ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ระบุปี 2564 จำนวน 693 แห่งและปี 2565 จำนวน 855 แห่ง สำหรับปีนี้ Thairath Money ทำการรวบรวมข้อมูล สถานีชาร์จรถ EV ทั่วประเทศ ทั้งผู้ประกอบการเอกชนและหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ 17 ราย รวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 กันยายน 2566 พบว่ามีจำนวน 1,664 แห่ง อย่างไรก็ตามข้อมูลสถานที่ของสถานีที่แสดงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหลังจากนี้
ปัจจุบันรถ EV ที่มีจำหน่ายในบ้านเรามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 21 ยี่ห้อ 28 รุ่นหลักและบางเจ้าวางแผนตั้งโรงงานผลิตในบ้านเราอีกด้วย โดยในปีนี้จำนวนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วน BEV มียอดจดทะเบียนใหม่อยู่ที่ 36,796 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 66 ) จากปีก่อนที่ 7,249 คัน
การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในไทย มีแรงขับเคลื่อนสำคัญจาก 'นโยบายส่งเสริมและสนับสนุน' ให้ไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคที่เป็นแรงหนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมต่างๆ เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานในครั้งนี้ โดยหนึ่งในธุรกิจที่มาแรงก็คือ บริการสถานีชาร์จ EV ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า
ไทยเราได้จัดตั้ง 'แผนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า' โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาสถานีชาร์จรถ EV "ในปี 2568 จะมีจำนวนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast Charge จำนวน 2,200-4,400 เครื่องและในปี 2573 จะต้องมี 12,000 เครื่อง ครอบคลุมทั้งเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว จุดแวะพักและพื้นที่ชุมชน"
นอกจากการสนับสนุนด้านสถานีชาร์จ EV จากหน่วยงานภาครัฐ ด้านทัศนคติและการยอมรับต่อการใช้งานรถ EV นับว่าเปลี่ยนไป ปริมาณความต้องการจากผู้ใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เอกชนมองเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการให้บริการแบบครบวงจรและรับผลิตสำหรับผู้อื่น เรียกได้ว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการสถานีชาร์จแบบปลั้กอินไฮบริด (PHEV) และแบบแบตเตอรี่ (BEV) รายใหม่ๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
สิทธิประโยชน์สำหรับกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนนักลงทุนรายเล็กรวมถึงสตาร์ทอัพ จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประกอบด้วย