เจาะโมเดลธุรกิจ SNOW แอปฯ เกาหลี ที่มีดีมากกว่าแค่แต่งรูป แต่ช่วยแบรนด์ดังทำการตลาดมาแล้วทั่วโลก

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เจาะโมเดลธุรกิจ SNOW แอปฯ เกาหลี ที่มีดีมากกว่าแค่แต่งรูป แต่ช่วยแบรนด์ดังทำการตลาดมาแล้วทั่วโลก

Date Time: 1 ก.ค. 2566 14:50 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • เจาะโมเดลธุรกิจแอปพลิเคชัน Snow ที่เคยมาแรงจากการใช้ AI รังสรรค์รูปภาพ เสกให้ทุกคนกลายเป็นสาวเกาหลี แต่ไม่ได้มีดีแค่แต่งรูป เพราะยังทำการตลาดให้กับแบรนด์ต่างๆ ผ่านฟิลเตอร์ AR และแบนเนอร์โฆษณาเพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าในหลายอุตสาหกรรม

Latest


แอปฯ แต่งรูป แอปพลิเคชันที่หลายคนขาดไม่ได้ และไม่ได้มีแค่แอปฯ เดียวในเครื่อง ความจริงแล้วตลาดนี้แข่งขันกันดุเดือดพอสมควร โดยเฉพาะทางฝั่งเอเชีย ที่ผ่านมาก็มีแอปฯ Snow ที่หลายคนใช้แต่งรูปจนกลายเป็นสาวเกาหลีกันอยู่ช่วงหนึ่ง Thairath Money จะพามาส่องโมเดลธุรกิจของแอปฯ นี้ในแง่มุมของการใช้ AI ต่อยอดธุรกิจ พร้อมดูกันว่าแอปพลิเคชันแต่งรูปตัวนี้มีดีอะไร และจะสามารถแทรกซึมเข้าไปในอุตสาหกรรมไหนได้บ้าง

เริ่มต้นกันที่แอปฯ Snow นั้นเป็นโปรเจกต์ของบริษัท Naver เสิร์ชเอนจิ้นสัญชาติเกาหลี หรือบริษัทแม่ผู้ให้บริการ LINE นั่นเอง โดยเปิดตัวเมื่อปี 2015 ต่อมาในปี 2016 Naver ประกาศ Spin Off แยก Snow ออกมาเป็นบริษัทของตัวเองในชื่อ Snow Corporation ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันในเครือ ได้แก่ SNOW, B612, ZEPETO, JAMLIVE, Soda, EPIK, VITA, Foodie และ GlowUP

และด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในตลาดเอเชีย ทั้งในเกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวันในขณะนั้น ทำให้แอปฯ Snow มียอดการสมัครสมาชิกแบบรายเดือนเกินร้อยล้านได้ในเวลาเพียงปีครึ่ง ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้มากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก และมียอดดาวน์โหลดสะสมทั่วโลก 2.1 พันล้านดาวน์โหลด (เฉพาะในเกาหลีใต้ 94 ล้านดาวน์โหลด)

การตลาดฟิลเตอร์

ขณะเดียวกัน Snow Corp. ยังมีโมเดลการตลาดสำหรับแบรนด์ต่างๆ โดยขึ้นแบนเนอร์ที่มีตัวเลือกทั้งแบบครึ่งจอหรือเต็มจอแสดงบนแอปฯ รวมถึงแอปฯ ในเครือ เช่น B612, Soda และ Foodie เพื่อให้ผู้ใช้เข้าไปยังเว็บไซต์ของลูกค้า ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของบริษัทที่มีแอปพลิเคชันแต่งรูปในเครือหลายตัวที่สามารถนำมาใช้เป็นพื้นที่ทางการตลาดได้ 

และในส่วนของฟิลเตอร์ AR ทาง Snow Corp. ได้ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วยการนำผลิตภัณฑ์หรือจุดเด่นของลูกค้ามาทำเป็นฟิลเตอร์ให้ผู้ใช้งานแอปฯ ได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์เสริมความงามก็จะเป็นฟิลเตอร์แต่งหน้าโดยใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นั้นๆ เป็นการนำเทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันได้ลองผลิตภัณฑ์ของลูกค้าไปในตัว และมีโอกาสที่ผู้ใช้จะตามไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น 

ตลอดจนการนำมาสคอตหรือสัญลักษณ์ของแบรนด์มาทำเป็นฟิลเตอร์เพิ่มลูกเล่น สร้างการรับรู้แบรนด์ในหมู่วัยรุ่น เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของแอปพลิชันคือคน Gen Z และ Millennials ซึ่งนับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีทำการตลาดได้อย่างชาญฉลาด โดยแบรนด์ที่ร่วมงานมีตั้งแต่กลุ่มเครื่องสำอาง สินค้าแฟชั่น แพลตฟอร์มสตรีมมิง ธุรกิจโรงภาพยนตร์ ไปจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   

นอกจากนี้ยังมีโซลูชัน API ให้คนสามารถใช้ฟิลเตอร์ AR เช่น ฟิลเตอร์กรอบรูป ฟิลเตอร์แบบสุ่ม ปรับแต่งอวาตาร์ ปรับแต่งฟิลเตอร์เครื่องสำอางโดยเพิ่มพรีเซตขึ้นมาได้ ไปจนถึงปรับรูปหน้าได้แทบทุกส่วน

แอปฯ แต่งรูปในอุตสาหกรรม

ในแวดวงแอปพลิเคชันแต่งรูปก็ไม่ได้มีแค่ Snow ที่โดดเด่นอยู่เจ้าเดียว แต่ยังมีอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่หลายๆ คนเรียกว่า “แอปนางฟ้า” นั่นก็คือ Meitu ก่อตั้งขึ้นในปี 2008 เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถปรับแต่งได้ทั้งรูปและวิดีโอ ซึ่งมีผู้ใช้รวมแล้วมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก

โดย Meitu นิยามตัวเองว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่มี “ความสวยงาม” เป็นอุดมการณ์หลัก ช่วยให้ผู้ใช้งานสวยขึ้นพร้อมบริการการจัดการด้านความงาม พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานผ่านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในอุตสาหกรรมความงามด้วยบริการ Saas (Software as a Service)

นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันในเครืออีกมากมายที่หลายคนเคยผ่านตา แต่อาจจะไม่รู้ว่าเป็นบริการของ Meitu เช่นกัน ได้แก่ BeautyCam, Wink, MakeupPlus, Meipai, Chic, danbo และ Action

และยังมีแอปพลิเคชันสำหรับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ได้แก่ Meitu PC Version, meitueve, Meitu AI Photo Editing, Meidd, Meitu ID Photo, Meitu Open AI Platform, Advertising Traffic Platform, Meitu ADX และ Meitu Design Studio  

จะเห็นว่าแอปพลิเคชันแต่งรูปสามารถแทรกซึมเข้าไปในหน่วยธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดโดยใช้รูปภาพเพื่อเข้าถึงลูกค้า และยิงแอดได้ในแอปฯ ได้เลย หรือแม้แต่นำแบรนด์ไปทำเป็นฟิลเตอร์ให้ลูกค้าทดลองใช้ เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าไปซื้อผลิตภัณฑ์จริง ไปจนถึงอุตสาหรรมท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งพารูปภาพในการดึงดูดลูกค้า หรือแม้แต่ร้านอาหารที่ต้องการภาพถ่ายที่ออกมาดูสวยงาม สร้างการรับรู้แบรนด์

การนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมภาพถ่ายเชิงธุรกิจให้สามารถเกิดสิ่งใหม่ๆ ในยุคที่หลายคนต้องพึ่งพาความสวยงามของภาพถ่ายในการหารายได้ เพราะรูปภาพถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถดึงดูดความสนใจ หรือใช้เพื่อสื่อสารกับลูกค้า การเข้ามาของ AI จึงเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพของรูป สร้างลูกเล่นในการยกระดับภาพถ่าย เพื่อต่อยอดอุตสาหรรมภาพถ่ายไปในตัว

นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดไปถึงขั้นสร้างอิทธิพลในด้านค่านิยมความงาม เห็นได้ชัดเจนคือรูปโปรไฟล์ของใครหลายคนในตอนนี้ที่ใช้รูปจาก AI ของแอปพลิเคชัน SNOW ทำให้ไม่ว่าใครก็เป็นสาวเกาหลีได้ เป็นไปได้ว่าอาจมีคนยื่นรูปจากแอปฯ SNOW ให้คุณหมอกันเลยทีเดียว

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ