หลายวันก่อนหน้ามีข่าวใหญ่ ที่อาจไม่ได้รับความสนใจในหน้าสื่อมากนัก กับประเด็นที่ว่า “ประเทศไทย กำลังขับเคลื่อนนโยบายอวกาศให้เป็นรูปธรรม” ตั้งเป้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้ง “ท่าอวกาศยานในประเทศไทย”
สำหรับใช้เป็นฐาน ส่งและรับยานอวกาศ หรือ Spaceport โดยรัฐบาลระบุ ความสำคัญว่า หากประเทศไทยมี “ท่าอวกาศยาน” เป็นของตัวเอง จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ อีกทั้ง ช่วยสร้างรายได้ทางตรงจากอุตสาหกรรมอวกาศ
ซึ่งครอบคลุม ไปถึง อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ Aerospace Industry โดยหากเจาะลึกเพิ่มเติม เราก็จะพบว่า อุตสาหกรรมด้านนี้ ได้ถูกกำหนดไว้ให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในอนาคตอีกด้วย และถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งผลไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ จึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เพราะจะทำให้เกิดอาชีพใหม่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 300-400 อาชีพ เช่น…
แม้จะเป็นเรื่องที่ไกลตัว และคงใช้เวลาพอสมควร กว่าที่เราจะไปถึงจุดนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทย มีการวางรากฐานพัฒนาด้านอวกาศไทยมาโดยตลอด
ล่าสุด BOI หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เผยถึงข้อมูลที่น่าสนใจ สอดคล้องกับประเด็นนี้ว่า เมื่อปี 2565 รายงาน จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ระบุ ประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี จึงสะท้อนได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกมากในอนาคต
BOI ยังชี้ว่า “อุตสาหกรรมอวกาศ” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับโลกของเรา นับตั้งแต่ดาวเทียมดวงแรกของโลกถูกส่งขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศ เมื่อ 60 ปีก่อน และด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ยิ่งช่วยเร่งให้อุตสาหกรรมอวกาศในปัจจุบันเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเกิดบริษัทใหม่ๆ ที่ทำธุรกิจด้านอวกาศขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเอง ก็มี Startup ไทยที่บุกอวกาศด้วยเช่นกัน
อุตสาหกรรมอวกาศใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ตั้งแต่เทคโนโลยีการส่งผ่านข้อมูล อินเทอร์เน็ต, ระบบนำทางในรถยนต์หรือโทรศัพท์, การรายงานข้อมูลสภาพอากาศ ไปจนถึงข้อมูลด้านการเกษตร ที่ช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของมอร์แกน สแตนลีย์ ประมาณการว่าภายในปี 2040 มูลค่าของธุรกิจอวกาศโดยรวมอาจสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท!! #ThairathMoney พาสำรวจ 5 ธุรกิจ ที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศยุคใหม่ ดังนี้
1. ธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็ก
ดาวเทียมขนาดเล็ก มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านการสื่อสารแบบไร้สาย จำพวกระบบ GPS ซึ่งบริษัทต่างๆ มีความพยายามที่จะผลิตและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพและมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากขึ้นพร้อมกับการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งธุรกิจนี้จะช่วยหนุนธุรกิจบริการนำส่งดาวเทียมที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการปล่อยจรวดและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เติบโตขึ้นควบคู่กันไป
2. ธุรกิจระบบการจัดการบนอวกาศ
ปัจจุบันมีการส่งวัตถุต่างๆ ขึ้นไปยังอวกาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกลายเป็นขยะอวกาศในที่สุด จึงจำเป็นต้องมีระบบการจัดการขยะบนอวกาศเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น
3. ธุรกิจคิดค้นนวัตกรรมอุปกรณ์สื่อสารขั้นสูง
ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบการสื่อสารขั้นสูง โดยนำเสาอากาศความจุสูง (High-capacity Antennas) มาใช้เพิ่มเติมกับระบบเดิม ทำให้การรับส่งสัญญาณมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยระบบการสื่อสารนี้ใช้ดาวเทียมในชั้น LEO (Low Earth Orbit) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรับส่งสัญญาณให้มีความเสถียรยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ดาวเทียมในวงโคจรต่ำหรือ LEO Satellite ไม่ได้เคลื่อนที่ไปตามเส้นทางเดียวกันรอบโลกเสมอไป แต่มีความอิสระในการเลือกเส้นทางมากขึ้น ซึ่งทำให้มีเส้นทางมากขึ้นสำหรับดาวเทียมในระดับ LEO นั่นเอง ผลของสิ่งนี้ก็ทำให้ต้องมีการพัฒนาวิธีการจัดการและเทคนิคในการดูแลดาวเทียม เพื่อป้องกันการชนกันและรองรับการสื่อสารและการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
4. ธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศ
สำหรับคนทั่วไปที่สนใจเดินทางไปสำรวจอวกาศและสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งได้รับการพัฒนาไปไกลในหลายประเทศแล้ว เช่น โครงการ dearMoon ซึ่งเป็นทริปโคจรรอบดวงจันทร์โดย SpaceX ของ Elon Musk
5. เทคโนโลยีอวกาศเพื่อจัดการ “Climate Change”
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่นำเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้ในหลายด้านเพื่อจัดการเรื่อง Climate Change เช่น การตรวจวัดและติดตามก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้น ยังนำเทคโนโลยีมาใช้เฝ้าระวังผลกระทบจาก Climate Change ทั้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภัยจากแผ่นดินทรุดตัว ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง PM 2.5 และการเตือนภัยไฟป่า
โดยมีการนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในการสร้างข้อมูลเชิงพื้นที่และแสดงตำแหน่งของปัญหาต่างๆ เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานและหาวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าว่า ภายในระยะเวลา 7 ปี จะมีบริษัทสัญชาติไทย กว่า 50 บริษัท เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอวกาศข้างต้น
โดยในแง่การลงทุนนั้น ปัจจุบัน ไทยเรา มี BOI เป็นผู้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ เพื่อช่วยสร้างโอกาสและความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการทั้งในด้านการนำเข้าวัตถุดิบและการยกเว้นภาษี เพื่อลดต้นทุน รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะด้านแรงงานทักษะสูง