เรียกได้ว่า 'เจ้าพ่อโซเชียล’ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้สร้างเสียงฮือฮาจากผู้ใช้งานทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากเปิดตัวแอปฯ Threads อย่างเป็นทางการ โดยหลังจากเปิดให้ดาวน์โหลดใช้งานแล้วครบ 1 วัน ยอดเข้าใช้งานที่แตะ 30 ล้านยูสเซอร์ ทุบสถิติหน้าใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วอย่าง ChatGPT ที่ใช้เวลา 5 วันในการยอดผู้ใช้แตะ 1 ล้านยูสเซอร์
โดยเฉพาะผู้ที่ติดตามติดขอบสนามในโลกออนไลน์ที่ตามติดขอบสนามเพื่อรอชม หน้าตาอินเตอร์เฟซและฟีเจอร์ต่างๆ ที่ขึ้นชื่อว่า นี่คือ Twitter สาขาสองนั่นเอง ซึ่งล่าสุดด้านฝ่ายกฎหมายของ Twitter ก็ได้ส่งหนังสือเพื่อยื่นฟ้องถึง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซึ่งระบุว่า Meta ใช้ความลับทางการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาของ Twitter ในการสร้างแอปฯ Threads และอ้างว่า Meta ได้จ้างพนักงานเก่าของ Twitter หลายสิบคนเพื่อพัฒนาแอปฯ ใหม่มาแรงตัวนี้ ต้องบอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หาแรงบันดาลใจจากผลงานของคนอื่น
Thairath Money พาย้อนรอยโมเดล Copycat ของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ถูกกล่าวหาว่า ‘ก๊อป’ มาร์คได้ปล่อยฟีเจอร์และแอปฯ หน้าตาเลียนแบบและคล้ายคลึงชาวบ้านอะไรไปแล้วบ้าง
หากย้อนดูแต่ละช่วงที่มีการเปิดตัวแอปฯ และฟีเจอร์ใหม่ๆ ตลอดช่วงที่ผ่านมา Facebook ก่อนแปลงร่างเป็น Meta มาร์คถูกกล่าวหาว่าเลียนแบบเจ้าอื่นมาอย่างต่อเนื่อง ปลายปี 2016 เปิดตัวฟีเจอร์ ‘Stories’ ที่สามารถแชร์ภาพและวิดีโอสั้น 60 วิ ระหว่างกันใน Instagram ซึ่งถือได้ว่าเป็นซิกเนเจอร์ของ Snapchat มาแต่ไหนแต่ไร โดยทางผู้บริหารในขณะนั้นเองก็ยอมรับว่า “ฟีเจอร์ดังกล่าวควรให้เครดิต Snapchat”
นอกจากฟอร์แมตฟีเจอร์แล้ว กิมมิกอื่นๆ อย่าง ฟิลเตอร์ กรอบภาพ สติกเกอร์ตกแต่ง แท็กโลเคชั่น การเมนชั่นบัญชีอื่น ตลอดจนช่อง Direct Message ที่ให้แชตกันได้โดยตรง ก็ถูกนำมาใช้ด้วยเช่นกัน ขณะนั้น ‘Instagram Stories’ ฮอตฮิตจนมีจำนวนผู้ใช้ต่อวันสูงกว่าเจ้าของไอเดียถึงสองเท่าตั้งแต่ช่วงกลางปี 2018 และแย่งส่วนแบ่งผู้ใช้จาก Snapchat มาได้จนถึงปัจจุบัน ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ปี 2017 ฟีเจอร์ ‘Stories’ ก็ถูกใส่มาในแอปฯ Facebook กลายเป็น 'Facebook stories' ด้วยเช่นกัน จากนั้น ปี 2020 ก็ได้เปิดตัว ‘Reels’ ฟีเจอร์แยกที่มาในรูปแบบ การรับชมคลิปสั้นเต็มอัตราคล้าย TikTok ราวกับเป็นแอปฯ เดียวกันฝังอยู่ใน Instagram และ Facebook ในปี 2021 ซึ่งหลายคนก็บอกว่า มีความคล้ายคลึงกับ Pinterest เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกันก็ยังมีแอปฯ วิดีโอสั้นอื่นๆ ที่ถูกพัฒนาแยกออกมา Stand-alone ได้แก่ แอปฯ Lasso ซึ่งปิดตัวลงในปี 2020 แอปฯ Poke ที่ปล่อยมาเมื่อปี 2012 ซึ่งคล้ายกับ Snapchat ที่ให้ผู้ใช้ส่งข้อความ ไปจนถึงรูปภาพและวิดีโอที่เมื่อเปิดดูแล้วจะหายไปตามเวลาที่ตั้ง แต่แอปฯ นี้ก็ได้ปิดตัวไปในปี 2014 และยังมีแอปฯ Slingshot ที่มองว่าจะนำมาแข่งกับ Snapchat ซึ่งเปิดตัวในปี 2014 ก่อนที่จะหยุดให้บริการไปในปี 2015
จะเห็นว่า โดยทั่วไปแล้ว Meta จะคัดลอกแอปฯ หรือฟีเจอร์ที่กำลังได้รับความนิยมสูง หากไม่นำมาเป็นแรงบันดาลใจ ก็อาจจะเข้าซื้อกิจการ และล่าสุดที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แอปฯ ใหม่ Threads ที่หน้าตาเหมือน Twitter เกือบทุกประการนั้น อาจถูกพัฒนามาก่อนหน้านี้ และถูกนำกลับมาพัฒนาใหม่อีกครั้งหลังจากเห็นโอกาส เมื่อ Twitter กำลังประสบปัญหาด้านการบริหาร การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นเชื่อใจของผู้ใช้งานและผู้ลงโฆษณาที่ลดลง
อ้างอิง Business insider , CNBC1 , CNBC2 , CNBC3