บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ Subsea IRM (Inspection Repair & Maintenance) ที่ให้บริการเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการสำรวจและซ่อมบำรุงท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำอย่างครบวงจร ภายใต้กลุ่มบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ใน กลุ่มปตท.สผ. เดินหน้าสร้างเทคโนโลยีรองรับเศรษฐกิจทางทะเลที่มีแนวโน้มเติบโตสูง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจทางทะเล หรือ “Blue Economy” ได้รับความสนใจ และมีการคาดว่าจะมีการเติบโตถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในปี 2573 ตลอดจนตลาดการตรวจสอบ-ซ่อมแซม ที่คาดว่าจะเติบโตจาก 42.66 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 เป็น 72.46 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2572
ทำให้แนวคิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านพลังงาน เช่น การใช้ส่งพลังงานปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ และโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเล เช่น การสร้างและวางระบบเคเบิลใต้ทะเลเพื่อใช้ในการสื่อสาร หรือสายไฟใต้ทะเลที่ใช้ในการส่งพลังงานไฟฟ้า
นายภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ROVULA มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีตรวจสอบ ซ่อมบำรุงและรักษาสินทรัพย์ใต้ท้องทะเลหรือ Subsea IRM ผ่านการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์โดยทีมวิศวกรคนไทย
"บริษัทเล็งเห็นว่าการดำเนินการในการสร้างระบบท่อใต้ทะเลยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะการนำอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีไปใช้งานในโลกใต้น้ำ จึงได้พัฒนายานยนต์สำรวจใต้ทะเลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อสนับสนุนธุรกิจและลูกค้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการสำรวจตรวจสอบท่อปิโตรเลียมใต้ทะเล และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงชีวิตให้กับมนุษย์ จากการปฏิบัติหน้าที่ใต้น้ำ"
ทั้งนี้ บริษัทวางบทบาทสู่ผู้นำและผู้สร้างสตาร์ทอัพที่พัฒนา AI / หุ่นยนต์ แบบครบวงจรสำหรับการตรวจสอบทางทะเลและใต้ทะเลของไทย - เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกสู่ตลาด รวมถึงขยายฐานไปสู่กลุ่มพลังงานและพลังงานทดแทนผ่านเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจชั้นนำของไทยและในระดับโลก พร้อมทั้งวางเป้าหมายการเติบโตตั้งแต่ปี 2565 ไม่ต่ำกว่าปีละ 90%
ROVULA ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันพันธมิตรทางธุรกิจอื่นๆ อย่าง XGATEWAY เรือผิวน้ำไร้คนขับ Nautilus นวัตกรรมหุ่นยนต์ ซ่อมบำรุงท่อใต้ทะเลตัวแรกของโลก และ Xspector ระบบการจัดการข้อมูลการสำรวจ ตรวจสอบบนคลาวด์ และ Aquatic monitoring ระบบตรวจจับและจำแนกสิ่งมีชีวิตทางน้ำ
โดยที่ผ่านมา XPLORER ถูกนำมาใช้ในโครงการสำคัญๆ ของ ปตท.สผ. ในอ่าวไทย อีกทั้งยังได้มีการดำเนินงานร่วมกับธุรกิจพันธมิตรในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น การใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบโครงสร้างเขื่อน หรือการจัดทำแผนที่ใต้น้ำ เป็นต้น จึงทำให้นอกจากงานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแล้ว XPLORER ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่นที่มีความต้องการในการสำรวจพื้นผิวหรือโครงสร้างใต้น้ำอีกด้วย
ด้าน นายธษภิชญ ถาวรสุข ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า XPLORER มีความสามารถในการตรวจสอบท่อใต้ทะเลภายนอกที่ดีกว่ายานยนต์สำรวจใต้ทะเลแบบบังคับระยะไกล มีความโดดเด่นกว่าเจ้าอื่นที่การผสานเทคโนโลยี AI ในการนำทางที่ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานเมื่อเทียบกับวิธีการปกติสูงสุดถึง 2 เท่า ไม่ต้องใช้เรือขนาดใหญ่สนับสนุนการทำงานที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเช่าต่อวันที่สูงมากถึงวันละ 1.5 ล้านบาท และมีความเร็วยิ่งขึ้นในการปฏิบัติงาน ทำให้ลดระยะเวลาในการสำรวจ
โดยตัวยาน XPLORER มีน้ำหนักในอากาศอยู่ที่ 850 กิโลกรัม และทนความลึกได้ที่ 300 เมตร ขับเคลื่อนโดยใบพัดผลักดันน้ำจำนวน 8 ตัว ซึ่งจะทำให้ยานมีความสามารถเคลื่อนที่ได้ใน 6 องศาอิสระ และสามารถหยุดนิ่ง ณ จุดใดจุดหนึ่งได้ และมีความสามารถในการวิ่งตามท่อแบบอัตโนมัติโดยใช้คลื่นเสียง (Sonar) กล้อง VDO ในการหาแนวท่อเพื่อให้ระบบประมวลผลสั่งการให้ยานเคลื่อนที่ไปตามแนวที่ถูกต้อง
และที่สำคัญคือ มีระบบนำทางอัจฉริยะที่จะเก็บข้อมูลและภาพแบบเรียลไทม์ เพื่อประเมินสภาพและทำแผนการบำรุงรักษาของอุปกรณ์ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ ทำให้มีความแม่นยำในการระบุตำแหน่งที่เทียบเท่ากับ GPS ช่วยอำนวยความสะดวกการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น ในงานสำรวจและตรวจสอบท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล เช่น ลักษณะพื้นทะเลเหนือท่อ ระบบป้องกันการกัดกร่อนของท่อ ฯลฯ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney