รู้จัก “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอ Microsoft บุคคลระดับโลกที่จะมาเยือนไทย สำคัญอย่างไรกับประเทศ?

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

รู้จัก “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอ Microsoft บุคคลระดับโลกที่จะมาเยือนไทย สำคัญอย่างไรกับประเทศ?

Date Time: 14 มี.ค. 2567 16:57 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ทำความรู้จัก สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอ Microsoft ที่กำลังจะเดินทางมาไทยเพื่อพบปะกับเหล่านักพัฒนาภายในงาน “Microsoft Build: AI Day” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

Latest


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวใหญ่จากไมโครซอฟท์ (Microsoft) ซึ่งเปิดเผยว่า สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Microsoft มีแผนเดินทางมาเยือนไทยเพื่อพบปะกับชุมชนนักพัฒนาและผู้สร้างนวัตกรรม 

พร้อมพูดคุยถึงโอกาสจากเทคโนโลยี AI และสานต่อความร่วมมือระหว่าง Microsoft กับรัฐบาลไทย ในงาน "Microsoft Build: AI Day" ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเป็นที่ฮือฮาอย่างมากเพราะถือเป็นการมาเยือนไทยในรอบที่สองของเขาหลังจากการมาครั้งล่าสุดเมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้ว

สัตยา นาเดลลา เป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร?

สัตยา นาเดลลา มีบทบาทสำคัญอย่างมากในฐานะซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Microsoft ที่มีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์คลาวด์ของบริษัทโดดเด่นขึ้นมา โดยชายผู้นี้มีภูมิหลังมาจากเมืองไฮเดอราบัด (Hyderabad) ประเทศอินเดีย 

โดยจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจาก Mangalore University จากนั้นจึงได้เข้าศึกษาปริญญาโทสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก University of Wisconsin–Milwaukee และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจาก University of Chicago

และในปี 1992 สัตยาได้เริ่มเข้ามาทำงานที่ Microsoft ในตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ และได้ขึ้นเป็นผู้นำทีมวิจัยและพัฒนาของฝั่ง Online Services ก่อนที่จะเลื่อนขึ้นเป็นรองประธานบริหารดูแลทีม Microsoft Business Solutions (MBS) 

จากนั้นจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานดูแลแผนก Server and Tools รับผิดชอบในส่วนของ Microsoft Azure ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ รวมไปถึง Windows Server และ SQL Server ด้วย ซึ่งภายหลังการนำของสัตยาในระยะเวลาเพียงสองปี แผนก Server and Tools ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นดอลลาร์ (หรือประมาณ 7.2 แสนล้านบาท) จากตอนแรกที่มีรายได้อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 5.9 แสนล้านบาท) 

และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2014 สัตยาได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นซีอีโอของ Microsoft ซึ่งในขณะนั้นบิ๊กเทครายนี้มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ราว 3 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 10.7 ล้านล้านบาท) แต่ภายหลังการดำรงตำแหน่งของสัตยาทำให้ปัจจุบัน Microsoft มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 107 ล้านล้านบาท) และกลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกจนแซงหน้า Apple ไปได้ พร้อมบทบาทเด่นในการเป็นผู้นำด้านคลาวด์และ AI

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหลายรายรวมไปถึงเหล่านักลงทุนต่างระบุว่าสัตยาเป็นผู้ที่ทำให้ Microsoft พร้อมสำหรับการเป็นผู้นำโลกอนาคตอันใกล้ ขณะที่ Aravind Srinivas ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Perplexity ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้าน AI ได้กล่าวว่าสัตยานั้นเป็นคนที่พิเศษ ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน “GOAT” หรือผู้ที่เป็นสุดยอดตลอดกาลในหมู่ซีอีโอสายเทค

ย้อนความร่วมมือรัฐบาลไทย-ไมโครซอฟท์

สำหรับความร่วมมือระหว่าง Microsoft และรัฐบาลไทยล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทางรัฐบาลไทยได้มีการพบปะพูดคุยเพื่อชักชวน Microsoft ให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม ในช่วงเวลาก่อนที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก 2023 ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

และได้มีโอกาสเจรจากับผู้นำบริษัทระดับโลกมากมาย พร้อมด้วยสัญญาการลงทุนจาก 3 บริษัทเทคยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ Amazon, Google และ Microsoft ด้วยมูลค่าการลงทุนเกือบ 4 แสนล้านบาท

ซึ่งในขณะนั้น Microsoft กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวางแผนลงทุนด้าน Data Center ขนาดใหญ่ในไทย และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยวางจุดมุ่งหมายที่จะนำเทคโนโลยีคลาวด์และ AI เพื่อเข้ามาเสริมการทำงานภาครัฐก่อนเป็นหมุดหมายแรก

อีกทั้งภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวไมโครซอฟท์จะสนับสนุนซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล “e-Goverment” และได้วางแผนจัดตั้งศูนย์ AI “Center of Excellent” ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ ในการช่วยกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ทรานส์ฟอร์ม 

ดังนั้นแล้วจึงเป็นที่น่าจับตาว่าการมาเยือนไทยครั้งนี้ของสัตยาจะเกิดความคืบหน้าในความร่วมมือระหว่างภาครัฐไทยและบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่มีทั้งเทคโนโลยีและเม็ดเงินซึ่งเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการยกระดับประเทศไทยให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากความก้าวล้ำของเทคโนโลยี

อ้างอิง

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ