ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ตบเท้าเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภาเพื่อร่วมกันพิจารณามาตรการในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมีบทบาทสำคัญในยุคนี้
โดยมี ชัค ชูเมอร์ (Chuck Schumer, D-N.Y.) วุฒิสมาชิกผู้นำเสียงข้างมากเป็นผู้นำการประชุมระหว่างสมาชิกวุฒิสภามากกว่า 60 คน ร่วมกับคณะผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า ได้แก่ แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ซีอีโอ OpenAI, บิล เกตส์ (Bill Gates) ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์, เจนเซน หวง (Jensen Huang) ซีอีโอ Nvidia, อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอ Tesla, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) จาก Meta, ซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซีอีโอ Google และอีกมากมาย
รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ตัวแทนจากภาคแรงงาน ผู้นำด้านสิทธิพลเมือง ตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของ “AI Insight Forum” โดยวุฒิสภา ในรูปแบบการประชุมแบบปิด
ทางด้าน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ที่ได้เตรียมข้อเสนอต่อสภาคองเกรส โดยระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรมีส่วนร่วมกับ AI เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมและร่วมปกป้อง พร้อมระบุประเด็นสำคัญ 2 ด้าน คือ เรื่องของความปลอดภัยในการใช้งาน และการเข้าถึงเทคโนโลยี AI เพื่อนำไปสู่โอกาสที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ซีอีโอของ Meta ยังให้ความเห็นว่า การรักษาสมดุลระหว่างกฎระเบียบและนวัตกรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อทำให้สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำท่ามกลางการแข็งขันด้าน AI ต่อไป
ขณะที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ เรื่อง ความจำเป็นของการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแล AI ของรัฐบาลกลาง พร้อมบอกว่าการมีตัวกลางในการกำกับดูแลเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทต่างๆ ใช้งาน AI ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ
สำหรับ แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ซีอีโอของ OpenAI กล่าวถึงความเชื่อมั่นต่อผู้กำหนดนโยบายที่ต้องการทำในสิ่งที่ถูกต้อง และรู้สึกประทับใจกับความเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องการจะสร้างกฎระเบียบในด้านเทคโนโลยี
ในส่วนของ ซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซีอีโอ Google ระบุถึงบทบาทของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งสำคัญต่อการพัฒนา AI ได้แก่ การกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อนวัตกรรมผ่านการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา ตลอดจนกฎหมายคนเข้าเมืองที่สามารถดึงดูดแรงงานมากฝีมือเข้าประเทศ
ต่อมาคือการขับเคลื่อนการใช้ AI ในภาครัฐให้มากขึ้น รวมไปถึงการปรับใช้ AI ในการจัดการปัญหาใหญ่ๆ อย่างเช่นการตรวจหามะเร็ง และสุดท้ายคือสร้างความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านด้านแรงงานที่เป็นประโยชน์กับทุกคน
อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งสำคัญนี้ ยังคงมีเสียงวิพากษณ์วิจารณ์ ว่าอาจเป็นช่องทางสำหรับบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ในการชักนำนโยบาย ขณะเดียวกันก็อาจมีบริษัทขนาดเล็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จากความคิดที่บริษัทเทครายใหญ่เป็นผู้นำเสนอ ให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีส่วนร่วมในการร่างกฎเกณฑ์
อ้างอิง