเซีย) และ TrueMoney (ไทย)

นอกจากนี้ยังมีบริการ Alipay+ D-store เป็นโซลูชัน "ร้านค้าครบวงจร" ช่วยเปลี่ยนธุรกิจ โดยเฉพาะร้านค้าแบบดั้งเดิมให้กลายเป็นร้านค้าดิจิทัล ที่จะครอบคลุมทั้งบริการชำระเงิน บริการด้านการตลาดผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางโซเชียลมีเดีย และสามารถขายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ 

ดังนั้นการที่ร้านค้าต่าง ๆ ใช้บริการโซลูชันของ Alipay+ ถือเป็นการช่วยเปิดโอกาส และยกระดับการทำธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การรับชำระเงินจากผู้ใช้ e-wallet ทั่วโลกกว่า 1.5 พันล้านบัญชี เข้าถึงนักท่องเที่ยว ต่างชาติจากตลาดต้นทางที่มีการเติบโตสูง เช่น จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังสามารถทำการตลาดแบบเจาะจงเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าได้มากขึ้นด้วย 

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า Alipay+ ไม่เพียงแค่อำนวยความสะดวกในการชำระเงินเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ช่วยยกระดับศักยภาพของ SME ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมกับเป็นการปฏิวัติการชำระเงินดิจิทัลทั่วโลกอย่างแท้จริง ที่ไม่ได้แค่แสดงถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเงิน แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้คนทั่วโลกอีกด้วย  

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)

ลภัสรดา พิพัฒน์ (รดา)
Leading efforts to deliver content on the Digital Economy and the Future of Money.