ถ้าพูดถึงอีคอมเมิร์ซเจ้าดังจากจีนหลายคนน่าจะนึกถึง Alibaba หรือ JD.com มาเป็นอันดับแรก แต่รู้หรือไม่ว่ายังมี “Pinduoduo” อีคอมเมิร์ซอีกหนึ่งเจ้าที่มีมูลค่าแซงหน้า Alibababa ไปแล้วด้วยโมเดลการขายที่น่าสนใจอย่าง ‘Group Buying’
บทความนี้ Thairath Money ขอพาทุกคนไปรู้จักกับ Pinduoduo กันให้มากขึ้นว่าอีคอมเมิร์ซมาแรงเจ้านี้จะมีรายได้จากอะไร และทำเงินได้มากขนาดไหนถึงเบียดแซง Alibaba ขึ้นมาได้
Pinduoduo ก่อตั้งในปี 2015 โดย Colin Huang ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ PDD Holdings ซึ่งเป็นช่วงที่ JD และ Taobao กำลังครองตลาดอีคอมเมิร์ซจีน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นแพลตฟอร์มสินค้าเกษตร ก่อนจะขยายไปสู่การเป็นผู้ให้บริการโซเชียลคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้กว่า 900 ล้านคน และได้รับความนิยมอย่างมากจากการเป็น Gamified Online Marketplace ที่เชื่อมต่อผู้ซื้อและผู้ขายให้ทำได้ทั้งซื้อของและเล่นเกม
Huang ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้น IPO ว่า Pinduoduo จะคล้ายกับการรวมห้างค้าส่งอย่าง Costco และ Disneyland เข้าไว้ด้วยกัน โดย Pinduoduo ตั้งใจนำความสนุกสนานมาสู่เส้นทางการช็อปปิ้งของผู้บริโภคด้วยสโลแกน “Together, More savings, More fun” ขณะเดียวกันก็มีการทำงานร่วมกับเกษตรกรมากกว่า 16 ล้านรายจากการเป็นบริษัทที่ฝังรากลึกในด้านการเกษตรเพื่อให้สังคมเกษตรได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากการมอบความสนุกไปพร้อมกับการช็อปปิ้งแล้ว Pinduoduo ยังมีโมเดลการขายที่ให้ผู้ซื้อสามารถชวนเพื่อมาช็อปแบบ ‘กลุ่ม’ เพื่อให้ได้สินค้าในราคาที่ถูกลง ซึ่งผู้ซื้อสามารถแชร์ข้อมูลสินค้าที่ต้องการรวมคำสั่งซื้อให้กับเพื่อนในช่องทางต่างๆ หรือรอรวมกับผู้ซื้อรายอื่น และหากครบจำนวนแล้วก็จะสามารถสั่งสินค้าได้ในราคาส่ง
โมเดล ‘Group Buying’ ของ Pinduoduo ก็ได้สร้างการรับรู้สินค้าบนแพลตฟอร์มแบบออร์แกนิกทำให้สามารถขยายฐานผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็วจนมีลูกค้ามากกว่า 10 ล้านรายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี และจดทะเบียนซื้อขายในตลาด Nasdaq ในเดือนกรกฎาคมปี 2018
ปัจจุบัน Pinduoduo ได้เติบโตขึ้นมาจากการเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดอีคอมเมิร์ซสู่การเอาชนะ Alibaba ได้ด้วย Market Cap มูลค่า 1.88 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 6.71 ล้านล้านบาท) สูงกว่ามูลค่าบริษัท 1.72 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 6.12 ล้านล้านบาท) ของ Alibaba
และในส่วนของผลประกอบการตลอดทั้งปี 2022 PDD Holdings ทำรายได้ไปที่ 1.3 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 6.5 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 39% จากปีก่อนหน้า โดยมาจากการเติบโตของรายได้ในบริการออนไลน์มาร์เก็ตติ้งและบริการธุรกรรมที่มีส่วนเข้ามาชดเชยรายได้จากการขายสินค้าที่ลดลง
ทั้งนี้ ผลประกอบการของ PDD Holdings นั้นมาจากรายได้ 3 ส่วน ประกอบไปด้วย
ขณะที่ผลประกอบการล่าสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2023 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน อยู่ที่ 1.5 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 7.9 แสนล้านบาท) โดยแบ่งเป็นรายได้จากบริการออนไลน์มาร์เก็ตติ้งและอื่นๆ 1.0 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 5.2 แสนล้านบาท) และรายได้จากบริการธุรกรรมอีก 5.3 หมื่นล้านหยวน (หรือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท)
และในไตรมาสที่ 3 ปี 2023 สิ้นสุดเดือนกันยายนเพียงช่วงเดียว PDD Holdings สามารถทำรายได้รวมไปกว่า 6.8 หมื่นล้านหยวน (หรือประมาณ 3.4 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึง 94% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
นอกจากนี้แล้ว PDD Holdings ยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเปิดตัวในสหรัฐฯ ไปเมื่อปี 2022 ที่ชื่อว่า “Temu” โดยเน้นการนำเสนอสินค้าราคาประหยัด และแอปพลิเคชัน Temu ยังขึ้นแท่นแอปฯ ฟรีที่มียอดดาวน์โหลดมากที่สุดของปี 2023 บน App Store สหรัฐฯ จนสามารถเบียดแซงแอปฯ ในเครือบิ๊กเทคอย่าง Meta และ Google ลงมาได้
อ้างอิง
รายงานผลประกอบการ (1), (2), Pinduoduo, Business Insider