เข้าใจโครงสร้าง OpenAI ไขปมขัดแย้งผลประโยชน์ ทำไมแซมถูกไล่ออก Microsoft อยู่ตรงไหนของเรื่องนี้

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

    เข้าใจโครงสร้าง OpenAI ไขปมขัดแย้งผลประโยชน์ ทำไมแซมถูกไล่ออก Microsoft อยู่ตรงไหนของเรื่องนี้

    Date Time: 23 พ.ย. 2566 18:30 น.

    Video

    3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

    Summary

    • ขุดปม ทำไม Sam Altman ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT ถูกไล่ออกจากบริษัทตั้งแต่แรก ย้อนทำความเข้าใจโครงสร้างบริษัท OpenAI ทั้งแสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร เป็นอย่างไร จุดเริ่มต้นความไม่ลงรอย ภารกิจรักษาสมดุลระหว่าง “ความจำเป็นทางธุรกิจ” กับ “สาธารณประโยชน์”และ Microsoft ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของบริษัทอยู่ตรงไหนของเรื่องนี้ เราจะได้เห็นโครงสร้างองค์กรใหม่ของ OpenAI ที่ใกล้ชิดกับ Microsoft มากขึ้นหรือจะเห็น Microsoft นั่งบอร์ดใหม่หรือไม่
    • .

    Latest


    หลังเหตุการณ์ถูกไล่ออกอย่างไม่คาดคิดของ แซม อัลต์แมน (Sam Altman) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้นำสตาร์ทอัพเอไอเปลี่ยนโลกโดยบอร์ดบริหาร ดูเหมือนว่ามหากาพย์แย่งชิงตัวเหล่าผู้สร้าง ChatGPT และโชคชะตาของสตาร์ทอัพมูลค่ามากที่สุดในโลกที่สั่นคลอนมาเป็นระยะเวลา 5 วันจะจบลงแล้ว หลังมีการยืนยันแล้วว่าแซมจะกลับมาเป็นผู้นำของ OpenAI ตามเดิม

    โดยการหวนคืนสู่ตำแหน่งซีอีโอในครั้งนี้ จะแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แทน นำโดยรายชื่อที่เปิดเผยออกมาแล้ว ได้แก่ Bret Taylor อดีตซีอีโอร่วมของ Salesforce ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ตามด้วย Larry Summers อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และ Adam D'Angelo ซีอีโอของ Quora สมาชิกบอร์ดเดิมที่จะยังอยู่ นอกจากนี้ Greg Brockman ผู้ร่วมก่อตั้งที่ลาออกพร้อมแซมก็จะกลับมาเคียงข้างด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามทั้งคู่ไม่ได้นั่งบอร์ด 

    ทั้งนี้ รายชื่อบอร์ดที่ลงมติไล่แซมออก ได้แก่ Adam D'Angelo, Tasha McCauley, Helen Toner และ Ilya Sutskever หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI อีกคนเคียงบ่าเคียงไหล่แซมที่เห็นต่างกับแซม แต่ภายหลังหันกลับมาสนับสนุนแซม และแสดงความเสียใจที่มีส่วนร่วมในมตินี้ 

    ทำความเข้าใจ โครงสร้างบริษัท OpenAI ทั้งแสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไร 

    การจะเข้าใจมหากาพย์ทั้งหมด อาจต้องย้อนทำความเข้าใจโครงสร้างบริษัทกันใหม่ เดิมที OpenAI จัดตั้งขึ้นในปี 2015 ในฐานะบริษัทวิจัยด้าน AI ที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit) ด้วยเป้าหมายยิ่งใหญ่ คือ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ไปสู่ระดับ Artificial general intelligence (AGI) ที่ปลอดภัยเพื่อมนุษยชาติ 

    แซมตระหนักดีว่าการดำเนินงานในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อาจทำให้ OpenAI ไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะการไปสู่จุดนั้น OpenAI ต้องลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในปีต่อๆ ไป ไม่ว่าจะด้านคลาวด์ขนาดใหญ่ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สำหรับ AI รวมถึงการดึงดูดและรักษาคนที่มีความสามารถ ซึ่ง OpenAI อาจไม่สามารถชนะใจนักลงทุนภายนอกได้ แม้จะมั่นใจว่าสิ่งที่พัฒนาจะล้ำหน้าและดูสร้างรายได้ก็จริง แต่การเอาเงินหลายพันล้านให้องค์กรที่ไม่หวังผลกำไรนั้นอาจไม่ใช่ทางของนักลงทุนที่ล้วนหวังผลกำไรทั้งสิ้น 

    ในปี 2019 แซมตั้งบริษัทใหม่ “OpenAI Global LLC,” ให้เป็นลูกผสมระหว่างบริษัทที่แสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไร โดยเรียกว่า “บริษัทต่อยอดผลกำไร” (Capped-profit company) เพื่อให้บริษัทสามารถเพิ่มเงินลงทุนใหม่ได้ทันใช้มากกว่า และแน่นอนว่าบริษัทนี้จะยังถูกควบคุมโดย “OpenAI Inc.” หรือ OpenAI (Non-profit) อีกทอดหนึ่ง

    กล่าวคือใน OpenAI (For-Profit) หรือ OpenAI ที่เราเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ นักลงทุนและพนักงานจะได้รับผลตอบแทนแบบจำกัด โดยผลตอบแทนสำหรับนักลงทุนรอบแรกในส่วนของกำไรที่เกิดจากบริษัทนี้ จะถูกจำกัดไว้ที่ 100 เท่าของเงินลงทุนรอบแรกตามข้อตกลง ซึ่งส่วนที่เกินจากนั้นจะถูกมอบกลับคืนให้กับ OpenAI (Non-profit) หรือส่วนที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อใช้ศึกษาวิจัยต่อไป ดังนั้นตามโครงสร้างจึงต้องรักษาความเป็นอิสระของบอร์ดให้ได้มากที่สุด  

    โดยผู้ถือหุ้นหลักใน OpenAI (For Profit) นี้ประกอบไปด้วย OpenAI (Non-profit) กลุ่มนักลงทุนและพนักงานรุ่นแรก โดยมีผู้ถือภายนอกที่เป็น Minority Owner รายหลักอย่าง “Microsoft” ที่ถือหุ้นอยู่ 49% และลงเงินรวมทั้งสิ้นแล้วกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งรายอื่นๆ อาทิ Sequoia Capital, Andreessen Horowitz และ Tiger Global 

    ดังนั้นเพื่อรักษาบรรทัดฐานที่สำคัญ ทำให้ Microsoft จึงไม่มีชื่ออยู่ในบอร์ด แม้ว่าจะมีการลงทุนมหาศาล ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการรวมกัน เนื่องจากบริษัทไม่เคยชี้แจงประเด็นนี้ คาดว่าเป็นเพราะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจาก Microsoft เป็นคู่แข่งสำคัญในด้าน AI นอกจากนี้ Microsoft อาจจะไม่ต้องการเผชิญการถูกควบคุมจาก OpenAI มากเกินไป 

    ภารกิจรักษาสมดุลระหว่าง “ความจำเป็นทางธุรกิจ” กับ “สาธารณประโยชน์”

    อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา บอร์ดแสดงทิศทางกังวลชัดเจนต่อ “การขยายธุรกิจโดยไม่จำเป็น” ของแซมที่อยู่นอกเหนือการควบคุม หลังจากการเปลี่ยนแปลง OpenAI จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสู่โมเดล “ต่อยอดผลกำไร” ในปี 2019 และทำให้ Open AI ได้ Microsoft มาร่วมเดินในเส้นทางการเติบโตนี้ ตลอดจนการลงทุนในสตาร์ทอัพด้านอื่นๆ ของเขา บอร์ดให้เหตุผลแย้งหลักๆ ถึง “ความเสี่ยงของการพัฒนา AI อย่างรวดเร็วที่ยากจะควบคุมซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ” ซึ่งก็เป็นหน้าท่ีของบอร์ดที่ต้องคอยตรวจสอบความปลอดภัยของ AI นั่นเอง 

    OpenAI ก่อตั้งโดยทีมที่มีความสามารถชั้นแนวหน้าของวงการ และแน่วแน่ต่อเป้าหมายในการักษาประโยชน์ของเทคโนโลยีต่อมนุษยชาติ การเปิดตัว ChatGPT แชตบอตที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รักของคนทั่วโลกทำให้คนรู้จัก AI และเปลี่ยนวิธีมองมันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 

    แน่นอนว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของ ChatGPT แลกมากับราคาแพงในการบริหารจัดการ ความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นจากผู้ใช้ทำให้พลังการประมวลผลต้องเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นหมายถึง เงินทุนต้องถูกเติมอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกัน จากมุมมองของแซม อัลต์แมน “การระดมทุนมากขึ้นและการหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนา AI ขั้นสูงต่อจากนี้จะสร้างประโยชน์ ได้ในวงกว้างมากกว่าความเสี่ยง”

    OpenAI กำลังเผชิญเรื่องทางแยกของบาลานซ์ในจุดยืนบริษัทวิจัยที่ไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งอุทิศตนเพื่อปัญญาประดิษฐ์ กับการไปต่อของเทคโนโลยี Generative AI มูลค่าหลายแสนล้านที่ผูกมัดการก้าวไปข้างหน้าของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง โดยว่ากันว่าการตัดสินใจของบอร์ดเกิดจากความไม่ไว้วางใจต่อแซม เพราะ สร้างความสับสนหลายครั้ง แต่ไม่มีการเอ่ยปากถึงเรื่องทุจริตแต่อย่างใด 

    การขับไล่ แซม อัลต์แมน ผู้ซึ่งไม่มีเคยมีบริหารงานบกพร่องออกจากบริษัทที่ร่วมสร้างอย่างกะทันหัน สร้างความงุนงงให้วงการเทคฯ นักลงทุนไม่พอใจ ตลอดจนพนักงานที่ภักดีรวมตัวขู่ว่าจะลาออกตาม เพราะ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการไล่ออกและมองว่าบอร์ดไม่มีการอธิบายเหตุผลที่ดีอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังไม่ผ่านการปรึกษากับ Microsoft ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของ OpenAI อีกด้วย 

    คำถามคือแล้ว Microsoft ช่วยอะไร OpenAI อยู่บ้าง ? 

    พูดง่ายๆ ว่า Microsoft ให้เงินสดเพื่อเอาใช้โดยทั่วไป กับ การลงทุนในโครงสร้างทางเทคโนโลยี (Tech Infra) ให้ ไม่ว่าจะเป็น คลาวด์ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ต่อเนื่องไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ เรียกได้ว่าทุกโมเดล AI-GenAI อย่าง Large Language Model (LLM) ที่กลายเป็น ChatGPT ที่เราใช้กันอยู่นั้นถูกรันอยู่บน "Microsoft Azure AI Infrastructure" นั่นเอง โดยปัจจุบัน Azure AI ได้ผสานกำลังใหม่และถูกเรียกว่า Azure OpenAI นั่นเอง 

    Microsoft ยังถือได้ว่าเป็นผู้ให้บริการและดูแลความเป็นไปด้านคลาวด์ “Azure Cloud” แต่เพียงผู้เดียวให้กับ OpenAI อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการโอเปอเรทโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์และการใช้งานสำหรับผู้ใช้ที่ต้องมาควบคู่กัน เรียกได้ว่า Microsoft เก็บค่าเช่าด้านโครงสร้างจาก OpenAI ยาวๆ เลยทีเดียว

    นอกจากนี้ Microsoft ยังได้สิทธิ์ License เชิงพาณิชย์ในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนำไปใช้เองกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ของตน อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ครอบคลุมสิทธิ์ถึงเพียงแค่เฟสก่อนเกิด AGI เท่านั้น  

    Microsoft กับบทบาทผู้ประสานรอยร้าว หรือ ผู้ชนะตัวจริง 

    อีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่เข้ามามีส่วนร่วมในมหากาพย์นี้ นั่นก็คือ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอของ Microsoft ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือผู้อยู่เบื้องหลังการเติบโตของ OpenAI จากการลงทุนรายรอบจนกลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด พร้อมด้วยข้อตกลงทางธุรกิจร่วมกันในฐานะ Strategic Partnership การสนับสนุนการทำงานของ OpenAI ที่ทำให้ทั้งสองบริษัทผูกติดกันอย่างลึกซึ้ง เพราะได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน 

    จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เราได้เห็นการโพสต์ยินดีอ้าแขนเปิดรับ แซม อัลต์แมน และ เกร็ก บร็อคแมน ให้มาเป็นหัวหน้าทีมวิจัย AI ชุดใหม่ พร้อมด้วยขบวนพนักงานหลายร้อยคนสู่บ้าน Microsoft เพราะอันที่จริง Microsoft ก็ให้การสนับสนุนแซมอย่างเปิดเผยมาโดยตลอด 

    “ไม่ว่าแซมจะอยู่ที่ไหน เขาจะยังคงทำงานร่วมกับ Microsoft” - สัตยา นาเดลลา ซีอีโอ Microsoft 

    แม้ว่าปัจจุบันเรื่องราวความขัดแย้งจะปิดฉากลง และ OpenAI จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไป โดยหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายเสียงมีการคาดการณ์ว่า Microsoft ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลใน OpenAI และอาจกำลังพิจารณาขอที่นั่งในบอร์ดชุดใหม่นี้ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ หรือผู้ร่วมให้ข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการขอความยินยอมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองบริษัท  

    เราอาจได้เห็นโครงสร้างองค์กรใหม่ของ OpenAI ที่ใกล้ชิดกับ Microsoft มากขึ้น หรือการวางตัวที่เป็นมากกว่าพันธมิตรคนสำคัญในครั้งนี้อาจทำให้เราเห็นการก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ของผู้นำด้าน Generative AI ก็เป็นได้ 


    Author

    กองบรรณาธิการ

    กองบรรณาธิการ