การ์ทเนอร์คาดการณ์ ปี 2567 ปริมาณการจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งหมด ตั้งแต่ รถยนต์ (Cars) รถโดยสาร (Buses) รถตู้ (Vans) และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Heavy Trucks) จะมียอดรวมที่ 18.5 ล้านคัน โดยรถ BEV ทั่วโลกจะเติบโตจาก 9 ล้านคันในปี 2565 เพิ่มเป็น 11 ล้านคัน ภายในสิ้นปีนี้ โดยคาดว่ารถ PHEV จะเติบโตช้าลงเล็กน้อยจาก 3 ล้านคัน ในปีก่อน และจะเพิ่มเป็น 4 ล้านคันในปีนี้
โจนาธาน ดาเวนพอร์ท ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ เปิดเผยว่า ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าได้นำไปสู่การเปิดตลาดใหม่ๆ ของแพลตฟอร์มการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV Platform) กฎระเบียบด้านมลพิษที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนโมเดลรถยนต์ที่ทำการตลาดอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่งให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า
สัดส่วนของรถ PHEV ยังคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น มักจะเปลี่ยนจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) มาเลือกใช้รถ PHEV มากกว่า BEV เนื่องจากความสามารถที่ผสมผสานระหว่างการขับขี่ในเมืองที่ไร้มลพิษด้วยพลังงานไฟฟ้าจากมอเตอร์ และยังมอบความสะดวกสบายในการขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเพื่อการเดินทางที่ยาวนานและไกลขึ้น
อย่างไรก็ตามรถ PHEV ในตลาดยุโรปตะวันตก จีน และอินเดีย รถ PHEV ได้รับความสนใจน้อยกว่า BEV เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดเหล่านี้ให้ความสำคัญกับต้นทุนการใช้งานโดยรวมที่ต่ำกว่า รวมถึงประสบการณ์การขับที่เงียบกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยหลัก คือ การตัดสินใจของภาครัฐบาลที่ได้กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริม เช่น การออกกฎหมายเพื่ออนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือการออกข้อบังคับให้ต้องใช้รถ PHEV เป็นอย่างน้อย อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ เป็นต้น ด้านผู้ผลิตรถยนต์ บางรายตั้งเป้าที่จะบรรลุยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดสหรัฐฯ ให้ได้ 40% ถึง 50% ต่อปี ภายในปี 2573 รวมถึงการหาวิธีกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากท่อไอเสียของรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน
นักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ยังคาดว่า ภายในปี 2570 ราคาเฉลี่ยของรถ BEV จะเท่ากับรถยนต์ ICE ที่มีขนาดและรูปร่างต่างๆ ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเร่งให้เกิดการใช้ EV ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจะยังเป็นปัจจัยในการเลือกใช้งานเหนือกว่าปัจจัยด้านราคา
นอกจากนี้การเปลี่ยนไปใช้รถ EV อาจสร้างความต้องการที่มากขึ้นเพิ่มเติมทั้งในด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานในการจ่ายไฟ กล่าวคือ การใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบกลางวันและกลางคืน (Dual Day and Night) หรือแม้แต่การใช้อัตราค่าไฟฟ้ารายครึ่งชั่วโมง (Half-Hourly Electricity Tariffs) สามารถจูงใจผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าให้หันมาชาร์จไฟนอกช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก (Peak Times) ซึ่งจะต้องมีการนำมาตรวัดพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะมาใช้เป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน