ว้าวุ่นเลยทีนี้ Clubhouse จะรอดไหม? หลังปรับโฉมจากห้องสนทนาสาธารณะ ลดเหลือแอปฯแชตกับเพื่อน

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ว้าวุ่นเลยทีนี้ Clubhouse จะรอดไหม? หลังปรับโฉมจากห้องสนทนาสาธารณะ ลดเหลือแอปฯแชตกับเพื่อน

Date Time: 8 ก.ย. 2566 12:47 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • รอดไหมหรือไปต่อ Clubhouse แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่เปิดให้ผู้ใช้สร้างห้องสนทนาพูดคุย ทำให้หลายคนกล้าเปิดไมค์แสดงความเห็นเรื่องต่างๆ ในโลกโซเชียล ได้ประกาศปรับโฉมการใช้งานใหม่โดยหันมาเน้นการพูดคุยกันในวงเพื่อนสนิทและลดความเป็นสาธารณะลงไปจากเดิม

Latest


Clubhouse โฉมใหม่ "The New Clubhouse” ที่มีหน้าตาเหมือนแอปพลิเคชันส่งข้อความมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงห้องเปิดไมค์คุยกัน จะกลายเป็นห้องสนทนาที่ไม่ได้เปิดเป็นการทั่วไปหรืออนุญาตให้ใครก็ได้เข้ามาร่วมพูดคุยแบบเดิมอีกต่อไป

จาก แอปฯ ห้องสนทนา สู่ แอปฯ ส่งข้อความ 

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ Clubhouse เพิ่มฟีเจอร์ “Chat” ช่องแชตสำหรับแชตคุยไปด้วยและพูดด้วยเสียงไปด้วย ซึ่งมาพร้อมกับการสโคปห้องใหม่ที่แคบลง กล่าวคือ ห้องสนทนาจะเปิดเฉพาะผู้ใช้ที่เป็นเพื่อนของเรา (Friend only) และเพื่อนของเพื่อนเท่านั้น (Friend of friend) อัลกอริธึมแบบใหม่จะถูกตั้งค่าสำหรับแอ็กเคานต์ที่เป็นเพื่อนกันมากกว่าคนที่ไม่รู้จัก

Clubhouse ประกาศหลังจากซุ่มพัฒนามาสักพักว่าเป้าหมายการเปลี่ยนทิศทางแอปฯ ในครั้งนี้ คือ "การออกแบบเพื่อให้คุณพูดคุยกับคนที่คุณชื่นชอบได้ง่ายขึ้นทุกครั้งที่คุณเปิดแอป" ทำให้ผู้ใช้อยู่เชื่อมโยงกับเพื่อนได้ง่ายขึ้น และทำความรู้จักเพื่อนใหม่ผ่านกลุ่มเพื่อนที่คุณมีอยู่ด้วยวิธีที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตามฟีเจอร์ Live room ห้องสนทนาแบบถ่ายทอดสดสำหรับคอมมูต่างๆ ยังคงอยู่ แต่หายากขึ้น นอกจากนี้ในหน้าแชตเราสามารถติดป้ายว่าคนนี้เพื่อนสนิท (Best friend) เพื่อนคนอื่น (Others friend) หรือพาร์ตเนอร์ (Partner) และผู้สร้างห้องยังสามารถปรับแต่งอินเทอร์เฟซห้องสนทนาของตนเองได้อีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงทิศทางในครั้งนี้ จะทำให้ Clubhouse กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหรือไม่ สื่อต่างประเทศหลายแห่งยังมองว่าเป็นที่น่ากังวลสำหรับบริษัท เพราะการอัปเดตครั้งใหม่ล่าสุดนี้ ดูเหมือนจะเปลี่ยน ‘Sense of Clubhouse’ และทำให้ผู้ใช้ดั้งเดิมทยอยเลิกใช้งานไป

แน่นอนว่าการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวใหม่ และให้ความสำคัญกับวงสังคมที่ใกล้ชิดขึ้นมากกว่า ‘ความเป็นชุมชน’ ซึ่งดั้งเดิมเคยเป็นเอกลักษณ์และฟีเจอร์หลักของ Clubhouse นั้นถูกลดทอนลงไป ทำให้สถานะของ Clubhouse ไม่ต่างอะไรกับโซเชียลมีเดียที่แชตคุยกันได้ระหว่างเพื่อน แต่มีทางเลือกให้ส่งข้อความด้วยเสียงเพิ่มเข้ามานอกเหนือจากการพิมพ์ Text อย่าง Whatsapp Instagram หรือ Line

Clubhouse ขึ้นแท่นแอปฯ ดาวรุ่งช่วงโควิดแพร่ระบาด 

Clubhouse พัฒนาและก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดย Paul Davison และ Rohan Seth สองคู่ซี้ที่มีไอเดียทำให้การสร้างพอดแคสต์เป็นเรื่องง่าย โดย Clubhouse เริ่มโด่งดังหลังจากเซเลบและบุคคลมีชื่อเสียงอย่าง อีลอน มัสก์ และ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์กเข้ามาใช้งานและทำให้แอปฯ กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น บวกกับช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด เรียกได้ว่า Clubhouse เข้ามาเติมเต็มการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ขาดหายไปในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี  

ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยฟีเจอร์การเปิดห้องพูดคุยสาธารณะที่สามารถรวมผู้คนหลากหลายวงการจากที่ต่าง ๆ ให้มีนั่งอยู่ในวงสนทนาเดียวกันได้ไม่จำกัด ทำให้เรามีโอกาสรับฟังจากปากผู้ที่รู้จริง ตัวจริงในวงการ เข้าถึงหัวข้อเด่นประเด็นร้อนแบบเอ็กซ์คลูซีฟได้เพียงเข้าแอปฯนี้ 

โดยมีจุดพีกสุด คือ ราวต้นปี 2021 Clubhouse มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 40 ล้านครั้ง และมีผู้ใช้งานถึง 10 ล้านคน แซงหน้าทุกโซเชียลมีเดียในเวลาอันรวดเร็ว ถึงขั้นที่ว่าหลังจากนั้นโซเชียลมีเดียรุ่นพี่อย่าง Twitter และ Facebook หันมาออกฟีเจอร์ห้องสนทนาบนแพลตฟอร์มตนเองในทำนองเดียวกันเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตามดูเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเพราะหลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายผู้คนกลับสู่การใช้ชีวิตและออกไปทำงานเหมือนปกติ กระแส Clubhouse ก็ทยอยหายไป เช่นเดียวกันแอปพลิเคชัน หรือบริการดิจิทัลรูปแบบต่างๆ ที่ประสบปัญหานี้ Clubhouse เริ่มเผชิญกับการลดฮวบของผู้ใช้งานบวกกับคลื่นเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคเทคโนโลยีสั่นคลอนไปตามๆ กัน จนกระทั่งปี 2023 Clubhouse ประกาศเลย์ออฟ 50% เพื่อปรับกระบวนการทำงานและหาทิศทางใหม่ให้กับแอปฯ 

อ้างอิง Clubhouse  , Techcrunch 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ