Thairath Money พาไปดูกันว่า WeChat แอปแชตที่รวมทั้งช่องทางสื่อสาร และการทำธุรกรรมมาไว้ที่เดียว มีโมเดลธุรกิจแบบไหนในฐานะ Super App ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จาก Tencent และจะมีวิธีทำรายได้จากอะไรบ้าง
WeChat เปิดตัวครั้งแรกในปี 2011 เริ่มต้นจากการเป็นแอปฯ รับส่งข้อความ และพัฒนาจนกลายเป็นแอปฯ ครอบจักรวาลที่ทำได้แทบทุกอย่างในที่เดียว และมีผู้ใช้ (MAU) กว่า 1.3 พันล้านคน
ทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับ Super App อีกหลายตัว และประสบความสำเร็จถึงขั้นที่ว่า อีลอน มัสก์ อยากแปลงโฉมแพลตฟอร์ม ‘X’ ของตัวเองให้กลายเป็นแอปฯ ครอบจักรวาลเช่นเดียวกับ WeChat เลยทีเดียว
นอกจากนี้ WeChat ยังมีแพลตฟอร์มที่เรียกว่า ‘Mini Programs’ ซึ่งทำให้แอปฯ สมบูรณ์แบบมากกว่าเดิม โดยจะเป็นการนำแอปฯ ย่อยของผู้ให้บริการเจ้าอื่นมาอยู่บน WeChat ในลักษณะที่คล้ายกับ App Store ย่อมๆ ทำให้ผู้ใช้สามารถเรียกรถ สั่งอาหาร จองตั๋วรถไฟ หรือแม้แต่ดูหนังได้ในที่เดียว และที่สำคัญคือไม่ต้องติดตั้งแอปฯ ใหม่ให้วุ่นวาย เพราะสามารเข้าใช้งานแอปฯ ต่างๆ ได้ผ่าน WeChat เลย
และปัจจุบัน WeChat มี Mini Programs อยู่มากกว่า 4.3 ล้านตัว ตัวอย่างแอปฯ ย่อยที่อยู่ในแพลตฟอร์ม เช่น KFC, Pop Mart, Watsons, Mixue และ IKEA รวมไปถึงฝั่งอีคอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมมากขึ้นจนดึงดูดอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ในจีนอย่าง Taobao, Tmall, Pinduoduo และ JD.com ที่ล้วนเข้ามาพัฒนามินิโปรแกรมเพื่อมอบประสบการณ์ช็อปที่สะดวกสบายให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น
และอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ WeChat ประสบความสำเร็จในการเป็น Super App นั่นก็คือบริการชำระเงินอย่าง WeChat Pay ที่ทำให้จีนกลายเป็นสังคมไร้เงินสด ซึ่งไม่เพียงแค่ให้ผู้ใช้ชำระค่าบริการภายในระบบนิเวศของ WeChat เท่านั้น แต่ยังใช้จ่ายกับร้านค้า ชำระบิล หรือการชำระเงินระหว่างบุคคล (P2P)
ปัจจุบันในไทยเองก็มีหลายธนาคารที่เปิดให้ร้านค้ารับชำระด้วย WeChat Pay ตลอดจนพัฒนาเครื่อง EDC ให้รองรับการชำระเงินด้วยแอปฯ WeChat Pay เพื่อความสะดวกของพ่อค้าแม่ค้าที่ให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าชาวจีน
สำหรับฐานผู้ใช้ WeChat ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศจีนมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 48.47% โดยคิดเป็น 58.9% ของประชากรจีนที่ใช้ WeChat และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี จนอาจแตะ 864.8 ล้านคนในปี 2025
สำหรับประเทศที่มีผู้ใช้ WeChat มากที่สุดนอกจากจีน ได้แก่ มาเลเซียซึ่งมีผู้ใช้อยู่ที่ 12 ล้านคน คิดเป็น 16.8% ของผู้ใช้ทั่วโลก ไม่นับรวมจีน และตามมาด้วยอินเดีย และรัสเซีย ที่มีจำนวนผู้ใช้อยู่ที่ 10 ล้าน และ 9.5 ล้านคน ตามลำดับ
ไทยเองก็ติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีผู้ใช้ WeChat มากที่สุดในโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 9 ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้ 2.5 ล้านคน คิดเป็น 3.5% ของผู้ใช้ WeChat ทั่วโลก
สำหรับโมเดลการทำเงินของ WeChat นั้นจะเป็นการสร้างรายได้จากบริการมากมายที่มีอยู่ ซึ่งรวมไปถึงการส่งข้อความ การจองบริการต่างๆ การชำระเงินผ่านมือถือ อีคอมเมิร์ซ และบริการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มาจาก Mini Programs นั่นเอง
นอกจากนี้ WeChat ยังมีวิธีโฆษณาแตกต่างจากแพลตฟอร์มอย่าง Facebook หรือ Google ที่จะเน้นรายได้จากการโฆษณาเป็นหลัก โดย Business Model ของ WeChat ได้รับการออกแบบมาให้เน้นประสบการณ์ผู้ใช้มาเป็นอันดับแรก โดยจำกัดการโฆษณาหน้าฟีดให้แสดงวันละไม่เกินสองตัว เพื่อไม่ให้รบกวนการใช้งาน หรือยัดเยียดโฆษณาให้กับผู้ใช้มากเกินไป
และถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ WeChat ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้อย่างมาก เนื่องจากการโฆษณาที่มากเกินไปบนแพลตฟอร์มจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกหงุดหงิด และไม่วางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นโฆษณาที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือโฆษณาเดิมซ้ำๆ
ขณะเดียวกันก็ทำให้แบรนด์ใกล้ชิดกับผู้บริโภคได้มากขึ้นผ่าน Official Accounts และ Mini Programs ที่ช่วยให้แบรนด์ต่างๆ สามารถนำเสนอบริการให้กับผู้ใช้ได้โดยตรง พร้อมโฆษณาที่เน้นการโต้ตอบ และมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการบริการ
และในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Tencent ก็ได้เปิดผลประกอบการไตรมาส 3/2023 สิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2023 แสดงให้เห็นว่ารายได้จากการโฆษณาออนไลน์ของบริษัทนั้นอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านหยวน (หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบรายปี ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการโฆษณาที่เพิ่มมากขึ้นของ Weixin Search หรือ WeChat Search ในจีนนั่นเอง
นอกจากนี้รายได้จากการโฆษณใน Weixin ยังเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่รายได้ต่อปีของ WeChat ในปี 2021 นั้นอยู่ที่ 1.2 แสนล้านหยวน (หรือประมาณ 6 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 9.5 พันล้านหยวน จากปี 2020
ด้วยโมเดลธุรกิจ และรูปแบบการพัฒนาแอปฯ ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานได้ทำให้ WeChat ตอบโจทย์ความต้องการ และสร้างความไว้วางใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมแอปฯ จีนเจ้านี้ถึงเป็นแรงบันดาลใจในการเป็น Super App ให้กับบริษัทเทคหลายราย.
อ้างอิง