Patronus AI บริษัทประเมินและทดสอบโมเดลภาษาขนาดใหญ่สร้างที่ก่อตั้งโดย Rebecca Qian ซึ่งเคยทำงานในทีมวิจัย AI ของ Meta นำเสนอเครื่องมือ CopyrightCatcher ที่ออกแบบมาเพื่อระบุการละเมิดลิขสิทธิ์ของโมเดล GenAI โดยการประเมินแนวโน้มของโมเดลในการผลิตซ้ำเนื้อหาแบบคำต่อคำ
โดยบริษัทได้เผยแพร่งานวิจัยล่าสุดที่ได้ทำเครื่องมือไปทดสอบกับโมเดลชื่อดัง เช่น GPT-4 ของ OpenAI, Claude 2 ของ Anthropic, Llama 2 ของ Meta และ Mixtral ของ Mistral AI ผ่านการสร้างแบบจำลองที่การอ้างอิงกับหนังสือยอดนิยมที่อยู่ในรายการ Goodreads โดยมุ่งเน้นที่ผลงานภายใต้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น โดยการทดสอบนั้นผู้วิจัยจะทำการป้อนคำสั่งให้สร้างข้อความจากหนังสือบางเล่มเพื่อทดสอบว่าโมเดลดังกล่าวจะสร้างข้อความหรือคำที่ซ้ำหรือไม่ เป็นต้น
ผลลัพธ์ที่ได้ พบว่า โมเดล GPT-4 ของ OpenAI แสดงอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุด ในอัตราเฉลี่ยที่ 44% ขณะที่ Claude 2 ของ Anthropic อยู่ที่ 16% ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวทางการสร้างคำตอบที่ระมัดระวังมากกว่า เมื่อถูกขอให้กรอกข้อความในหนังสือ
งานวิจัยของ Patronus AI สอดคล้องไปกับการถกเถียงเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ในโมเดล AI จำนวนมากในปัจจุบัน ขณะที่อุตสาหกรรมยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นตัวอย่างของ OpenAI ที่เผชิญกับความท้าทายทางกฎหมายหลังการยื่นฟ้องร้องโดยสำนักข่าว The New York Times ที่เรียกร้องถึงความรับผิดชอบต่อการละเมิดเนื้อหาข่าว
งานวิจัยได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการค้นหาสมดุลระหว่างนวัตกรรม และการเคารพในลิขสิทธิ์ เพราะการส่งเสริมการใช้ข้อมูลอย่างมีจริยธรรมจะช่วยส่งเสริมความไว้วางใจ และรับรองการเติบโตที่ยั่งยืนของเทคโนโลยี AI.
อ้างอิง CNBC, Techcrunch
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney