นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวถึง สถานการณ์ของตลาด EV ในประเทศไทยที่กำลังเติบโตและมีความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยมองว่าปัจจัยหลักมาจากการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของค่ายรถ EV จีน
“รถ EV ที่แพร่หลายมากขึ้นทำให้ความต้องการสถานีชาร์จสาธารณะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดตัวสู่ตลาดของค่ายรถ EV จีนในประเทศไทย ได้ผลักให้ปริมาณรถ EV ในท้องตลาด ตลอดจนดีมานด์การใช้งานของผู้ใช้เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกผู้ใช้ เช่น แท่นชาร์จความเร็วสูงหรือแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายการให้บริการที่หลากหลายขึ้น จะกลายเป็นเทรนด์ที่เห็นหลังจากนี้”
ทั้งนี้ จำนวนรถ EV สะสมในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 89,000 คัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจำนวนรถ EV จะเพิ่มขึ้น 50-80% หรือพุ่งขึ้นแตะถึง 200,000 คันในปีนี้ ซึ่งจะเห็นว่าทุกแบรนด์ที่มีรถ EV ได้เปิดตัวและวางแผนขายกลุ่มรถ EV ในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลักชัวรี่แบรนด์จากยุโรป แบรนด์จีนที่เจาะกลุ่มแมสและแบรนด์ที่เป็นอัลตร้าลักชัวรี่ หรือในระยะยาวซึ่งหากเป็นไปตามตามแผนการกระตุ้นของรัฐบาลที่กำหนดว่าจะต้องมีรถ EV ในสัดส่วน 30% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ประเทศไทยจะมีจำนวนรถ EV เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 300,000 คันในปี 2573
โดยหลังจาก บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายรถยนต์ไฟฟ้า BYD รายเดียวในประเทศไทย เข้ามาลงทุนในบริษัทในช่วงกลางปีที่ผ่านมา และได้ทำการเปลี่ยนชื่อรีแบรนด์ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) สาธารณะทุกแห่ง พร้อมทั้งชื่อแอปพลิเคชัน SHARGE ใหม่ สู่แบรนด์ “RÊVERSHARGER”
นายพีระภัทร เปิดเผยว่า การผนึกกำลังกับบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ทำให้บริษัทสามารถมีทุนในการขยายจุดให้บริการสถานีชาร์จสาธารณะ ขยายฐานผู้ใช้บริการ และช่วยให้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก (Insight) ของผู้ใช้บริการ เช่น พฤติกรรมการใช้รถ ความต้องการในการชาร์จรถ EV พร้อมทั้งศึกษาแนวโน้มนวัตกรรมการบริการระดับโลก
โดยในปี 2566 บริษัทมีการเติบโตของรายได้ถึง 10 เท่าจากปี 2565 จากการผนึกความร่วมมือขยายเครือข่ายร่วมกับพันธมิตรเจ้าต่างๆ เพื่อขยายการบริการให้ผู้บริโภคอย่างทั่วถึง ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ แสนสิริ เอสซีแอสเสท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ศุภาลัย และโนเบิล ต่อเนื่องด้วยค่ายยานยนต์ ได้แก่ บีวายดี เมอร์เซเดส เบนซ์ และพอร์ช รวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการสถานีพลังงาน ได้แก่ ปั๊มน้ำมันบางจาก ปั๊มน้ำมันซัสโก้ และปั๊มน้ำมันเชลล์
ปัจจุบัน ชาร์จ แมเนจเม้นท์ มีสถานีให้บริการ EV Charger แบบสาธารณะ 582 สถานี 1,110 หัวชาร์จ ประกอบด้วยหัวชา์จแบบ AC จำนวน 924 และหัว DC จำนวน 1,088 หัว กระจายอยู่ 68 จังหวัด แบ่งสัดส่วนเป็นกรุงเทพฯ 60% และต่างจังหวัด 40% โดยให้บริการธุรกิจแก่ลูกค้าใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
นายพีระภัทร กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีแท่นชาร์จพัฒนาขึ้นช่วยลดเวลาการชาร์จจาก 1 ชั่วโมงเหลือแค่ 10-15 นาที หรือการที่คนไทยเริ่มข้าใจการใช้งานสถานีชาร์จไฟแบบสาธารณะ (Public Charge) มากขึ้น แต่ก็ยังเผชิญกับความท้าทายเรื่องที่ชาร์จ เนื่องจาก ปัจจุบันพบว่า ความต้องการที่ชาร์จในเมืองไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 หัวชาร์จ แต่ปัจจุบันในไทยมีจุดชาร์จสาธารณะรวมกัน 9,693 หัวชาร์จเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าความต้องการจริงราว 35%
ดังนั้น เป้าหมายปี 2567 ชาร์จ แมเนจเม้นท์ ตั้งเป้า ติดตั้ง EV Charger ตามบ้านสะสมให้ครบ 100,000 หลัง และกระจายติดตั้ง EV Charger ตามสถานีสาธารณะ จำนวน 2,012 หัวชาร์จ โดยเน้นเพิ่มสัดส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดให้เพิ่มขึ้น 20% จากสัดส่วนเดิม และจัดตั้งสถานีให้บริการในทุกๆ 160 กิโลเมตร พร้อมหัวชาร์จ DC ความเร็วสูง ชาร์จ 10 นาที วิ่งไกล 100 กิโลเมตร รวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้ได้ถึง 200,000 คนในสิ้นปีนี้
“เราเชื่อว่าด้วยประสบการณ์ที่ครบวงจร การมีเครือข่ายของพันธมิตร ข้อมูลเชิงลึกและการพัฒนาเทคโนโลยี จะช่วยให้เรายกระดับประสบการณ์การชาร์จ EV ที่ครบจบทุกการชาร์จ (Complete) สะดวกทุกเส้นทาง (Coverage) และ สบายชาร์จง่ายทุกคัน (Convenient) ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะเริ่มเห็นการติดตั้งแท่นชาร์จที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้เป็นต้นไป” นายพีระภัทร กล่าว
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney